‘พท.-ก.ก.’ผนึก‘กทม.’ ปรับภูมิทัศน์การเมือง?

‘‘พท.-ก.ก.’’ผนึก‘‘กทม.’’ปรับภูมิทัศน์การเมือง?

หมายเหตุความเห็นของฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ กรณีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลร่วมมือในการทำงานร่วมกันของ ส.ก.เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความโปร่งใสของสภา กทม.

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)

Advertisement

การจับมือร่วมกันทำงานในสภากรุงเทพมหานครของสมาชิกสภากรุงเทพ มหานคร (ส.ก.) พรรคเพื่อไทย (พท.) และ ส.ก.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เนื่องจาก ส.ก.จากทั้งสองพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งรวมกัน 34 เสียง มาจากพรรค พท. 20 เสียง และพรรค ก.ก.อีก 14 เสียง ซึ่งถือว่ามีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง นอกจากจะทำให้สภา กทม.มีความเป็นเอกภาพแล้ว ยังจะเป็นครั้งแรกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่ทั้งสองพรรคจะได้ช่วยกันผนึกกำลังกันทำงาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องคน กทม. ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่ไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต แต่เบื้องต้นที่คุยกันได้มีความเห็นร่วมกันว่าจะให้มีการตรวจสอบโดยสภาที่เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะ

ส่วนหลักการทำงานในสภา กทม.จะเป็นไปในรูปแบบใดนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกัน เนื่องจากสภา กทม.มี ส.ก.เกินกว่า 1 พรรค โดยคงจะต้องนำเอานโยบายต่างๆ ที่แต่ละพรรคหาเสียงไว้มาร่วมกันผลักดัน แต่ทั้งนี้ คนที่กำหนดนโยบายหลักจะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ในส่วนของสภา กทม. จึงจะต้องมีการพูดคุยร่วมกันกับผู้ว่าฯกทม. เพื่อให้การทำงานเป็นไปในลักษณะของการบูรณาการร่วมกัน สามารถเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งมั่นใจว่า ผู้ว่าฯกทม.จะเปิดกว้างในการทำงานร่วมกันกับทุก ส.ก.ที่มาจากทุกพรรค ส่วนจะต้องมีการผลักดันเรื่องใดหรือมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องใดเป็นพิเศษนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตอบยาก เนื่องจากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอาจจะมีข้อกฎหมายที่ห้ามผู้ที่เป็น ส.ส.เข้าไปยุ่ง หรือแทรกแซงการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ส่วนการเสนอให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมสภา กทม. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน จะได้รับความสนใจจากประชาชนพอสมควร เนื่องจากวันนี้ประชาชนได้ตื่นตัวแล้ว และจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 นั้น วันนี้ผ่านมาแล้ว 9 ปี ด้านเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ดังนั้น การสื่อสารให้ประชาชนได้ติดตามการประชุมไม่ใช่เรื่องยาก และใช้เงินไม่เยอะ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะให้ความสนใจแน่นอน ส่วนการที่ทั้งสองพรรคจับมือกันจะสะท้อนการเมืองสนามเลือกตั้งใหญ่อย่างไรบ้าง มองว่าทิศทางการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งในสนาม กทม. แสดงให้เห็นว่าวันนี้พี่น้องประชาชนได้เลือกฝั่งนี้มากกว่า โดยจะใช้คำว่าฝั่งประชาธิปไตย หรือชื่อใดก็แล้วแต่ แต่ถือว่าเลือกฝั่งนี้มากกว่า สะท้อนการเมืองใหญ่ว่าในอนาคตการทำงานระหว่างการทำงานท้องถิ่นกับการเมืองใหญ่ต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งเราเชื่อว่าการเมืองใหญ่ สำหรับพรรค พท.เองเป็นทิศทางบวก ที่จะทำให้เรามีความมั่นใจที่จะเสนอนโยบายต่อพี่น้องประชาชนได้ดี และมั่นใจว่าเราจะได้เสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา

