‘วิปรัฐบาล’ ยังไม่เคาะมติ รับ-ไม่รับหลักการ ร่างกม.สมรสเท่าเทียม ขอคุย ‘ส.ส.ก้าวไกล’ ก่อน

‘วิปรัฐบาล’ ยังไม่เคาะมติ รับ-ไม่รับหลักการ ร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ขอคุย ‘ส.ส.ก้าวไกล’ ก่อน หวังให้เปลี่ยนใจ ดัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม.เพิ่งอนุมัติแทน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาและมติของวิปรัฐบาลเกี่ยวกับการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ของนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะเสนอ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนให้สภาลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ว่า วิปรัฐบาลยังไม่ตกลงว่าจะให้รับหลักการหรือไม่รับหลักการ เนื่องจากต้องพูดคุยกับผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.อีกครั้งว่า สามารถพิจารณาใช้ร่างกฎหมายฉบับอื่น เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ให้สมเจตนาได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในการพิจารณาของ รัฐบาล มองว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้มีประเด็นที่อาจมีผลกระทบในรายละเอียดอื่นๆ ที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“ในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน มีกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เขาออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ดังนั้นหากจะมีกฎหมายที่ตราใหม่ โดยไม่แก้ไขกฎหมายหลักทั่วไป ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่และสำคัญ อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พอจะเป็นทางออกได้หรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่าการจะลงมติว่ารับหลักการหรือไม่ ต้องพูดคุยกันอีกครั้ง ในวันที่ 8 มิ.ย.หรือช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถึงลำดับพิจารณาของสภา” นายสุรสิทธิ์กล่าว

นายสุรสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาของพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นวิปรัฐบาล ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน คือ สนับสนุนให้รับหลักการ อีกส่วนมองว่าไม่ควรแก้ไขกฎหมายใหญ่ที่สำคัญ แต่ควรออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่

เมื่อถามว่าา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม.เห็นชอบ แต่พรรคก้าวไกลไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมองว่าเท่าเทียมไม่จริง นายสุรสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าความเท่าเทียมจริงนั้นไม่มี โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมรับรองความเป็นหญิงและชาย ไม่รองรับคนเพศเดียวกัน ทั้งนี้ ความต้องการแก้ไข เพื่อให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ มีรายละเอียดที่ต้องการ คือสิทธิประโยชน์ ของคู่สมรส ที่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าจะสร้างภาระ หรือกระทบความมั่นคงหรือไม่ เช่น กรณีของข้าราชการ ที่มีสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส ในด้านการรักษาพยาบาล หรือกรณีการรับบุตรบุญธรรมไว้อุปการะ หากรับเด็กต่างชาติ หรือสมรสกับชาวต่างชาติ จะมีประเด็นเรื่องความมั่นคงหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image