‘ยุกติ’ บอก ‘ตะวัน’ รักษาชีวิตไว้-ขอผู้มีอำนาจแก้ปัญหาระบบยุติธรรม ‘คืนสิทธิ’ ให้คนทุกกลุ่ม

‘ยุกติ’ บอก ‘ตะวัน’ รักษาชีวิตไว้-ขอผู้มีอำนาจ แก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม ‘คืนสิทธิ’ ให้คนทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ลานอากง หรือหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน กรุงเทพฯ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จัดกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” รอบที่ 3 เป็นวันที่ 15 โดยยืนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ตั้งแต่เวลา 17.30-18.42 น. เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวชั่วคราวให้กับ 11 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกคุมขังโดยคำพิพากษายังไม่ถึงที่สิ้นสุด สำหรับวันนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ร่วมทำกิจกรรมด้วย

อ่านข่าว : คณาจารย์เดินเท้าจากมธ. ร่วม ‘ยืนหยุดขัง’ กลางสายฝน ขอทบทวนสิทธิประกัน 11 นักสู้

โดยเวลา 17.50 น. รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยืนห้อยภาพ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหา ม.112 ซึ่งถูกคุมขังพร้อมประกาศอดอาหาร เป็นเวลา 31 วันแล้ว

Advertisement

รศ.ดร.ยุกติ ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง กับสังคม ว่า การเมืองไม่ขาดกับสังคม เพราะคนเกิดมาก็อยู่กับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่มีสังคมไหนที่ไม่มีเรื่องอำนาจ ทุกสังคมจึงมีการเมืองอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเข้าใจกันมากแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจการเมืองเฉพาะแค่ขอบเขตเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจของรัฐ หรืออำนาจของผู้ปกครองเพียงเท่านั้น เราก็จะมองสังคมอีกแบบหนึ่ง แต่ความจริงแล้วสังคมกับการเมืองไม่ได้แยกขาดจากกัน คนที่ศึกษาการเมือง ศึกษาทฤษฎีอะไรต่างๆ ก็มาจากการศึกษาสังคม

“การเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันในหลายๆ รูปแบบ อย่างตอนนี้ เราพูดกันถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย ความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่ 3 เพศที่ 4 เรื่องของความอาวุโส นักเรียนนัก ศึกษา เห็นชัดเจนตอนนี้เรื่องทรงผม ชุดนักเรียน เครื่องแบบอะไรต่างๆ แม้แต่เรื่องของวัคซีนที่เราพบกันอยู่ ก็มีเรื่องการเมืองของวัคซีน คนที่เดินทางไปต่างประเทศก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า การเมืองเรื่องวัคซีนมีผล บางคนฉีดนู่น ฉีดนี่ไปเยอะแยะ ปรากฏว่าบางประเทศเขาไม่รับวัคซีนเหล่านั้น แล้วทำไมประเทศเราถึงได้เอาวัคซีนเหล่านี้เข้ามาให้ประชาชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

เมื่อถามว่า แล้วการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมือง เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของผู้คน ?

Advertisement

รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า สิ่งที่เราเรียกร้องไป ไม่ใช่แค่สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น “สิทธิในการแสดงออก” “สิทธิในการได้รับการประกันตัว” เป็นสิทธิของทุกคน ดังนั้น การปิดกั้นการแสดงออก หรือไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ทุกคนอาจจะมีส่วนรับผลกระทบตรงนี้

“ในที่สุด ในอนาคต เราไม่มีทางรู้ว่าจะถึงตัวเรา ถึงลูกหลานเราเมื่อไหร่ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจะต้องเคารพสิทธิตรงนี้ นี่คือการต่อสู้เพื่อสิทธิของทุกคน ไม่ใช่สิทธิของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คุณจะอยู่ในกลุ่มฟากทางการเมืองกลุ่มไหน ฝั่งไหน คุณก็มีสิทธินี้ และคุณควรจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องพร้อมกับเราด้วยซ้ำ” รศ.ดร.ยุกติเน้นย้ำ

เมื่อถามว่า มีอะไรอยากฝากถึงตะวัน ที่กำลังอาหารน่าเป็นห่วง ?

รศ.ดร.ยุกติเผยว่า เคารพการตัดสินใจของเขา ที่เลือกตัดสินใจแบบนี้

“ไม่แน่ว่า ถ้าผมอยู่ในสถานการณ์แบบเขา ก็คงเลือกที่จะทำอะไรบางอย่าง ให้สังคมได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของระบอบแบบนี้ ผมเคารพการตัดสินใจของเขา ขณะเดียวกันก็อยากฝากบอกเขาว่า อาจจะต้องมีจุดที่เขาคิดว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยชีวิตเราอาจจะต้องรักษาไว้ เพื่อที่จะต่อสู้ต่อไป ญาติพี่น้อง หรือความรู้สึกของคนรอบข้าง บางทีอาจจะต้องรักษากัน เคารพกันไว้ด้วย

อีกด้านหนึ่ง ก็อยากให้สังคม โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ตระหนักถึงว่า การแสดงออกแบบนี้ ในลักษณะที่ทำให้คุณได้รู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนรู้สึกได้ คนเราอยู่ดีๆ คงจะไม่มาอดข้าวหรอก คนเราอยู่ดีๆ คงจะไม่ทำให้ตัวเองต้องเจ็บปวดแบบนี้ ฉะนั้น มันต้องมีอะไรบางอย่าง คุณตระหนักถึงบ้างหรือเปล่า รู้สึกถึงบ้างหรือเปล่า ว่าทำอะไรในลักษณะที่ไม่ถูก ไม่ควร ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เคยโดนคดีร่วมกับ “คนอยากเลือกตั้ง” มองความเปลี่ยนแปลงเรื่องการชุมนุมและการเมืองในช่วง 3-4 ปีมานี้ อย่างไร ?

รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นอย่างหนึ่ง คือประชาชนตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองมากขึ้น แสดงออกมาขึ้นอย่างชัดเจน ตั้งแต่ที่ตนโดนคดีคนอยากเลือกตั้ง ตอนนั้นคนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ก็มีอยู่พอสมควร แต่ก็ยังน้อยอยู่และเป็นกลุ่มคนเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงเก่าที่มาร่วมแสดงออก ในขณะที่เราเห็นการขยายตัวของการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น มาถึงคนรุ่นใหม่ๆ ชัดเจนว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

“ที่ผมอยากเห็นความชัดเจนมากขึ้น คือกระบวนการยุติธรรม ที่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ และตระหนักถึงว่า ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วย อยากเรียกร้องให้มีส่วนแก้ไขปัญหาตรงนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนที่มีอำนาจ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย ที่จะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้และประคับประคองให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปอย่าง นุ่มนวล” รศ.ดร.ยุกติกล่าวทิ้งท้าย ท่ามกลางฝนที่โปรยลงมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image