สร้างอนาคตไทย เสนอแปรรูป ตร.เป็นกระทรวง ลดอำนาจผู้บังคับบัญชา

‘สร้างอนาคตไทย’ ชี้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉายหนังซ้ำ ไม่ส่งเสริมการปฏิรูป เสนอ แปรรูป ตร.เป็นกระทรวง ลดอำนาจผู้บังคับบัญชา

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ถ.ศรีนครินทร์ นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้า และผู้อำนวยการพรรค สอท. แถลงว่า สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่จะเข้าสู่การพิจารณาสภาในวันที่ 9-10 มิถุนายนนี้ ในฐานะอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … เห็นว่าภารกิจที่ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปคือ การสอบสวนของตำรวจ แต่กฎหมายฉบับนี้กลับเป็นเรื่องของบุคลากรตำรวจ การบริหารราชการ และโครงสร้าง แต่ไม่ได้มีพูดถึงเรื่องสอบสวน ซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมเลย เพราะที่ผ่านมาตำรวจถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ถูกแทรกแซง มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ รวมถึงเรื่องการถ่วงดุลของเจ้าพนักงาน กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ตอบคำถามและไม่ได้แก้ปัญหา

นายวิเชียรกล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการปรับแก้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลนโยบายและการบริหารงานตำรวจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกฯเป็นรองประธาน และมีปลัดกระทรวง ผู้นำองค์กรภาคราชการที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรรมการ และมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นเลขานุการ หน้าที่หลักของกรรมการชุดนี้คือการทำนโยบาย เห็นขอบเขตที่เขียนไว้นั้นแคบ เพราะกรรมการชุดนี้ควรจะมีหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ตำรวจไม่ได้อยู่กับกระทรวงมหาดไทย จึงไม่สามารถขับเคลื่อนงานรักษาความสงบได้ อีกทั้งยังมีแต่ฝ่ายประจำมาเป็นกรรมการพิจารณานโยบาย อาจไม่ขับเคลื่อน ดังนั้น คณะกรรมการชุดนี้จึงควรมีฝ่ายการเมืองที่ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าไปเป็นบอร์ดด้วย

อีกประเด็น คือ เรื่องการแต่งตั้งบุคลากรตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นไปตามหลักคุณธรรมหรือไม่ ซึ่งไม่มีคำตอบอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกัน ดังนั้น ดูจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วคงไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนไม่ได้มีโอกาสและอำนาจในการแก้ไขทั้งที่เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมกับ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ การเสนอกฎหมายปฏิรูป ส.ส.ไม่สามารถร่างกฎหมายไปประกบได้ ทำให้กระบวนการนิติบัญญัติและผู้แทนของประชาชนลดอำนาจลงเหลือครึ่งหนึ่ง

ADVERTISMENT

นายวิเชียรกล่าวว่า มีข้อเสนอว่าควรจะมีการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เป็นกระทรวง เพราะปัจจุบัน สตช.มีบุคลากรมากกว่าหลายกระทรวง ตำแหน่งต่างๆ ไม่ได้มีสถานะด้อยกว่าอธิบดี การปรับเป็นกระทรวงเป็นสิ่งที่ดี อำนาจเบ็ดเสร็จจะไม่ได้อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาคนเดียว แต่กระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง เช่น งานสอบสวนให้แยกไปเป็นกรม ป้องกันการถูกแทรกแซง การใช้อำนาจทางการเมืองไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ถ้าเราไม่แยกงานเฉพาะทาง การควบคุมบังคับบัญชาจะเบ็ดเสร็จอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาผู้เดียว

“กฎหมายตำรวจฉบับนี้ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการสอบสวน ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ และถ้าโยงไปถึงรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 จนตอนนี้ปี 2565 จึงตั้งคำถามว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว เรากลับไม่ได้ร่างกฎหมายตำรวจที่เรารอคอย ผมผิดหวังจากสิ่งที่เรารอคอย เราดีใจกันที่จะเข้าสภา จะผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ผมกลับไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการปฏิรูปเท่าไหร่นัก จึงขอเรียกร้องเร่งรัดให้มีการปฏิรูปเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายวิเชียรกล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image