เดินหน้าชน : ภาษีที่ดิน

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลให้ช่วยออกมาตรการบรรเทาภาระภาษีที่ดิน 100%

หลังรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2565 อัตรา 100% ไม่ลดหย่อน 90% เหมือน 2 ปีแรกช่วงโควิด

Advertisement

เพราะรัฐบาลคาดการณ์ช่วงต้นปี 2565 ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย

ไม่คิดว่าจะมาเจอปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหารสัตว์ กอดคอกันขึ้นราคาสินค้าแทบทุกชนิด

Advertisement

รวมทั้งค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักอยู่ในขณะนี้

ที่สำคัญความหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวก็ไม่ได้เป็นไปตามคาด เพราะการเดินทางยังมีข้อจำกัด

ทั้งปัญหาเรื่องสงคราม โดยเฉพาะประเทศจีนตลาดใหญ่ของไทย ก็ยังไม่ประกาศเปิดประเทศ

ดังนั้น หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม

ข้อเรียกร้องจาก กกร.ระยะเร่งด่วนขอให้ผู้ค้างชำระภาษีสามารถผ่อนชำระได้ 1 ปี โดยไม่มีเบี้ยปรับ

ระยะถัดไปขอให้เก็บ หรือลดอัตราจัดเก็บเป็นขั้นบันได เช่น ปี 2566 ลด 75% ปี 2567 ลด 50% และปี 2568 ลด 25%

และระยะยาวให้ปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ กำหนดอัตราเหมาะสมเป็นอัตราเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อน่ากังวลสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี

จะช่วยสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดิน ทำให้เกิดการสร้างงาน

เหมือนกับการดึงเงินจากผู้ที่มีกำลังซื้อ ดึงเงินจากบรรดาแลนด์ลอร์ด หรือเจ้าสัว เข้ารัฐมากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือบรรดาแลนด์ลอร์ดนำที่ดินออกมาแปลงโฉมทำการเกษตร ปลูกกล้วย ปลูกมะม่วง มะนาว

เพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรม เพื่อให้จ่ายภาษีในอัตราถูกลง จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าต้องจ่ายภาษีอัตรา 0.3-0.7%

แต่หากแปลงสภาพเป็นเกษตรกรรมจะเสียภาษีอยู่ที่ 0.01-0.1%

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาแลนด์ลอร์ดขาใหญ่ บรรดานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ร่ำรวยมาจากการพัฒนาที่ดินมหาศาล

“ฉวยโอกาส” ช่วงนี้ขอกระทรวงการคลังขยายเวลาสำหรับที่ดินรอพัฒนาจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี

ให้มีการประเมินราคาตามสภาพพื้นที่จริงและแยกราคาประเมินที่ดินรอพัฒนากับที่ดินพัฒนาสาธารณูปโภคไปแล้วออกจากกัน

รวมถึงขอขยายเวลาลด 90% อีก 2 ปี และให้จัดเก็บภาษีแบบเป็นขั้นบันได

ทั้งที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์ไปจำนวนมหาศาลแล้วก่อนหน้านี้

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาก็ต้องยอมเสียสละรายได้บ้าง ในช่วงที่รัฐบาลกำลัง “หน้ามืด” หารายได้มาจ่ายหนี้เงินกู้มือเป็นระวิงขณะนี้

อาจจะใช้วิธีเหมือนกับไอเดียผู้ว่าฯชัชชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีที่ดินให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ถือว่าน่าสนใจ

โดยจะยกเว้นภาษีให้ หากเอกชนมีที่ดินเปล่า ยังไม่ใช้ประโยชน์นำมาให้ กทม.พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ แทนการปลูกกล้วย

และขอสภา กทม.ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ แต่ต้องไม่เกินจากเพดานที่กฎหมายกำหนด

โดยที่ดินเกษตรกรรมอัตราเพดานไม่เกิน 0.15% บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%

กทม.ต้องการไม่ให้ใช้ดุลพินิจการประเมินภาษีว่าแบบไหนจะเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ที่อยู่อาศัยหรือเกษตรกรรม

โดยต้องกำหนดให้ชัด เช่น ที่ดินเกษตรกรรมต้องพัฒนาบนพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองรวมกำหนด ไม่ใช่อยู่บนพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม

รัฐบาลต้องแยกแยะให้ออก ช่วยกลุ่มคนเดือดร้อนจริงๆ เพราะมักจะมีพวก “มั่วนิ่ม” คอยสอดแทรกเข้ามาตลอด

ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะต้องโดนคดี “อุ้มเจ้าสัว” เหมือนกับที่โดนมาอย่างต่อเนื่อง

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image