ฝ่ายค้านลุยไม่ไว้วางใจ กลุ่มสะวิงโหวตชี้อยู่-ไป แรงกดดันเทียบผู้ว่าฯกทม.

ฝ่ายค้านลุยไม่ไว้วางใจ กลุ่มสะวิงโหวตชี้อยู่-ไป แรงกดดันเทียบผู้ว่าฯกทม.

ฝ่ายค้านลุยไม่ไว้วางใจ

กลุ่มสะวิงโหวตชี้อยู่-ไป

แรงกดดันเทียบผู้ว่าฯกทม.

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตามกำหนดไทม์ไลน์ จะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

Advertisement

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566

พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องเน้นหนักทั้งเนื้อหาและสาระ รวมทั้งเป้าหมายตัวบุคคล ผ่านยุทธการ “เด็ดหัว นั่งร้าน” เพราะมุ่งอภิปรายไปที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ของพรรคที่เป็นแกนนำในซีกรัฐบาลเป็นหลัก

เบ็ดเสร็จเป้าหมายที่อยู่ในข่ายถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งสิ้น 10 คน จาก 3 พรรคร่วมรัฐบาล แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือ กลุ่ม 3 ป.

Advertisement

ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะที่รัฐมนตรีของพรรค พปชร. คือ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรค ภท. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค ปชป.

ประเด็นที่คาดว่าจะถูกอภิปราย คงไม่พ้น ความผิดพลาดล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมาตรฐานจริยธรรม ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์

ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือเรื่องที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายทักท้วงไว้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

เกมการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในครั้งสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566

กลยุทธ์ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินหน้ารุก คือ การชิงยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นการกดดันไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีการยุบสภา เพื่อหลีกหนี การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะมีกลุ่มการเมืองที่ยังเป็นตัวแปร

ยังไม่ชัดเจนถึงทิศทางการโหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) 16 เสียง ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.)

เป็นแกนนำ รวมทั้งกลุ่ม 16 ที่ยังจัดเป็นเสียงในกลุ่มสะวิงโหวต ที่ยังไม่รู้ว่าจะลงมติไปในทิศทางใด หากแกนนำรัฐบาลจะใช้ความมั่นใจเหมือนเดิม เช่นเดียวกับการลงมติพิจารณา

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มีเสียงรับหลักการผ่านฉลุย 278 เสียง ไม่รับหลักการ 194 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง คงต้องคิดใหม่

เพราะทั้งพรรค ศท.และกลุ่ม 16 ออกมาระบุผ่านจุดยืนว่าการลงมติญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะขอฟังการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งการชี้แจงของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายว่าสามารถหักล้างได้หรือไม่ ส่วนท่าทีและสัญญาณ ร.อ.ธรรมนัส ที่ออกมาระบุล่าสุดว่า ต้องดูสาระสำคัญของผู้ถูกอภิปรายว่า ถูกยื่นอภิปรายในประเด็นใดบ้าง อันไหนที่จัดว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ให้ผ่านแน่นอน และคุยกับ ส.ส. 16 คนของพรรค ศท.ในประเด็นนี้มาอยู่ตลอด และเท่าที่ดูบอกตามตรงว่าทุกคนที่มีชื่อถูกอภิปรายน่าเป็นห่วงหมด ยกเว้นเพียง พล.อ.ประวิตร

ยิ่งสัญญาณของ ร.อ.ธรรมนัส ออกมาระบุชัดเจนว่า การลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานเทียบเคียงเหมือนกับการลงมติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

หากกลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่ทำความเข้าใจให้รู้เรื่องก่อนลงมติ แล้วปล่อยให้มีการลงมติเป็นไปแบบฟรีโหวตอาจทำให้ผู้มีอำนาจสะดุดขาตัวเองเอาง่ายๆ

ยิ่งมีข้อเปรียบเทียบภาวะผู้นำในการบริหารกรุงเทพมหานคร ที่มี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. สร้างปรากฏการณ์ ในการเป็นผู้นำผ่านแนวคิด ทัศนคติ รวมทั้งการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนชาว กทม. เกิดความหวัง ความเชื่อมั่น พร้อมจะให้ความร่วมมือกับผู้ว่าฯกทม.ร่วมกันแก้ปัญหาใน กทม. จนมีบางกระแสเรียกร้องให้ “ชัชชาติ” ข้ามขั้น จากผู้ว่าฯกทม. ไปเป็นนายกรัฐมนตรีน่าจะเหมาะสมกว่า ข้อเปรียบเทียบและกระแสการเรียกร้อง ระหว่าง “ชัชชาติ” กับ ผู้บริหารประเทศ ในปัจจุบัน จะยิ่งถูกจับตาผ่านการชี้แจงข้อกล่าวหา

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หากผู้นำในฝ่ายบริหาร ยังชี้แจงข้อกล่าวหาได้ไม่ชัดเจนและไม่เคลียร์ต่อสายตาประชาชน กระแสตีกลับจะยิ่งพุ่งเป้าไปที่ตัวนายกฯ

ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร กับ บทบาทและการทำงานของผู้ว่าฯกทม. อย่าง “ชัชชาติ” มากยิ่งขึ้น ย่อมจะส่งผลต่อคะแนนนิยมทั้งต่อตัวบุคคลและพรรค พปชร.

หากคิดจะสนับสนุนผู้นำประเทศคนเดิมให้ได้ไปต่อในเก้าอี้ นายกฯ ผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่จะเผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก

หากยังไม่คิดปรับตัวและกลยุทธ์ทางการเมืองใหม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ย่อมเป็นไปได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image