พิมพ์เขียว กม. ‘บำนาญ’ถ้วนหน้า เดือนละ 3 พันบ. ช่วยเหลือผู้สูงอายุ

พิมพ์เขียวกม.บำนาญžถ้วนหน้า
เดือนละ3พันบ.ช่วยเหลือผู้สูงอายุ

หมายเหตุการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ใช้เวลาเกือบ 5 ชม. พิจารณารายงานการศึกษา เรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม มี ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ร่วมกันอภิปรายแสดงความเห็น ส่วนใหญ่สนับสนุนรายงานการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเงินบำนาญ 3,000 บาท จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้สูงอายุ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ควรหาวิธีบริหารรูปแบบอื่น ไม่ใช่แบบราชการ เพราะมีข้อจำกัดมาก ทำให้เกิดความล่าช้า หวังว่ากฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ จะเป็นการปักธงสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยที่ประชุมได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าว ให้สภาส่งต่อไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการตามรายงานและข้อสังเกต

บทสรุป ข้อเสนอแนะ
และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ

การวางรากฐานระบบบำนาญของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักประกันทางสังคมที่ภาครัฐจะต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งการมีระบบ หลักประกันทางสังคมด้านบำนาญที่เหมาะสม จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพเมื่อเข้าสู่วัยชรา ลดภาระการพึ่งพิง ตลอดจนเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณจากการนำภาษีของประชาชนวัยทำงาน มาจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ในด้านของความเพียงพอ ในการดำรงชีวิต ปัจจุบันผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพซึ่งยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเพื่อยังชีพ และอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนอย่างมาก จึงกล่าวได้ว่า ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน เพราะต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งรายรับเพียงแหล่งเดียวหลังเกษียณ

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ จึงควรวางระบบบำนาญของประเทศไทย โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ในลักษณะเป็นสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ซึ่งประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่มีอายุถึงเกณฑ์ที่กําหนด มีสิทธิได้รับทุกคน โดยสิทธิดังกล่าวนี้ มุ่งประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ และคณะกรรมาธิการเห็นว่า หากผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่มั่นคงก็จะช่วยลดภาระการพึ่งพิงวัยแรงงาน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมผ่านการใช้จ่ายของกลุ่มประชากรเกษียณอายุอีกด้วย

คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมเห็นว่า หากมีการปรับปรุงที่มารายได้และการบริหารงาน กองทุนผู้สูงอายุให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อสมทบงบประมาณประจำปี เพื่อจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน จากที่มาเงินรายได้ประกอบด้วยเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินบำรุงจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุรา และยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เงินหรือทรัพย์สิน ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ เงินอุดหนุนจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สิน ที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรมอื่น โดยกำหนดที่มาของรายได้เพิ่มขึ้น จากเงินบำรุงที่ได้จากภาษีสรรพสามิตสุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ รถ หรือภาษีอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด เงินบำรุงที่ได้รับจากการออกสลากตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ และคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการคมนาคม เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เงินที่ได้จากเงินบำรุงจากภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เงินบำรุงที่ได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อสินค้า หรือบริการของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าใบอนุญาต ภาษี หรือค่าธรรมเนียมอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เงินบำรุงที่คลังได้รับมาตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน เงินบำรุงที่ได้จากภาษีเงินได้ประจำปีของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน เงินบำรุงที่ได้จากภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือเงินได้นิติบุคคลประจำปีที่ผู้เสียภาษีแสดงความจำนง เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวง หรือค่าธรรมเนียมอื่นจากกิจการขุดเจาะน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติตามกฎหมายปิโตรเลียมหรือเงินบำรุงอื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อให้เพียงพอจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ รวมทั้งเห็นสมควรปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนผู้สูงอายุให้สามารถนำเงินทุนไปหาประโยชน์ด้วยการลงทุนได้ ตลอดจนการกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุมีฐานะเป็นนิติบุคคลในกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกำหนดชื่อกองทุน โครงสร้างและการบริหาร กองทุนใหม่ เพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีการสรรหาบุคลากรจากภายนอกให้เข้ามาบริหารจัดการเพื่อทดแทนการสรรหาอัตรากำลังข้าราชการที่เพิ่มขึ้น

ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ

Advertisement

เสนอให้ประชาชนทุกคนมี สิทธิบำนาญพื้นฐานŽ เพราะสวัสดิการด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ เพื่อความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ จึงควรพิจารณาสิทธิบำนาญพื้นฐานให้เป็นลักษณะถ้วนหน้า ที่ให้ประชาชนผู้มีอายุถึงเกณฑ์ตามที่รัฐกำหนดมีสิทธิได้รับทุกคน แม้ว่าประชาชนบางส่วนจะได้รับสวัสดิการบำนาญจากกองทุนการออม ภาคบังคับอื่นแล้วก็ตาม ซึ่งหากประชาชนผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่มั่นคง ก็จะช่วยลดภาระการพึ่งพิง ลดการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมผ่านทางการลงทุนและการใช้จ่ายของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐจะได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจคืนมาได้รูปแบบของภาษีประเภทต่างๆ

เสนอให้มีการจัดตั้ง กองทุนŽ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านงบประมาณที่เป็นภาระของรัฐ เนื่องจากกองทุนมีรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกำไรขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังควรมีการพิจารณาหาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เช่น รายได้จากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม การจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีบาป) การจัดสรรงบประมาณจากรายได้ในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และรายได้จากการบริจาค เป็นต้น

ระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาติควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อเป็นเสาหลักพื้นฐานให้กับประชาชนผู้สูงอายุทุกคน โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับเสาหลักอย่างกองทุนประกันสังคมและกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ของผู้สูงอายุที่จะได้มีบำนาญใช้ดำรงชีวิตในยามชราภาพ ซึ่งเชื่อว่าหากเรื่องบำนาญพื้นฐานแห่งชาติมีความมั่นคงแล้ว ในอนาคตทั้งสามกองทุนก็จะสามารถดำเนินงานบูรณาการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ มีหลักการสำคัญในการกำหนดให้เรื่องบำนาญ ให้เป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า โดยในการร่างกฎหมายได้คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ดังนั้น กฎหมายเกี่ยวกับบำนาญพื้นฐานแห่งชาติจึงต้องมีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต คณะกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่าไม่ควรกำหนดเรื่องความเชื่อมโยงของกองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ ไว้กับเรื่องบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ควรให้มีการขับเคลื่อนการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐานแห่งชาติไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละกองทุนอย่างเป็นเอกเทศ โดยมีแนวคิดสำคัญให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับเบี้ยบำนาญพื้นฐานแห่งชาติตามสิทธิของตน

หลักการสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาตินั้น คือ แนวคิดในการศึกษา และรวบรวมระบบสวัสดิการของประชาชนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประการด้วยกัน คือ เรื่องบำนาญของข้าราชการ เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรื่องเงินบำนาญประกันสังคม และเรื่องของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งการดำเนินงานของแต่ละกองทุนนั้นย่อมมีความเป็นเอกภาพ แต่สิ่งที่ต้องดูแลก็คือ ประชาชนที่อยู่นอกระบบ ซึ่งมีอยู่กว่า 21 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการออมเพื่อบำนาญได้ ดังนั้น เจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการจึงต้องการสนับสนุนให้มีบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ห่างจากเส้นแบ่งความยากจน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมการออมจากการจ่ายภาษีบริโภคของประชาชน ถือเป็นนวัตกรรมที่มีการออกแบบความคิดเพื่อการออมที่จะสามารถนำไปใช้ในเรื่องบำนาญของประชาชนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการดำเนินการมาเป็นเวลาช้านานแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการจัดเก็บภาษี ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้เห็นที่มาที่ไปของเงินว่านำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด

เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ซับซ้อน และสามารถดำเนินการได้ง่าย และรวดเร็วกว่า เนื่องจากเป็นการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิม อีกทั้งเป็นกฎหมายแม่บทในการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุในเรื่องต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น โดยให้ยกเลิกการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและให้เปลี่ยนเป็นการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติแทน ซึ่งเดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับผิดชอบ จึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานและจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติม รวมทั้งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 นั้นมีกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแหล่งเงินงบประมาณที่มีกฎหมายและระเบียบรองรับอยู่แล้ว จึงสามารถจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับระบบบำนาญพื้นฐานได้ทันที

คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย

1.นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ประธานคณะกรรมาธิการ

2.นายนพพล เหลืองทองนารา รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง

3.นายสมบัติ อำนาคะ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง

4.นางสาววรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม

5.นายสุทิน คลังแสง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ

6.นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ

7.นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ โฆษกคณะกรรมาธิการ

8.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองโฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง

9.นายธนยศ ทิมสุวรรณ รองโฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่สอง

10.นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ กรรมาธิการ

11.นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา กรรมาธิการ

12.นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย กรรมาธิการ

13.นายสมศักดิ์ คุณเงิน เลขานุการคณะกรรมาธิการ

14.นายศิริพงษ์ รัสมี รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง

15.นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่สอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image