ส.ว.จ่อเปิดอภิปรายครม.ไม่ลงมติ เน้นศก.-สาธารณสุข ปาดหน้าฝ่ายค้านซักฟอก

ส.ว.จ่อเปิดอภิปราย ครม.ไม่ลงมติ เน้น ศก.-สาธารณสุข ปาดหน้าฝ่ายค้านซักฟอก

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ห้องประชุมวุฒิสภา มีการจัดสัมมนาในโอกาสครบรอบ 3 ปี วุฒิสภา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ส.ว. และประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม

นายพรเพชร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า วุฒิสภาเพื่อประชาชน : กลั่นกรอง ตรวจสอบ ปฏิรูป” ความตอนหนึ่งว่า 2 ปี ต่อจากนี้วุฒิสภายังต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลง ทำให้การทำงานของวุฒิสภาเรื่องการกลั่นกรอง ตรวจสอบและปฏิรูป จะได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง สมบูรณ์ เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ดังนั้น วุฒิสภาจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น การขอเปิดอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ปัญหาสำคัญของประเทศตอนนี้คือด้านเศรษฐกิจ และด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่วุฒิสภาโดยตรงดังนั้นคิดว่าการที่วุฒิสภาจะได้เพิ่มบทบาท ในการให้การบริหารราชการแผ่นดิน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่นายพรเพชรระบุถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของวุฒิสภา ตามมาตรา 153 ว่า เป็นแนวคิดของสมาชิกที่พูดคุยกันในภาพกว้างๆ ว่า ส.ว.ควรจะมีบทบาทในการเสนอแนะรัฐบาลบ้าง และเรื่องไหนที่ ส.ว.ยังไม่ได้ทำ จึงคิดกันว่าน่าจะมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อที่จะเสนอแนะให้คำแนะนำให้รัฐบาล เหมือนเป็นพี่เลี้ยงรัฐบาล ไม่ใช่เป็นลูกน้อง เรื่องการยื่นอภิปรายวันใดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการพูดคุยกันเท่านั้น ส่วนจะอภิปรายวันใดก็ขึ้นอยู่กับประธาน ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ระบุว่า “สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ”

Advertisement

ปัจจุบันมี ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่ 249 คน หากเข้าชื่อหนึ่งในสามเพื่อยื่นขอเปิดอภิปรายเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงและชี้แจงปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 จะใช้จำนวน 83 คน อย่างไรก็ตาม การยื่นญัตติอภิปรายของ ส.ว.ถือเป็นการอภิปรายก่อนที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดตัวรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากแต่ละพรรคที่เสนอรายชื่อเข้ามา มีจำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายรวมกันแล้วมากกว่า 10 คน มองว่ามีจำนวนมากเกินไป พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงได้หารือกัน จะพิจารณาถึงความรุนแรงของข้อหา และความหนาแน่นของข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปราย คาดว่าจะเหลือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายประมาณ 5-6 คน

ทั้งนี้ จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 9 มิถุนายน จะต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 10 มิถุนายนนี้ เพื่อให้มีเวลาเขียนญัตติและจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานรัฐสภาได้ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image