Advertisement

ชัยธวัช ตุลาธน
เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

เบื้องต้นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้คุยกันเรื่องการทำงานในสภา กทม. เพราะสังคมคาดหวังอยากเห็นการทำงานร่วมกันของ 2 พรรคการเมือง หลังจากนี้พรรค ก.ก.อยากจะยกระดับการทำงานของ สภา กทม. จากเดิมที่ไม่ได้เป็นที่สนใจของคนมากนัก ทั้งที่เป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญมากในการบริหารจัดการเมือง และการแก้ปัญหาให้คน กทม. ทั้งในแง่การพิจารณางบประมาณ การออกและปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติที่จะนำบังคับใช้ใน กทม. หรือการติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เราจึงอยากให้ประชาชนให้การรับรู้และให้ความสำคัญกับ สภา กทม.มากขึ้น โดยจะพยายามให้เกิดการทำงานที่โปร่งใส และมีคุณภาพมากขึ้น ในอนาคตน่าจะสามารถสร้างแพลตฟอร์ม และกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ นอกจากนี้คือการเพิ่มคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริต และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นมา เมื่อทั้ง 2 พรรคมี ส.ก.รวมกัน 34 เสียง จาก 50 เสียง คาดว่าจะสามารถผลักดันแนวทางเหล่านี้ได้ ซึ่งพรรค พท.เห็นชอบในแนวทางนี้

ที่ผ่านมาพรรค ก.ก.เป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่เรามีส่วนสำคัญในการยกระดับการทำงานในสภาทำให้เป็นที่สนใจ และเป็นที่รับรู้กับประชาชนมากขึ้น เราจึงอยากจะทำแบบนี้กับสภา กทม. ซึ่งจะเป็นผลดีมาก เพราะสภา กทม.เป็นสภาท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร หลายเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องให้ ส.ส.เขตทำนู่นทำนี่ แต่ความจริงอำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างมิติใหม่ให้กับสภา กทม.ได้ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็อยู่ที่แต่ละพรรคการเมืองจะไปดูว่ามีแผนงานทำอะไรบ้าง เช่น ในช่วงก่อนที่ สภา กทม.จะเปิดประชุมนัดแรก พรรค ก.ก.จะจัดเวิร์กช็อป เพื่อเตรียมตัวการทำงานให้ส.ก. และทีมงาน เมื่อสภา กทม.เปิดจะเป็นการพิจารณางบประมาณเป็นอย่างแรก ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะทำให้คน กทม.สนใจ และเห็นปัญหาของ กทม.ผ่านเรื่องงบประมาณ และจะเป็นครั้งแรกที่สภา กทม.นำเรื่องนี้มาพูดคุยกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

เรื่องอื่นๆ ที่พูดคุยกันไว้ คือ เรื่องที่แต่ละพรรคการเมืองอยากจะผลักดันผ่านสภา กทม. เช่น การออกหรือการแก้ไขข้อบัญญัติ การทำนโยบายที่หาเสียงไว้ แม้พรรค ก.ก. และพรรค พท.จะมี ส.ก.ในสภา กทม.เยอะ แต่เราไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร หลายเรื่องจึงต้องประสานกับทางฝ่ายบริหารว่า นโยบายใดที่อาจจะเห็นร่วมกัน เพื่อผลักดันผ่านสภา กทม. ยกตัวอย่าง ขณะนี้พรรค ก.ก.ได้เริ่มผลักดัน 12 นโยบายหลัก ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เคยหาเสียงไว้ มาเทียบกับนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. ว่ามีนโยบายใดที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้สามารถพูดคุยกันง่ายขึ้น เพื่อจะผลักดันให้นโยบายเป็นจริง ส่วนจะหารือเพื่อผสมผสานนโยบายกับนายชัชชาติหรือไม่นั้น ผมคิดว่าควรจะมี เพราะฝ่ายบริหาร และสภา กทม.แยกกันไม่ได้ หากฝ่ายบริหารต้องการทำอะไรให้สำเร็จก็จะต้องการความร่วมมือจากสภา กทม. ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ดี เพราะ ส.ก.ของพรรค พท.และพรรค ก.ก.มีจำนวนมากพอที่จะผลักดันนโยบายได้ และจะต้องทำงานร่วมกับ ส.ก.จากพรรคอื่นๆ ด้วย ประชาชนจำนวนมากอยากเห็นการทำงานร่วมกันเช่นนี้

