โฆษก กห.ชี้จ้างแกะ GT200 เพื่อพิสูจน์ ‘ใช้งานไม่ได้จริง’ ก่อนฟ้องผู้ขายชดเชย 683 ล้าน

“โฆษกกลาโหม” แจง ทบ.ตั้งงบจ้าง สวทช. ผ่าพิสูจน์ GT200 เก๊หรือไม่ กว่า 7.5 ล้านบาท เป็นไปตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เพราะสาระสำคัญของคดี คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเครื่องใช้ไม่ได้ ก่อนที่จะได้รับเงินค่าเสียหายกว่า 683 ล้านบาท ตามคำสั่งศาล

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงภายหลังที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบกลาโหม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาทว่า

ทราบเรื่องจากกองทัพบก ที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจากเป็นไปตามคดีอาญา ที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ขณะเดียวกันคดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่

ทั้งนี้ให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คืนแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผลรวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. ตามที่เสนอราคามาโดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท ก็ได้ทยอยตรวจสอบ

Advertisement

พล.อ.คงชีพกล่าวอีกว่า ทั้งหมดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ ไม่ให้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมองว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพราะไม่มีประโยชน์ พล.อ.คงชีพกล่าวว่า เรื่องนี้หากเราจะต้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นเช่นนี้ เราก็ต้องดำเนินการเพราะสาระสำคัญของคดี คือต้องตรวจเครื่องว่าไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ดังนั้นการที่เราจะได้เงินค่าเสียหาย เราจึงต้องทำตามขั้นตอนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image