ศาลให้ประกันตัว “ทานตะวัน” เงื่อนไข ห้ามออกนอกเคหสถาน-ให้พิธากำกับดูแล

ศาลให้ประกันตัว “ทานตะวัน” เงื่อนไข ห้ามออกนอกเคหสถาน-ให้พิธากำกับดูแล

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. กรณี ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระ วัย 20 ปี อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวในเรือนจำ หลังถูกศาลอาญาเพิกถอนประกันในคดี ม. 112 ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.38 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ตะวัน มีกำหนดเวลา 1 เดือน โดยตั้งให้พิธาเป็นผู้กำกับดูแล พร้อมเงื่อนไข – ให้ติดกำไล EM  – ห้ามออกนอกเคหสถาน ยกเว้นเจ็บป่วย  – ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันนี้อีก  – ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  – ห้ามออกนอกราชอาณาจักร

ต่อมา อานนท์ นำภา  แกนนำคณะราษฎร โพสต์คำสั่งศาล ให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน ระบุว่า

“ พิเคราะห์คำเบิกความของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวและจำเลยประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเห็นว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวรับรองและยืนยันว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยไม่ให้ผิดเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด แสดงความรับผิดชอบว่าหากจำเลยผิดเงื่อนไขผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวยินยอมรับผิดตามที่ศาลเห็นสมควร  ประกอบกับจำเลยรับรองว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอีกดังเช่นที่เคยผิดเงื่อนไขมาแล้ว และไม่ขัดข้องที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขในการติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM รวมทั้งการจำกัดเวลาในการอยู่ในเคหะสถาน

Advertisement

แสดงว่าจำเลยรู้สึกสำนึกถึงการกระทำผิดเงื่อนไขในครั้งก่อนมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือว่าจะกำกับดูแลและควบคุมจำเลยได้กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย

อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยมีกำหนด 1 เดือน นับแต่วันนี้โดยกำหนดเงื่อนไข

– ให้จำเลยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องติดตามตัวกำไล EM

Advertisement

– ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล หากเป็นกรณีเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ต่อศาลภายใน 3 วัน

– ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

– และห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

– ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

โดยตั้งนาย พิธาลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของจำเลย มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะนายประกันของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง เดินทางมายังศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังผลการไต่สวนกรณีขอปล่อยตัวชั่วคราวทานตะวัน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการทำกิจกรรมโพลขบวนเสด็จ ซึ่งถูกถอนการประกันตัวและถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง พร้อมกับกระทำการอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลากว่า 30 วันแล้ว

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พิธาได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ประกอบการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของทนายความมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งศาลได้ปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลเรื่องไม่ปรากฏหลักฐานอัตราเงินเดือน และครั้งที่สองในวันที่ 20 พฤษภาคม แต่ศาลก็ได้อนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 7 วัน ด้วยเหตุผลว่าอัยการเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน จึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีการไต่สวนคำร้องในวันนี้

พิธา ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นฟังการไต่สวน ระบุว่า เป็นความพยายามครั้งที่สาม ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดตอนนี้คือปัญหาสุขภาพของทานตะวัน ที่ต้องอดข้าวมาสามสิบกว่าวัน จากการพูดคุยกับทนายความ ล่าสุดอาการของทานตะวันถือว่าเป็นวิกฤติทางสุขภาพแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทานตะวันจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปรักษาตัวและออกมาสู้คดีอย่างตรงไปตรงมา

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังระบุอีกว่า ในฐานะนายประกัน ยินดีทำทุกวิถีทางให้ตะวันออกมาตามที่กรอบกฎหมายกำหนด และสามารถรับรองได้ว่าจะไม่มีการหลบหนีอย่างแน่นอน

