ผอ.PTEC สวทช. แจงปมตรวจสอบ GT200 ยันเป็นไปตามบรรทัดฐานสากล

สืบเนื่องกรณีนักวิชาการชื่อดังหลายราย รวมถึงโลกออนไลน์ตั้งคำถามต่อประเด็นการใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาทตามที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นั้น

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ดร. ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผอ.ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ สวทช. เปิดเผยต่อ ‘มติชน’ ว่า ได้รับการติดต่อจากกองทัพให้ทดสอบ GT200 จึงได้สอบถามกลับไปว่า ก่อนหน้านี้เคยทดสอบไปแล้ว โดยมีผลออกมาชัดเจนว่า ‘เครื่องใช้การไม่ได้’ เหตุใดจึงต้องทดสอบอีก ได้รับคำตอบว่าขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนฎีกา ต้องใช้เอกสารด้านเทคนิค โดยที่ผ่านมาเอกสารที่ใช้ล้วนมาจาก PTEC ซึ่งรัฐบาลชนะทุกคดี

“งานที่เราทำเป็นบรรทัดฐานด้านเทคนิคที่ใช้กันอยู่ กองทัพบกถามมาว่า ถ้าเราไม่ทำ ประเทศนี้จะมีใครทำได้บ้างซึ่งก็คงลำบาก เพราะแต่เดิมใช้ห้องปฏิบัติการทดสอบไปแล้ว จะไปทำกับที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือมหาวิทยาลัยก็มีปัญหาเยอะ 1. คนทำ จบการศึกษาด้านไหน ตรงสาขาวิชาที่จะให้ข้อมูลกับศาลหรือไม่ 2.มีห้องปฏิบัติการทดสอบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ 3. ถัดไปคือคุณทำงานด้านนี้มากี่ปีแล้ว ผู้ให้ข้อมูลกับศาลต้องได้รับความเชื่อถือ เนื่องจากคู่กรณี คือทนายของผู้ขาย อาจโต้แย้งได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องดำเนินการ เพราะถ้าไม่ทำ คดีนี้จะไม่สามารถเดินหน้าได้” ดร.ไกรสรกล่าว

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงราคาค่าทดสอบ 10,000 บาทต่อเครื่อง ดร.ไกรสร อธิบายว่า มีการใช้ห้องทดสอบซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งยังต้องทดสอบในหลายหัวข้อ ใช้ยาเสพติดทุกชนิดที่ผู้ว่าจ้างส่งมา รวมถึงวัตถุระเบิดซึ่งมีความเสี่ยงอีกด้วย

Advertisement

“งานจัดซื้อจัดจ้างส่งมาประมาณ 700 กว่าเครื่อง ในการทดสอบ มีการทดสอบในหลายหัวข้อ ห้องทดสอบราคาแพง มิหนำซ้ำขณะทดสอบ ยังต้องใช้ยาเสพติดรวมถึงวัตถุระเบิดทุกชนิดที่ผู้ว่าจ้างส่งมา แล้วทดสอบทีละอย่าง ต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยงเกิดขึ้นหลายเรื่อง นอกจากนี้ ต่อให้เราเป็นหน่วยงานรัฐบาล เวลาหน่วยงานราชการว่าจ้าง ก็ยังต้องจ่ายเงินราชการเข้ามา เพราะงบประมาณเป็นของใครของมัน สวทช. ก็เป็นหน่วยงานราชการ สังกัดกระทรวง อว. ไม่ใช่เอกชน ดังนั้น เงินค่าทดสอบ ไม่ได้มาถึงพวกเราเลย กลาโหมโอนให้ สวทช.” ดร.ไกรสรกล่าว

ดร.ไกรสร กล่าวด้วยว่า การทดสอบครั้งนี้กองทัพระบุว่าให้อำนาจในการแกะเครื่องและการ์ดภายในด้วย จึงมีการดำเนินการแกะเพิ่มเติม โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

พวกเราเหมือนทำงานปิดทองหลังพระมาโดยตลอด การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐบางส่วนที่มีปัญหาส่งโปรดักส์พวกนั้นมาที่เรา เราทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ ดร.ไกรสรกล่าว

Advertisement

ดร.ไกรสร กล่าวเพิ่มเติมว่า PTEC สวทช. ดำเนินการตามกระบวนการที่ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพและความเชี่ยวชาญที่มีและสะสมมาจากการตรวจสอบและพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานซึ่งได้รับการยอมรับตาม มาตรฐานสากล ISO17025 มานานหลายสิบปีมาช่วยชี้ความจริง

“เมื่อหน่วยงานอย่างเรา PTEC รับทำงานแล้ว จะต้องทำแบบมืออาชีพและต้องรักษาความลับสุดยอดเหมือนนิติวิทยาศาสตร์พิเศษ ไม่สามารถเอาผลการทดสอบไปเผยแพร่ได้ เพราะจะส่งผลต่อรูปคดี สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี จะต้องมีการจัดซื้อ ต้องมีมาตรฐาน มีการตรวจสอบ
ก่อนตรวจรับทั้งสิ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ ซึ่ง PTEC ทำเรื่องนี้มาโดยตลอดหากได้รับการร้องขอ” ดร.ไกรสรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image