“จุรินทร์” แจง เงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดี ชี้ สถานการณ์โลก-ค่าขนส่ง-ราคาน้ำมันแพง ทำปุ๋ยพุ่ง ยัน ส่งออกไทยงดงาม ตั้งเป้าสิ้นปีทำรายได้ 9 ล้านล้าน
เมื่อเวลา 13.25 น. วันที่ 1 มิถุนายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระที่ 1 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เป็นวันที่ 2 โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงถึงอัตราเงินเฟ้อว่า เงินเฟ้อเกิดจากภาวะราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเงินเฟ้อต่ำที่สุด อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยร้อยละ 3.5 อยู่ในลำดับที่ 163 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยไม่ได้ขึ้นไปทั้งหมด เพราะมีทั้งกลุ่มที่ราคาคงเดิม กลุ่มราคาปรับลด และกลุ่มราคาเพิ่มสูงขึ้น
“ยอมรับว่าปุ๋ยราคาแพงจริง เห็นใจและเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราต้องแก้ไขปัญหาสองข้อ คือ แก้ไขราคาไม่ให้ค้ากำไรเกินควร และแก้ไขปัญหาให้มีปุ๋ยใช้ในปริมาณที่เพียงพอ ไม่ให้ขาดแคลน วันนี้ยังกำกับปริมาณให้เพียงพอได้ ด้วยปุ๋ยที่ต้องนำเข้าทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลก และเพราะปุ๋ยผลิตจากน้ำมัน เมื่อน้ำมันแพงขึ้น ปุ๋ยก็ต้องราคาแพงด้วย ค่าขนส่งสูงขึ้นราคาปุ๋ยก็ต้องเพิ่มเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบราคาปุ๋ยทั่วโลก จะพบว่าบ้านเรายังอยู่ในราคาที่ต่ำกว่าหลายประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารโลก ได้ทำตารางเปรียบเทียบของโลก ปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์รัสเซีย ยูเครน ก่อนที่ราคาน้ำมันจะแพง กับปัจจุบัน พบว่า ราคาปุ๋ยโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ปุ๋ยไทยเพิ่มขึ้น 5.9 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าตกกว่าราคาเฉลี่ยโลก” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อนำราคาเปรียบเทียบเดือนเมษายน ระหว่างปี 64 กับปี 65 ปุ๋ยโลกแพงขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ปุ๋ยไทยแพงขึ้น 25.7 เปอร์เซ็นต์ นี่คือข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะไม่ได้ทำอะไร โดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้นำเข้าปุ๋ย จับมือกันขายปุ๋ยราคาถูก นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เนื่องจากเราพยายามกำกับปุ๋ยไม่ให้แพงขึ้น จนเป็นที่มาให้ผู้นำเข้าปุ๋ยจะหยุดนำเข้า เพราะเราไปกดราคาไม่ให้เป็นไปตามราคาต้นทุน ปรากฏว่า การนำเข้าปุ๋ยติดลบ 48 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นเช่นนี้ต่อไป ต้องแก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลน ดังนั้น เราต้องสร้างสมดุลราคากับปริมาณ เพื่อให้มีการนำเข้าปุ๋ย ซึ่งตอนนี้เราทำโครงสร้างราคาปุ๋ยใหม่เรียบร้อย จนทำให้ตอนนี้มียอดนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้นแล้ว เหลือก็แต่เรื่องราคาที่ต้องหาวิธีทำให้ถูกลง
“ยืนยันว่า เครื่องยนต์ส่งออกไม่ได้ดับ ในสถานการณ์โลกต่างๆที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ผลักดันการส่งออกได้อย่างงดงาม ปี 64 ทำรายได้ถึง 8.5 พันล้านบาท และในปีนี้ ผ่านไปเพียง 4 เดือน ทำรายได้แล้ว 3.2 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้ต้องให้ได้ 9 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นการส่งออกจึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ” นายจุรินทร์ กล่าว