ปริญญา ชี้คฝ. ยิงกระสุนยาง ผิดกติกา UN แนะบิ๊กตู่ อย่าให้มีครหา ใช้ตร.รักษาอำนาจตัวเอง

ปริญญา ชี้คฝ. ยิงกระสุนยาง ผิดกติกา UN แนะบิ๊กตู่ อย่าให้มีครหา ใช้ตร.รักษาอำนาจตัวเอง 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่ข้อเขียน เรื่อง การใช้กระสุนยางที่ไม่สอดคล้องกับกติกาของสหประชาชาติ ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

“แนวปฏิบัติของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (Guidance on less-lethal weapons in law enforcement) ได้กำหนดวิธีการใช้กระสุนยาง ไว้ที่ข้อ 7.5.2 ว่า

“Kinetic impact projectiles should generally be used only in direct fire with the aim of striking the lower abdomen or legs of a violent individual and only with a view to addressing an imminent threat of injury to either a law enforcement official or a member of the public”

แปลได้ความว่า “โดยหลักแล้วกระสุนยางควรใช้เฉพาะการยิงโดยตรงที่เล็งไปที่ท้องส่วนล่าง หรือขาของผู้ก่อความรุนแรง และเฉพาะเมื่อเห็นว่าจะเกิดภยันตรายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย หรือต่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดของสังคม”

ADVERTISMENT

ว่าง่ายๆ สหประชาชาติกำหนดเงื่อนไขในการใช้กระสุนยางไว้สองข้อคือ หนึ่ง จะต้องเล็งต่ำไปที่ท้องส่วนล่างหรือขา ของผู้ก่อความรุนแรง จะยิงส่งเดชไม่ได้ และ สอง ใช้กระสุนยาง เฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายที่กำลังเกิดกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายหรือประชาชน เท่านั้น

แต่การใช้กระสุนยางในการควบคุมฝูงชนที่ผ่านๆ มา และล่าสุดที่ดินแดงในช่วงสองวันนี้ จากภาพที่เห็นทางสื่อ เห็นได้ชัดว่ามีการยิงแบบประทับบ่าที่ไม่ได้เล็งต่ำหรือเล็งขา นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางของสหประชาชาติ ครับ

ADVERTISMENT

แน่นอนว่า ผู้ชุมนุมควรต้องชุมนุมโดยสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. ก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเช่นกัน เพราะหน้าที่คือ ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่ไปตีกับผู้ชุมนุม

ต้องไม่ลืมว่า คฝ.ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุม แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาก็ต้องใช้มาตรการที่ละมุนละม่อมที่สุด หรือรุนแรงน้อยที่สุดในการลดความรุนแรงลงมาจนสถานการณ์สงบลง ไม่ใช่เติมไฟเข้าไป และถ้าจำเป็นถึงขนาดต้องใช้กระสุนยาง ก็ใช้กระสุนยางได้ แต่ต้องยิงต่ำตามที่กล่าวไปข้างต้น

ถามต่อว่า แล้วใครต้องรับผิดชอบต่อการยิงกระสุนยางประทับบ่าแบบนี้ คำตอบคือ นอกจากท่าน ผบ.ตร.แล้ว ก็คือคนที่อยู่เหนือท่าน ผบ.ตร. ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรี เพราะ ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบในการบังคับบัญชาให้ คฝ. ใช้กระสุนยางโดยยิงต่ำ ไม่ใช่ผิดกติกาประทับบ่ายิงสูงอย่างนี้ครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อ ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมมาชุมนุมประท้วงท่าน ท่านจึงยิ่งต้องดูแลรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องในการควบคุมฝูงชน หาไม่แล้วจะกลายเป็นว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเครื่องมือในการปกป้องอำนาจตนเอง ดังที่คนจำนวนมากเข้าใจกันเช่นนั้นครับ”

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image