‘ดนตรีในสวน’ เสียงบรรเลง ซอฟต์เพาเวอร์
จากกระแสความนิยม “ดนตรีในสวน” 1 ใน 214 นโยบาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ที่ต้องการให้ กทม.เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง เพื่อให้ทุกคนมีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงศิลปินได้มีพื้นที่แสดงดนตรีและศิลปะการแสดง ประเดิมเวทีแรกที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ เมื่อเย็นวันที่ 4 มิถุนายน และอีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายน ที่สวนลุมพินี จนเกิดขยายวงกว้างไปสู่ลานสยาม ที่เปิดให้เยาวชนมาแสดงความสามารถ เล่นดนตรี ร้องเพลง โชว์ฝีมือว่าเด็กไทยนั้นมีความสามารถไม่แพ้ชาติไหนในโลก
ต่อมา เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปิ๊งไอเดีย สั่งการให้กรมกิจการพลเรือนทหารบก และกรมดุริยางค์ทหารบก (ดย.ทบ.) ใช้ศักยภาพทางดนตรีของกองทัพบก นำวงดุริยางค์ทหารบกไปบรรเลงขับกล่อม สร้างความสุขให้กับประชาชนที่มาออกกำลังกายและพักผ่อนในสวนสาธารณะ 2 แห่ง คือสวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย และสวนหลวง ร.9 เขตประเวศ ตลอดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ในช่วงเย็นวันหยุดสุดสัปดาห์ (วันศุกร์, เสาร์, อาทิตย์) เวลา 17.00-19.00 น.
มีทั้งการขับร้องและบรรเลงเพลง สร้างความผ่อนคลายในบรรยากาศสบายๆ ด้วยวงดนตรีหลากหลายแนว ทั้งคลาสสิก, แจ๊ซ, อาร์แอนด์บี, อินดี้ เริ่มบรรเลงเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน ณ สวนป่าเบญจกิติ โดยวงลินดา ซึ่งเป็นวงนักดนตรีหญิง, วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน เป็นการบรรเลงเพลงโดยวงอินดี้ ณ สวนหลวง ร.9 และวันอาทิตย์ 12 มิถุนายน เป็นวงไอรีน บรรเลง ณ สวนป่าเบญจกิติ ทำเอาโลกโซเชียลอำวุ่น ทบ. ว่าก๊อบปี้ ‘ผู้ว่าฯชัชชาติ’ อีกทั้งภาพที่ออกมามีคนฟังน้อยนิด บางตา ไม่ได้รับความนิยมเท่า ยิ่งทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาถึงความเหมาะสม หรือจังหวะไม่ได้ กระแสไม่เปรี้ยง อย่างไรก็ดี นายทหารอย่าง ‘บิ๊กบี้’ ยังคงสงบนิ่ง ดูเหมือนไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์เท่าไหร่นัก เนื่องจากต้องการบริการสังคม คืนความสุขให้ประชาชนที่มาออกกำลังกาย จึงเดินหน้าจัด ‘ดนตรี’ ต่อไป จาก กทม.ขยายไปยังต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัด อาทิ ดนตรีในสวนสไลด์อีสาน โดยมณฑลทหารบกที่ 21 (มทบ.21) ณ สวนน้ำบุ่งตาหลัวเฉลิมพระเกียรติ ร.9 สถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา และดนตรีริมโขง โดย มทบ.210 ณ ลานคนเมือง เส้นทางจักรยานริมฝั่งโขง จ.นครพนม ขณะที่ มทบ.27 จัด ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น
สำหรับดนตรีในสวนฉบับลายพรางไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่ ทบ.ทำมานานแล้ว โดย ‘เจ้ากรมเต๊ะ’ พล.ต.สรรค์พร ณ สงขลา เจ้ากรมดุริยางค์ทหารบก (จก.ดย.ทบ.) เล่าว่า การจัดดนตรีในสวนของ ทบ.จะมีวงดนตรีเล่นทั้งหมด 5 วงหมุนเวียนมาจัดแสดงดนตรี ได้แก่ วงอินดี้, วงสามล้อ, วงไอรีน, วงระลินทิพย์ และวงลินดา ซึ่งวันที่ 12 สิงหาคมนี้ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือวันแม่แห่งชาติ จะมีการแสดงดนตรีวงใหญ่เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองด้วย ดังนั้น ช่วงนี้หลังโควิดซาลงอยากให้ทุกคนออกกำลังกายในสวน พร้อมเชิญชวนให้มาฟังการบรรเลงดนตรีของกรมดุริยางค์ ทบ.
