‘ชัชชาติ’ คิกออฟนโยบาย ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น’ สร้างกำแพงกรองฝุ่น จ่อเปิดตัวแอพพ์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว

ชัชชาติถือฤกษ์ดีปลูกต้นไม้ที่สวนเบญจกิติ เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองสีเขียว

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เมื่อเวลา 15.45 น. ที่สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่พูดคุยกับนายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และนายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการฯ ถึงประเด็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ตามนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกันฝุ่น โดยเมื่อเวลา 15.53 น. นายชัชชาติลงมือปลูกต้นไม้ต้นแรก โดยใช้มือเปล่ากลบดิน จากนั้นใช้บัวรดน้ำรูปช้างสีชมพูรดน้ำ

นายชัชชาติกล่าวว่า นี่เป็นฤกษ์ดีในการปลูกต้นไม้ เป็นร้อยต้นแรกของล้านต้น นับเป็นก้าวแรกเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองสีเขียว การปลูกต้นไม้ต้องมีคนดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีแอพพลิเคชั่นปลูกต้นไม้ที่ระบุพิกัด นอกจากนี้ อาจต้องหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ เช่น พื้นที่ว่างของเอกชน

“ปัญหาที่ผ่านมาคือปลูกเยอะ แต่ดูแลไม่ไหว ดังนั้นกระจายดูแลบ้าง เช่น เอกชนช่วยดูแลบ้าง หรือกลุ่มบริษัทช่วยปลูกปุ๊บก็ช่วยดูแลต่อเนื่องในพื้นที่ตนเอง และจริงๆ แล้วปลูกไม่จำเป็นต้องปลูกในที่หลวง ปลูกที่ส่วนตัวก็ได้ เพราะต้นไม้มันคือสมบัติของเมืองเหมือนกัน เราจะมีแอพพ์ปลูกต้นไม้ แล้วมีพิกัด จะมีคนดูแลต่อเนื่อง มีแอพพ์ให้เจอกัน ปลูกปุ๊บ ถ่ายพิกัด คนปลูกจะอัพเดตทุกเดือนทุกปี โตไปกับต้นไม้ด้วยกัน ส่วนชื่อแอพพ์วันศุกร์นี้เสร็จ เป็นแอพพ์ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินมาก ร้านที่อยากจะช่วยปลูกสามารถสมัครเข้ามาก่อนได้เลย เพราะอาจจะเต็มก่อน” นายชัชชาติกล่าว และว่า ตนชอบต้นทองอุไรมาก

Advertisement

เมื่อสอบถามถึงเรื่องแอพพ์ปลูกต้นไม้ที่จะเปิดตัวในวันศุกร์นี้ นายชัชชาติกล่าวว่า แอพพ์นี้เป็นความร่วมมือกับ สวทช. ไม่ใช่กับเอกชน การแจ้งเหตุกับการแจ้งปลูกต้นไม้ไม่ต่างกัน

“ปัญหา คือพอพูดถึงการปลูกป่า คนไม่อยากจะปลูกเพราะรู้สึกว่าการมาปลูกอย่างนี้มันง้องแง้งแล้วก็หาย ต้นไม้ตายก็ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเรามีพิกัดว่าวันนี้ชัชชาติมาปลูกต้นโพธิ์ที่พิกัดจีพีเอสตรงนี้” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นคนรดน้ำ นายชัชชาติกล่าวว่า ใครรดน้ำเป็นคำถามที่สำคัญ ใจตนอยากจะ empower อยากจะกระจายอำนาจลง คือถ้าเอกชนช่วยกันดูแลจะลดภาระของรัฐได้เยอะ เพราะถ้าเกิดช่วยกันดูแลแล้วให้มันโตไปกับเราและลดภาระ เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกอยากให้เอกชนช่วยดูแลก่อน นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จะรับไป 20,000 ต้น ใน 4 ปี

Advertisement

“นี่แค่คนแรกที่เราถาม เผอิญท่านโทรมาแสดงความยินดีเลยลองถาม เขาก็โอเคเลย ผมว่ามีแนวร่วมที่มีพลัง และไม่ได้ใช้งบของท่านเลย เขาก็มีที่ของเขา ท่านเริ่มผมว่าต่อไปเราจะหาเอกชนรายเล็กรายใหญ่ แต่ละคนก็ได้ คนละต้นสองต้น นักเรียนอะไรอย่างนี้ และผมได้คุยกับทีมงานแล้วที่จะให้คัดเลือกต้นไม้ว่าจะมีต้นไม้กี่แบบ และต้องเหมาะสมกับสภาพต้นเล็กต้นใหญ่” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า อยากชวนคนมาปลูกต้นไม้ มองว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น คนกรุงเทพฯมี 5 ล้านคน แค่ 1 ใน 5 ปลูกก็ได้ล้านต้นแล้ว แต่บางทีไม่มีที่ปลูก อาจจะต้องหาพื้นที่ให้

