สูตร 500 หาร สกัด ‘แลนด์สไลด์’

สกู๊ปหน้า 1 : สูตร 500 หาร สกัด ‘แลนด์สไลด์’

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ที่มีการถกกันอย่างดุเดือดโดยได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่ง กมธ.วิสามัญฯจะส่งร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อรอบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2-3 คาดว่าเป็นช่วงวันที่ 9-10 มิถุนายนนี้

ประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดของฝ่ายการเมืองและอาจนำไปสู่การยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ นั่นคือ การลงมติของ กมธ.ด้วยคะแนน 32 ต่อ 11 เสียง เห็นควรให้ใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 คน

ประเด็นเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ฝ่ายพรรคเล็กและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มองว่าเป็นการได้เปรียบของพรรคใหญ่และทำพรรคเล็กสูญพันธุ์นั้น นั่นคือ การใช้สูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 เนื่องจากหากคิดจากคะแนนผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่มีคะแนนการเลือกพรรคการเมืองทั้งหมดอยู่ที่ 35,532,647 คะแนน

หากใช้สูตร 100 หาร จะมีค่าเฉลี่ยต่อการได้ ส.ส. 1 คน ต่อ 355,326 คะแนน ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กแทบจะสูญพันธุ์ เพราะในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกพรรคเล็กได้เกิน 3.5 แสนคะแนน แต่หากใช้สูตร 500 หาร ค่าเฉลี่ยของคะแนนที่จะได้ ส.ส. 1 คน จะอยู่ที่ 71,065 คะแนน ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กยังพอมีความหวังในการได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

Advertisement

สูตรการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ตามมติของ กมธ. ยังต้องลุ้นในการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ในวาระ 2-3 อีกครั้งว่าเสียงข้างมากของรัฐสภาซึ่งมี 250 ส.ว. ร่วมพิจารณาจะเห็นไปในทิศทางใด ยิ่งมีปัจจัยเรื่องข้อกังวลในยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่อาจจะได้เปรียบจากกติกาการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ และสูตรการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่คะแนนของฝั่งประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นแบบแลนด์สไลด์ด้วย ชัยชนะของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน

อาจส่งผลให้ผู้มีอำนาจต้องหันกลับมาทบทวนกติกาที่จะใช้เลือกตั้ง ส.ส.กันใหม่ และอาจจะพลิกกลับมาใช้สูตรหารด้วย 500 ได้อีกหรือไม่

ยิ่งดูสัญญาณจากฝั่งของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับทาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

Advertisement

อย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ ได้สะท้อนภาพถึงเสียงในสภาของ ส.ว.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ในวาระที่ 2-3 ว่าจะต้องรอคุยและดูการชี้แจงของ ส.ว.ที่เข้าไปใน กมธ.วิสามัญฯ ต้องชี้แจงให้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมโหวตเอาสูตร 500 หรือสูตร 100 ด้วยเหตุผลอะไร ทั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการโหวตในวาระ 2 จะผ่านหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับที่ กมธ.เสนอมา ในการประชุมสภาถูกตีตกไปก็มีหลายฉบับ คนที่ออกมาพูดนั้นอาจจะด่วนสรุปไป เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

พร้อมกันนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ยังได้เห็นแย้งถึงสูตร 100 หาร ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญชัดเจน พร้อมย้อนกลับไปถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา ที่ทำด้วยความเร่งรีบ ทำให้ขาดความรอบคอบ แก้แค่มาตรา 91 แต่มาตรา 93, 94 ไม่ได้แก้ จึงเกิดเนื้อหาขัดแย้งกัน และทำให้ทุกคนตีความกันไปตามความเห็นของตัวเอง แม้ว่าบางคนบอกว่าต้องถือเอาของใหม่เป็นหลัก ถ้าอย่างนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้มาตราเดียว ส่วนมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องต้องถูกลบล้างทั้งหมด ไม่ใช่ความคิดที่เป็นไปไม่ได้ ตีความอย่างนั้นไม่ได้

ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ อย่าง ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ตนมองว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลต้องการกฎหมายลูกตัวนี้ ฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องการกติกาที่แน่นอนที่ตัวเองจะสามารถกำกับ และใช้กฎกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตัวเองได้กลับเข้ามา หรือชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านต้องการใช้กฎหมายลูกฉบับนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น รัฐบาลอาจอยู่ไม่ถึงการประชุมเอเปค หรืออะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีกติกา หรือกฎหมายลูกที่ชัดเจนที่มากำหนดว่าจะต้องมีการเลือกตั้งอย่างไร เบอร์เดียวกันหรือไม่ หรือมีสูตรการคำนวณอย่างไร ขณะที่ฝ่ายค้านยิ่งต้องการกฎหมายนี้มากกว่าที่จะไปตีรวนเพื่อให้กฎหมายนี้ตกไป