ส่วนการร่วมมือกันทำงานระหว่างพรรค พท.และพรรค ก.ก.ที่ได้ ส.ก.จำนวนมาก และคะแนนที่คน กทม.เลือกนายชัชชาติ จะสะท้อนการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าหรือไม่ คิดว่าอย่างแรกเลยคือจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่อยากให้เกิดการยุบสภาเร็วเพราะว่าอาจจะต้องกังวลกับโมเมนตัมทางการเมืองจากสนาม กทม. แม้การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้งระดับชาติเสียทีเดียว หรือการเลือกตั้ง กทม.ก็ไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้งในต่างจังหวัดเสียทีเดียว แต่ผลสะเทือนและโมเมนตัมทางการเมือง มีผลต่อความรู้สึกของคน จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลทำให้การเลือกตั้ง กทม.เกิดขึ้นทีหลัง เพราะรัฐบาลไม่มีความมั่นใจว่าจะชนะ จึงลากมาเรื่อยๆ เมื่อผลการเลือกตั้ง กทม.เป็นอย่างนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลสะเทือนทางการเมืองที่ทำให้ยิ่งไปเสริมความรู้สึกของสังคมว่า คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็มีคนสนับสนุนน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพูดอย่างไร แต่ภาษากายของ พล.อ.ประยุทธ์เห็นได้ชัดว่าไม่สบอารมณ์

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

การรวมตัวกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลในขณะนี้ ถือว่าเป็นจังหวะการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดกลางไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ในที่สุดก็เป็นคนละทางกันแน่นอน เพราะอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลเป็นประชาธิปไตยแนวสังคมนิยม ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีแนวอุดมการณ์แบบเสรีนิยม ซึ่งไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาก มุ่งหวังต้องการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อดูแลประชาชน ส่วนพรรคก้าวไกลเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจะนำพาไปสู่สังคมที่ดีกว่า นี่คือหลักคิดที่ต่างกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

สถานการณ์ในตอนนี้จำเป็นที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ใช้กระแสของฝ่ายประชาธิปไตยที่เติบโตมาก ทั้งในการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในภาวะที่รัฐบาลตกต่ำอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ภาพลักษณ์พฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองซีกรัฐบาล ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังคมรับไม่ได้เลย ความล้มเหลวของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาทำให้สำเร็จได้ แต่แก้ปัญหาที่ออกมาจากปากผู้นำทางการเมืองที่บอกว่าเป็นเรื่องเก่า เรื่องอดีต คือความไม่รับผิดชอบของพรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีพูดได้อย่างไรว่าจะต้องคิดไปข้างหน้า เท่ากับว่านโยบายทั้งหมดร่วมกันหลอกประชาชนมานานกว่า 3-4 ปีแล้ว

จึงเป็นโอกาสของฝ่ายค้านเห็นว่าประชาชนไม่พอใจแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งแน่นอน เพราะว่ารัฐบาลอยู่ได้ไม่เกินเดือนมีนาคม 2566 รัฐบาลก็ต้องหมดตามวาระ หากพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคก้าวไกลกันก่อน เพื่อรักษามวลชน รวมทั้งจับมือเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นเอาไว้ชั่วคราว เชื่อการจับมือทั้ง 2 พรรค คงไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่งและเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนที่นั่ง ส.ก.ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีจำนวนมากในการเลือกตั้ง กทม.นั้น แสดงว่าคนกรุงเทพฯเริ่มมีวิธีคิดทางการเมือง ไม่ได้อิงการเมืองแบบเดิม กระแสค่านิยมความเชื่อ ไม่พอใจการทำงานของผู้นำท้องถิ่นคือ ผู้ว่าฯกทม.ที่อิงอยู่กับรัฐบาลชุดนี้มาก จึงได้มีการเทคะแนนมาให้ชัชชาติอย่างชัดเจน จึงเป็นโอกาสของ ส.ก.พรรคเพื่อไทย และ ส.ก.พรรคก้าวไกลและยังเป็นโอกาสการเปิดตัวของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่เริ่มเข้ามาแสดงบทบาทฐานะว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทำงานคู่ขนานไปกับ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในนามของชัชชาติด้วย เพื่อช่วงชิงพื้นที่สร้างโอกาสทางการเมือง ปั่นกระแสโลกโซเชียลออกพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย

หากมองในเรื่องการแข่งขัน ส.ส.ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งสมัยหน้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการรวมตัวในขณะนี้เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น พอถึงเลือกตั้งจริงจากจุดยืนและอุดมการณ์ที่ต่างกัน และต้องลงสนามแข่งขันในพื้นที่เดียวกัน จะต้องมีการต่อสู้แบบหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ หากพรรคเพื่อไทยเกิดแลนด์สไลด์ การจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่มีพรรคก้าวไกลก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image