“เรากำลังพูดถึงชีวิตคนๆ หนึ่ง ที่กำลังทรมานตนเองเพื่อความยุติธรรม บ้านเมืองเราควรต้องมีขื่อมีแป มีกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือตามโลกสมัยใหม่ กระบวนการฝากขังต้องยึดตามหลักสากล บ้านเมืองที่ไม่มีขื่อแปทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยเป็นสมาชิกปฏิญญากับสากลหลายฉบับ โดยเฉพาะ ICCPR ที่ต้องให้สิทธิการประกันตัวและการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ไว้ก่อน (presumption of innocence) แต่ในสภาพการณ์ที่ไร้ขื่อแปเช่นนี้ย่อมไม่มีใครอยากคบค้ากับเรา จึงขอให้ผู้มีอำนาจคิดถึงผลกระทบเหล่านี้ให้มากไว้ด้วย” พิธา กล่าว

โดย น.ส.ทานตะวัน จะถูกปล่อยตัวที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันนี้ และจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อรักษาสุขภาพ เนื่องจากร่างกายอยู่ในสภาพย่ำแย่หลังจากอดอาหารมาเป็นเวลา 37 วัน

ด้าน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง โฆษกกลุ่มราษฎร ก็ได้โฑสต์ข้อความแสดงความยินดี ว่า พาตะวันกลับบ้านกันค่ะ น้องได้ประกันตัวแล้ว แต่ได้ประกันตัวแค่หนึ่งเดือน หมายความว่าเดือนหน้าเราต้องมารอฟังกันอีกครั้งว่าตะวันจะได้อยู่ข้างนอกต่อหรือไม่

สำหรับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ถูกคุมขังจากกรณีการถูกเพิกถอนประกันตัวในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 20 เมษายน ในคดี ม.112 โดยตำรวจ สน.นางเลิ้ง เป็นผู้ยื่นถอนประกัน ถูกควบคุมตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

ขณะที่ นายกฤษภางค์ ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลไต่สวนนายพิธาและน้องตะวันแล้ว ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่านายพิธา มีความน่าเชื่อถือและเป็นคนที่สามารถกำกับดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขได้ แต่ว่าคำสั่งของศาล เป็นการปล่อยชั่วคราวภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นแล้วก็ค่อยมารายงานตัวและฟังคำสั่งประกันต่อไป นอกจากนี้ห้ามออกนอกบ้านตลอด 24 ชั่วโมงยกเว้นจะไปเรียนหนังสือ หรือ ไปรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งขออนุญาตต่อศาลภายใน 3 วัน ส่วนเงื่อนไขเดิมก็คือห้ามไปกระทำการเคลื่อนไหวให้เกิดควาเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ และไปกระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

เมื่อถามว่า น.ส.ทานตะวันจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลตลอดเวลา 1 เดือนได้หรือไม่ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ทั้งน.ส.ทานตะวันและพ่อแม่ที่เดินทางมาด้วยก็มีความมั่นใจ ซึ่งศาลได้สอบถามเจ้าตัวและพ่อแม่แล้วก็ตอบว่าสามารถปฏิบัติตามได้ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งเราได้ทำเรื่องประกันตัว โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.ของนายพิธา ซึ่งศาลให้แจ้งคำสั่งศาลไปที่ราชทัณฑ์แล้ว คาดว่าน.ส.ทานตะวัน จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 5 โจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นจำเลย ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความเท็จ อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 มาตรา 8 พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 4 และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย, ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือไม่มีข้อแก้ตัวตามสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 368

พฤติการณ์กล่าวหากระทำความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 จำเลยพูดถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “TAWAN TANTAWAN” ในหัวข้อ “มารับขบวนเสด็จ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และจากคำกล่าวของจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อสถาบันฯว่าเหตุที่ม็อบชาวนาต้องย้ายการชุมนุมเพราะขบวนเสด็จ และเมื่อเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเส้นทางเสด็จแจ้งกับจำเลยให้หยุดการไลฟ์สดขณะมีขบวนเสด็จหรือกระทำการใดๆ ที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยในขบวนเสด็จ แต่จำเลยไม่หยุดการไลฟ์สดโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่

ศาลประทับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1237/2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image