ชัชชาติ ฟีเวอร์ คนรุมถ่ายรูปตลอดทาง ขอโทษสื่อ มาสาย 2 ชม. เชื่ออีกหน่อยเลิกฮอต

‘ชัชชาติ’ ขอโทษสื่อ มาสาย 2 ชม. คนรุมถ่ายรูปตลอดทาง ยันใช้รถสาธารณะลุยฟังปัญหา เชื่ออีกหน่อยก็เลิกฮอต คิวน้อยลง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 พฤษภาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่บริเวณแยกวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าติดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีวงศ์สว่าง ทางออก 4 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ธนารัฐ 1971 ซึ่งติดป้ายระบุว่า “ได้ยินยอมให้สำนักงานเขตบางซื่อ จัดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้เพื่อสาธารณประโยชน์ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ก่อนที่นายชัชชาติเดินทางมาถึง ทางสำนักงานเขตบางซื่อ ได้พาเจ้าหน้าที่ของเขตเข้าเก็บขยะ ถางวัชพืช และตัดใบกล้วยในบริเวณที่ดินดังกล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ดี วันนี้นายชัชชาติเดินทางมาถึงจุดหมายสายกว่ากำหนดนัดหมาย เวลา 08.30 น. เนื่องจากนายชัชาติเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งมีประชาชนมาถ่ายรูปกับนายชัชชาติ ที่ MRT สถานีสุขุมวิท เป็นจำนวนมาก

นายชัชชาติขอโทษสื่อมวลชนที่มารอ พร้อมอธิบายว่า มีคนต่อแถวรอถ่ายรูปจำนวนมาก ต้องรอให้ถึงเวลาเข้างานคนถึงจะน้อยลง จึงเดินทางมาถึงที่หมายได้

“ในอนาคตที่จะมาเป็นผู้ว่าฯกทม. ก็จะเดินทางด้วยขนส่งมวลชนต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชน ซึ่งตอนนั้นผมคงหมดความนิยมแล้ว คนน่าจะมาถ่ายรูปด้วยน้อยลง” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ชัชชาติ กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือการอาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม. พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี ทั้งนี้ จำเป็นต้องทบทวนกรอบกฎหมายและอำนาจที่ กทม. สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม อยากขอเชิญชวนประชาชนที่ครอบครองที่ดินมอบที่ดินให้ กทม. เช่า เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่ก่อให้เกิดกับเมืองหลายด้าน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ลดอาชญากรรม ถือเป็นการทำบุญเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีตามโซนของผังเมือง ชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่ต้องดูอำนาจที่มีก่อนว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด ต้องมีการพิจารณาโดยละเอียดในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นผังเมืองสีอะไร เช่นพื้นที่การเกษตรจะเข้าไปขึ้นภาษีมากไม่ได้ต้องพยายามทำให้ต่ำที่สุด ยกเว้นมาทำการเกษตรในพื้นที่กลางเมือง เช่นเป็นผังเมืองเชิงพาณิชย์สีแดง พื้นที่หนาแน่นปานกลางสีส้มซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะในการทำการเกษตร ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตอาจมีการพิจารณาในการเอาสีผังเมืองเข้าไปร่วมเป็นมาตรการในการกำหนดภาษี แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปว่าจะมีการเพิ่มอัตราภาษี เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อกฏหมายให้ละเอียดก่อน

“ต้องดูข้อกฏหมายก่อน ว่าเราสามารถเอาผังสีไปกำหนดร่วมกับอัตราภาษีได้หรือไม่ เพราะใน พ.ร.บ. ยังเขียนไว้ไม่ชัดเจน ซึ่งเขียนไว้ว่า กทม.มีอำนาจในการปรับอัตราภาษีให้ไม่เกิดอัตราสูงสุด แต่ไม่ได้พูดถึงว่าเอาเงื่อนไขอื่นมากำกับได้หรือไม่ ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีการขึ้นภาษี แต่คาดว่าเราต้องไปดูว่าสุดท้ายแล้ววิธีการไหนที่กทม. มีอำนาจ ไม่ต้องเปลี่ยนกฏหมาย เอาอำนาจที่มีอยู่เดิมมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่อยู่ในเมือง หาช่องทางในการเอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนมากขึ้น” ชัชชาติ กล่าว

หลังจากนั้น ชัชชาติ ได้ทักทายพนักงานเก็บกวาดขยะที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง พร้อมชี้แจงว่า 2 เรื่องในการส่งเสริมสวัสดิการพนักงานเก็บกวาดขยะ เรื่องแรกต้องตรวจสอบและปรับปรุงมาตรการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำให้มีความยุติธรรมมากขึ้น และเรื่องที่สองคือต้องกำหนดสวัสดิการตอบแทนให้เหมาะสมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน เพราะพนักงานเก็บกวาดขยะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เมืองมีความสะอาด แม้ว่าจะมีจุดทิ้งขยะแต่ในสภาพความเป็นจริงก็มีขยะเรี่ยราดอยู่ทั่วไป พนักงานเก็บขยะเหล่านี้เป็นผู้ที่คอยช่วยเก็บรวบรวมขยะเหล่านั้น จึงเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ทำให้เมืองสะอาดและสวยงามขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image