เพราะเมื่อใดก็ตามที่กฎหมายนี้ตกไป เมื่อมีเหตุยุบสภาแต่ไม่มีกฎหมายนี้ในการปฏิบัติสำหรับการเลือกตั้ง รัฐบาลจะต้องหยิบเอา พ.ร.ก. หรือกฎหมายลูกสักฉบับมาใช้ เกมในการกำหนดกติกาเลือกตั้งก็จะอยู่ในมือของฝ่ายบริหาร

ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงต้องการกฎหมายตัวนี้เพื่อเป็นหลักประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง แม้จะมีการตีรวน หรือมีการตั้งคำถามเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. แต่กลุ่มที่พยายามทำแบบนี้คือกลุ่มที่เสียเปรียบจากระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ คือกลุ่มพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กต่างๆ ดังนั้น กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่พยายามยกเอาประเด็น 500 หาร ให้เกิดการถกเถียง ตรงนี้มองว่าเป็นเรื่องของการเจรจากันใน กมธ.ไม่ได้ถึงขนาดเป็นการตีรวนเพื่อให้กฎหมายตกไป

ผศ.ดร.วีระ กล่าวด้วยว่า แต่ถ้าถามว่าเรื่องนี้เชื่อมโยงกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่ มองว่าไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง ในทางกลับกันยิ่งทำให้พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) มั่นใจว่าตัวเองจะแลนด์สไลด์ จะแลนด์สไลด์ได้ พท.ต้องการระบบเลือกตั้งแบบเดียวกับที่แลนด์สไลด์ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และสอดคล้องกับกฎหมายลูกที่แก้ออกมาตรงนี้ ดังนั้น แกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรค พท.ต้องการกฎหมายลูกตัวนี้แน่ๆ ส่วนที่ถามว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา สะท้อนภาพความนิยมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอีกหลายพรรคกำลังเสื่อมถอยลงอาจจะมีความพยายามในการใช้ระบบหาร 500 นั้น

อยากให้แยกเรื่องนี้เพราะ หนึ่งการที่คนเทคะแนนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งแน่นอนว่ามาจากตัวนายชัชชาติเอง แต่จะมองคนที่อยู่ตรงข้ามกับนายชัชชาติเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันไม่ได้ อยากให้แยกเป็นกลุ่มรัฐบาล และกลุ่ม พปชร. การที่นายชัชชาติได้เสียงมากขนาดนี้มาจากการเทคะแนนจากฝั่งของพรรค พท. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) รวมไปถึงของคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ด้วย บอกถึงคนปฏิเสธรัฐบาล

แต่คนที่ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธ พปชร. ถึงแม้ พปชร.จะไม่ใช่พรรคกระแส แต่ พปชร.ยังมีสมาชิกอีก 76 จังหวัด ที่ยังมีฐานเสียง และยังมีหัวคะแนน ดังนั้น ต่อให้เป็นกระแสไม่เอารัฐบาล ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตนคิดว่าไม่กระทบกับ พปชร. ยิ่งมีกระแสว่าจะมีการกลับไปรวม หรือไม่กลับไปรวมกันของกลุ่มพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ตนยิ่งมองว่าพรรค พปชร.ยังมีความเข้มแข็งในระดับพื้นที่อยู่

“ความจริงแล้วนายกฯพูดถูกว่า ตรงนี้เป็นเพียงจังหวัดเดียว เพราะคนกรุงเทพฯตัดสินจากความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาล แต่คนต่างจังหวัดไม่ใช่ คนต่างจังหวัดตัดสินจากการที่เขาได้แลกเปลี่ยนความช่วยเหลือในพื้นที่ จาก ส.ส.ที่เขาจะได้ประโยชน์ซึ่งไม่ผิด ดังนั้น การทำพื้นที่ของ พปชร.เข้มแข็งมาก เพราะฉะนั้น ผมกลับมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า พรรค พปชร.โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร.อาจจะกำลังยิ้มอยู่ก็ได้ เพราะรู้สึกว่านายกฯไม่เหมือนเดิมแล้ว นายกฯไม่เหมือน พล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งปี’62 แล้ว จะมารักความสงบจบที่ลุงตู่ ไม่มีอีกแล้ว ทำให้อำนาจต่อรองของ พล.อ.ประยุทธ์น้อยลงมาก แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งต้องพึ่ง พปชร. ผลการเลือกตั้งที่ออกมายิ่งสื่อให้ พปชร.มีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ที่แตกออกมาจาก พปชร. ไม่ว่าจะ ศท. หรือเครือข่ายของนายกฯที่อยู่ในกลุ่มอื่นๆ จะมีอำนาจต่อรองลดลง” ผศ.ดร.วีระระบุ

สุดท้ายแล้ว ก็ต้องรอดูว่า ที่ประชุมรัฐสภา จะตัดสินสูตรการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แนวไหนแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image