เดินหน้าชน : ครึ่งหลังยังน่าห่วง

เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวผ่านครึ่งแรกของปี บวกลบคูณหารแล้วต้องบอกว่าเป็น 6 เดือนที่ภาคธุรกิจ
และชาวบ้านสะบักสะบอมกันถ้วนหน้า ต้นทุนผลิต ค่าครองชีพของประชาชน พุ่งสูง ของแพง เงินเฟ้อ ขยับไปไกลเกินผลประกอบการ รายได้ จะตามทัน

ครึ่งปีหลังสถานการณ์ยังคงไม่แตกต่าง ซ้ำร้ายจะหนักข้อ

มีการตั้งสมมุติฐานเศรษฐกิจไทยขาลงลึกยิ่งขึ้นไปอีกในปัจจัยเสี่ยง

หนึ่ง สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์กันว่าอาจยาวนานไปถึงสิ้นปี

Advertisement

หนึ่ง ราคาน้ำมันดิบที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หนึ่ง ราคาดีเซลในประเทศทะยานสูง

หนึ่ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะเพิ่มภาระต้นทุนให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องแบกรับ

หนึ่ง การส่งออกที่แม้มีสัญญาณดีต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านวัตถุดิบสำคัญจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

หนึ่ง นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา และอาจต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้ 8 ล้านคน

หนึ่ง ค่าเงินบาทที่อาจอ่อนเกินกว่าคาด

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ภาวะเศรษฐกิจช่วงต่อจากนี้ ยังมีความวิตกกังวลทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน การขาดแคลนอาหารโลกที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศขณะนี้ ผู้คนจำนวนหลายร้อยล้านคนอาจต้องขาดแคลนอาหารปลายปีนี้

น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือราคาน้ำมันและพลังงาน หนึ่งในต้นเหตุหลักกดทับเศรษฐกิจไทย จากเดิมคาดว่าตลอดทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะนี้มีการปรับตัวเลขเป็น 110-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าจะทะยานไปถึง 135 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

น้ำมันดิบโลกที่ปรับขึ้นทุก 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น 0.25 สตางค์/ลิตร

แน่นอนว่าราคาขายปลีกเบนซิน ดีเซล ก๊าซหุงต้ม มีแนวโน้มไปต่อหลังจากนี้

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลไกหลักทั้งพยุงทั้งตรึงราคาเชื้อเพลิงเหล่านี้ ใช้เงินไปแล้วกว่า 9 หมื่น
ล้านบาทในครึ่งปีแรก กำลังใกล้ถังแตกเต็มที

ราคาพลังงานยิ่งเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีที่บอบช้ำอยู่แล้วทรุดลงไปอีก แม้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคธุรกิจการค้ากระเตื้องขึ้น เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ปัญหาคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเงินทุนหมดหน้าตักแล้ว

สำทับด้วยคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี แต่หลายประเทศที่ทยอยปรับกันไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็เตรียมปรับขึ้น ผลักดันให้ต้นทุนธุรกิจยิ่งเพิ่มสูง เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องเลิกกิจการ หลังจากล้มหายตายจากไปแล้วไม่น้อยในช่วงการระบาดโควิด-19 รุนแรง

มีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนถึงรัฐบาล เร่งออกมาตรการมาดูแลผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เสนอขอความช่วยเหลือในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน อาจเป็นวงเงินเริ่มแรก 5 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญของเรียกร้อง ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกกว่านี้ จากบทเรียนแม้มีเงินกองไว้แต่แตะไม่ถึงก็ไม่ได้ช่วยอะไร

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า หากสูตรแก้ไขยังอยู่ในรูปแบบเดิมๆ เห็นทีสถานการณ์ครึ่งปีหลังจะเงียบเหงาวังเวงยิ่งไปกว่าครึ่งแรก

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image