“ตอนแรกมองว่ากองขยะอ่อนนุช กองขยะหนองแขม  ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้แล้ว กองขยะ พื้นที่ว่าง พื้นที่ข้าราชการ ซึ่งเราก็เห็นว่ามีหลากหลายเหมือนกัน หรือกระทั่งพื้นที่เอกชนที่ไม่ได้ใช้ บางเขตอาจจะหาที่ยากอาจจะต้องไปหาที่อื่นที่มีพื้นที่ว่างเยอะหน่อย ก็เฉลี่ยได้ล้านต้น ซึ่งวันนี้เราวัดได้ อาทิตย์ละ 100 ต้นต่อเขต 100 ต้นไม่น่าเยอะเท่าไรหาคนมาช่วย ฝากพี่น้องประชาชน คนละมือคนละไม้และเริ่มทำเลย มันคือการลงทุนให้ลูกหลานเราในอนาคต เพราะต้นไม้ที่ปลูกพวกนี้ไม่ใช่ฝีมือเราปลูกเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ของพ่อแม่เราปลูกให้เรา ถึงเวลาเราต้องมาปลูกให้ลูกให้หลานแล้ว หรือไม่ลูกหลานก็ปลูกแล้วโตไปกับต้นไม้ด้วยกัน เพราะว่าโครงการนี้ก็น่าจะเป็นโครงการที่น่าจะเป็นไปได้แล้วไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย ต้นกล้าต้นหนึ่งประมาณ 20 บาท ล้านต้นแค่ 20 ล้าน” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้จะมีการปลูกต้นไม้อีก 99 ต้น รวมกับต้นไม้ที่นายชัชชาติปลูก 1 ต้น เท่ากับ 100 ต้น

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า มีหลายส่วนของสวนเบญจกิติที่ ตนชอบมาวิ่ง ด้านในที่มีลู่วิ่งก็จะวิ่งมาจากสวนลุมฯมาสะพานเขียวและมาวิ่งที่นี่ แต่ที่นี่มีความลับอยู่อันหนึ่ง คือมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีนกฮูกอยู่ 3 ตัว มีคนเขามาให้ดูกัน 3 ตัวเรียงกัน น่ารักดี

นายชัชชาติกล่าวว่า ทราบว่าที่สวนแห่งนี้มีต้นโพธิ์ใหญ่และนกฮูก 3 ตัว แต่ส่วนตัวไม่เคยเจอ พร้อมโชว์รูปที่พรินต์ลงกระดาษเป็นรูปนกฮูก 4 ตัว

นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่ากรุงเทพมหานครมีแบบนี้ ภาพนี้มีลูกและพ่อแม่อย่างละ 2 ตัว
“เมื่อวานมีน้องคนหนึ่งเจอ วันดีคืนดีจะโผล่ตรงนี้ ผมไม่เคยเห็นเลย กรุงเทพฯไม่ธรรมดานะ น่ารักมากเลยนะ”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังทราบว่าไม่ใช่นกฮูกแต่เป็นนกเค้าลายจุด โดยผู้ดูแลสวนกล่าวว่า ที่นี่ไม่มีแมว เพราะแมวจะไปกินไข่นกเค้า นกเค้าจะเกาะตรงบนต้นไม้และกินกระรอกด้วย

จากนั้นชัชชาติจึงกล่าวว่า “ไม่น่ารักแล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติยังกล่าวถึงโครงการผักสวนครัว ซึ่งสืบเนื่องมาจากการแยกขยะโดยมองว่าจากนี้โครงการดังกล่าวน่าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

“เมื่อแยกขยะแล้วจะเป็นปุ๋ยหมักมาปลูกผักสวนครัวได้ ซึ่งเราต้องบริหารจัดการพื้นที่ว่าง ดีกว่านำพื้นที่มาปลูกกล้วย ทำเป็นสวนผักก็ไม่เลว ได้แรงงาน มีรายได้ด้วย ช่วงนี้โครงการนี้จะดีขึ้นแน่นอน เพราะภาวะเงินเฟ้อทำให้วัตถุดิบแพงขั้น ผักที่เราจะกินต้องขนส่งมาจากตลาดไท น้ำมันก็แพง โครงการสวนผักนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะใช้เวลาชั่วคราว ต่างจากการปลูกป่าที่ต้องปลูกระยะยาว เผลอๆ ทำได้ง่ายกว่าสวนสาธารณะอีก เช่าไม่นานก็ได้แล้ว มีคำตอบเยอะแยะในกรุงเทพฯที่ไม่ต้องใช้เงิน ใช้แค่ความคิด ใช้ความร่วมมือ เราเป็นผู้ให้คำแนะนำ” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image