‘ชัชชาติ’ นัดถก ‘บิ๊กป๊อก’ 6 มิ.ย.นี้ เล็งทบทวนภาษีที่ดิน จัดโซนนิ่ง-เลิกใช้ดุลพินิจ

‘ชัชชาติ’ นัดถก ‘บิ๊กป๊อก’ 6 มิ.ย.นี้ เล็งทบทวนภาษีที่ดิน จัดโซนนิ่ง-เลิกใช้ดุลพินิจ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 มิถุนายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารจะเข้าหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ถึงปัญหาอุปสรรคการบังคับใช้ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และช่องทางการปรับอัตราภาษีใหม่ให้มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่อยู่อาศัยและการทำเกษตรกรรม เนื่องจากปัจจุบันเจ้าของที่ดินเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่รกร้างว่างเปล่าเป็นเกษตรกรรมกันจำนวนมาก ซึ่งอัตราภาษีที่จะขอปรับใหม่ อาจจะไม่เท่ากับอัตราเพดานที่กฎหมายกำหนด เช่น เกษตรกรรมอัตราเพดานอยู่ที่ 0.15% บ้านพักอาศัยอยู่ที่ 0.3% ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าอยู่ที่ 1.2%

“กทม.จะขอความชัดเจน ไม่ให้ใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีว่า แบบไหนจะเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ที่อยู่อาศัยหรือที่ดินเกษตรกรรม ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เช่น ที่ดินเกษตรกรรมต้องพัฒนาบนพื้นที่สีเขียวตามที่ผังเมืองรวมกำหนด ไม่ใช่อยู่บนพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมในเมืองอย่างปัจจุบัน หากทำได้ตามนี้จะทำให้ กทม.จัดเก็บภาษีที่ดินได้ 100%” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามกฎหมายเมื่อครบ 2 ปี จะมีการทบทวนอัตราเพดานใหม่ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังประกาศเก็บอัตราเดิมถึงปี 2566 โดยไม่มีส่วนลด 90% อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นสามารถทบทวนอัตราใหม่ได้ ในส่วนของ กทม.หากจะทบทวนใหม่คงต้องเป็นการเก็บอัตราภาษีที่ดินในปี 2566 แต่ขึ้นอยู่กับสภา กทม.จะอนุมัติหรือไม่ สำหรับที่ดินเปล่าใน กทม.มีอยู่กว่า 1.2 แสนแปลง แต่หลังมีเจ้าของที่ดินขอเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวนมากจะมีการสรุปยอดที่ชัดเจนอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2565

นายปิยะ พูดคล่อง ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. เปิดเผยว่า แนวคิดของนายชัชชาติเกี่ยวกับภาษีที่ดินฯ มี 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกหากเอกชนมีที่ดินเปล่า แต่ยังไม่ใช้ประโยชน์นำมาให้ กทม.พัฒนาเป็นสวนสาธารณะได้ จะยกเว้นไม่เก็บภาษีที่ดินฯให้ แต่ต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะใช้พื้นที่กี่ปีให้สอดรับกับ กทม.ที่ลงทุนพัฒนาโครงการ เช่น 10 ปี ส่วนแนวทางที่ 2 กทม.จะขอสภา กทม.ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ หลังมีการนำที่ดินกลางเมืองมาทำเกษตร เช่น ปลูกกล้วย ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยด้วย โดยอัตราใหม่ที่กำหนดจะต้องไม่เกินจากเพดานที่กฎหมายกำหนด เช่น ที่ดินเกษตรอยู่ที่ 0.15% สำหรับในปี 2565 กทม.ตั้งเป้าจะเก็บภาษีที่ดินฯที่ปีนี้เก็บอัตรา 100% อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เพราะ กทม.ยังสำรวจฐานภาษีได้ไม่ครบ 100%

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image