จาตุรนต์ จับเข่าคุยชาวนาแปดริ้ว อึ้ง โลกเจอวิกฤตอาหาร ชาวนาไทยกำลังทำนาเพื่อเป็นหนี้?

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความแสดงความเห็น ปัญหาราคาข้าว ท่ามกลางวิกฤตอาหารของโลก โดย ระบุว่า

โลกกำลังจะขาดแคลนอาหารถึงขั้นวิกฤต แต่ชาวนาไทยกำลังทำนาเพื่อเป็นหนี้? เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปพบปะพูดคุยกับเกษตรกรที่สหกรณ์การเกษตรแปดริ้วมาครับ พี่น้องเกษตรกรสะท้อนปัญหาให้ฟัง น่าเป็นห่วงและน่าเห็นใจมาก ถ้าไม่รีบหาวิธีช่วยให้ดี คงจะเดือดร้อนกันมากแน่

ทีแรกผมไปถามในวงประชุมที่ค่อนข้างใหญ่ ดูเหมือนจะเกร็งๆ กัน ไม่ค่อยมีใครยอมพูดอะไร แต่พอตั้งวงเล็ก คุยกันไปสักพัก ชาวนา 4-5 คน ก็เล่าปัญหาให้ฟังเป็นชุดเลย

ชาวนาแถวนี้กำลังจะเริ่มปลูกข้าว ขณะนี้ข้าวเปลือกราคาเกวียนละประมาณ 6,500 บาท แต่ชาวนาไม่มีข้าวในมือแล้ว ยังไม่รู้ว่าเวลาเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกจะราคาเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ต้นทุนแพงลิบ อะไรก็ขึ้นราคาไปหมด ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง จะไถนา เกี่ยวข้าวต้องจ้างรถไถ รถเกี่ยวและชาวนาต้องออกค่าน้ำมันเอง ที่แพงมากเป็นพิเศษคือปุ๋ย เช่น ยูเรียเคยกระสอบละ 600 กว่าบาท ขึ้นเป็น 1,600-1,700 บาท และยังขึ้นไม่หยุด (ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ข่าวว่าปุ๋ยบางสูตรขึ้นไปแตะ 2,000 หรือเกิน 2,000 ไปแล้วก็มี)

Advertisement

คำนวณคร่าวๆ ต้นทุนจะสูงขึ้นมาก ถ้าราคาข้าวไม่ขึ้นกว่าเวลานี้มากๆ ถึงเวลาขายก็จะขาดทุนไร่ละเป็นพันบาทแน่ๆ

มีคนช่วยถามว่าถ้าอย่างนี้ไม่ปลูกได้มั้ย คำตอบคือไม่ปลูกแล้วจะเอาอะไรกิน ทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ไม่ปลูกข้าวจะไปกู้ยืมเงินใครก็ไม่ได้ ตอนนี้ต้องดูแลนาเอง เผลอเมื่อไหร่นกก็มากินข้าวที่หว่านไว้หมด แล้วยังต้องแบ่งเวลาไปรับจ้างหารายได้เสริมอีก

มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานมาร่วมคุยด้วย ที่สามารถช่วยครอบครัวทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตัวเลขออกมาเห็นชัดว่านาที่ทำอยู่ขาดทุน แต่พอเอาตัวเลขติดลบนี้ไปคุยกับที่บ้าน ก็ได้คำตอบมาเหมือนกันว่าถ้าไม่ทำแล้วจะไปทำอาชีพอะไร

Advertisement

ผมถามว่าแล้วที่รัฐบาลประกันรายได้ช่วยได้มั้ย คำตอบก็คือก็ได้รับความช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่จำกัดจำนวนไร่ที่ 20 ไร่ และจำกัดจำนวนผลผลิตข้าวด้วย อีกอย่างการประกันรายได้จะช่วยเฉพาะนาปี ปีละครั้ง แต่ชาวนาทางภาคกลางและพื้นที่ชลประทานปลูกข้าวปีละสองครั้ง แต่ได้รับการช่วยเหลือครั้งเดียว ถ้าขาดทุนทั้งสองครั้งก็จะแย่

ยิ่งระยะหลังบางทีทำนาปรังไปแล้วพอข้าวจะออกรวง น้ำไม่มา ก็ไม่ได้ข้าวเลย ขาดทุนอย่างเดียว

การจัดสรรน้ำกับภาคอุตสาหกรรมก็เป็นปัญหาที่ดูจะหนักขึ้นเมื่อมีอุตสาหกรรมกระจายในพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี ฟังดูแล้ว ผมคิดว่าการประกันรายได้อาจจะไม่เพียงพอที่จะผ่อนคลายปัญหาให้ชาวนาที่กำลังปลูกข้าวในเวลานี้ ถึงเวลาขาย ข้าวอาจจะราคาสูงขึ้นบ้าง แต่ถ้าไม่ขยับราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการประกันรายได้ ชาวนาอาจไม่ได้อะไรเลย ส่วนต้นทุนนั้นสูงไปแล้ว จ่ายไปแล้ว ก็จะกลายเป็นขาดทุนยับ

ฟังชาวนาเล่าปัญหาแล้ว หลายคนก็รู้สึกหดหู่ เห็นใจว่าชาวนาต้องทำนาไปแบบไม่รู้อนาคตเอาเสียเลย สุดท้ายตัวเองอาจเป็นหนี้เพิ่ม ไม่รู้ว่ากำลังทำนาให้กับใคร ผมก็บอกไปว่าก็ต้องช่วยกันคิดว่าจะหาทางแก้ยังไงได้บ้าง

เรื่องนี้ต้องคุยกันต่อครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image