“ก่อนจะมีโควิด ทบ.ได้เล่นดนตรีที่สวนหลวง ร.9 สวนจตุจักร สวนลุมฯ และสะพานพระราม 8 มาหลายปีแล้ว มีการเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ในสวนสาธารณะ ไม่ได้เพิ่งมาเริ่ม ส่วนการจัดดนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วมีคนฟังบางตานั้น น่าจะเป็นช่วงสัปดาห์แรก ประชาชนยังไม่ทราบ ดังนั้น อยากให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย เชื่อว่าสัปดาห์ต่อไปน่าจะดีขึ้น โดยจะมีนักร้องรับเชิญ หรือดารานักแสดงมาร่วมแจม น่าจะทำให้คนสนใจมากยิ่งขึ้น” พล.ต.สรรค์พรมั่นใจว่าจะคึกคักกว่าเดิม
ด้าน ผศ.พิชชาณัฐ ตู้จินดา อาจารย์ภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ให้ความเห็นว่า การที่กองทัพบกจัดดนตรีในสวนขึ้นมานั้นก็เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐมีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่คำถามคือก่อนหน้านี้ทำไมถึงไม่มีความคิดที่จะทำเรื่องพวกนี้ออกมา หรือว่าทำแล้วแต่เราไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งเขามีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจนเรื่องดนตรีอยู่แล้ว ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล แต่ก็เป็นเรื่องดีที่เขากระตือรือร้นที่จะออกมาร่วมแจมกับทาง กทม. คงอาจจะเห็นทาง กทม.เป็นแรงบันดาลใจ มองว่ามันคงเป็นบรรยากาศของสังคม เพราะว่ากองทัพบกอาจจะเห็นเสียงตอบรับของประชาชนที่มันเบ่งบานรับกับนโยบายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และเห็นว่านี่คงเป็นกิจกรรมที่ดี ถ้าหากทำออกมาอาจจะเป็นการประชาสัมพันธ์กองทัพด้วย หรือทำให้เห็นว่าทหารก็เป็นมิตรกับประชาชนด้วย ไม่ได้ถือปืนอย่างเดียว แต่ยังถือเครื่องดนตรีออกมาเล่น
คงอยากจะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาทำให้บรรยากาศของสังคมมันออกมาดีขึ้นในช่วงนี้ โดยส่วนตัวไม่ทราบเลยว่ากองทัพจะแก้เกมอย่างไร ต้องไปถามเขาดูจะว่ามีวิธีการอย่างไร เพราะเราไม่ได้รู้ว่าเขาจะมีการแก้ปัญหาหรือไม่แก้ปัญหา ซึ่งพูดยากเพราะหน่วยงานราชการคือไปตามสั่ง เล่นตามสั่งแล้วจบตามระเบียบราชการ หรือไปแล้วต้องการผลตอบรับ ถ้าเขาต้องการผลตอบรับจากประชาชนหรือต้องการยอดผู้เข้าร่วมชมที่เป็นยอดจริงๆ เขาก็คงจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการ ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรี หรือการประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าเขาไปตามระเบียบราชการที่ถูกสั่งให้ไปก็อาจจะเล่นแบบไม่ได้สนใจผู้ฟัง คิดว่าการประชาสัมพันธ์มีส่วนอย่างมาก ถ้าการประชาสัมพันธ์ดี คิดว่าเดี๋ยวคนก็ติด หมายความว่าถ้าไปครั้งหนึ่งแล้วถูกใจ รู้สึกว่าเพราะและมีความสุข เขาก็คงจะไปอีก
แต่อีกเรื่องหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของแนวดนตรีที่เล่น ซึ่งไม่รู้ว่าทางกองทัพบกถนัดแนวไหน จริงๆ อยากให้แนวดนตรีที่ออกมาเล่นมีความหลากหลาย เพราะกรุงเทพฯประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่มคน ทั้งคนต่างจังหวัด และคนต่างจังหวัดก็มาจากหลายภูมิภาค คิดว่าคนที่ออกไปใช้บริการสวนสาธารณะไม่ได้มีแค่คนกรุงเทพฯอย่างเดียว ซึ่งความชอบของแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่เราเอาดนตรีแนวเดียวไปเสิร์ฟตลอดมันก็อาจจะได้กลุ่มคนแค่กลุ่มเดียว แต่กรุงเทพฯประกอบด้วยคนอีสาน อาจจะปรับเปลี่ยนเอาแนวหมอลำมาเล่น หรือประกอบด้วยคนภาคใต้ และโนราเพิ่งได้รับรางวัลมา ก็อาจจะเอาดนตรีโนรามาเล่น อาจเป็นดนตรีพื้นบ้านพื้นเมือง หรือแม้กระทั่งดนตรีไทยราชสำนัก คุณลองเอามาย่อยและลองมาเสิร์ฟให้คนกรุงเทพฯได้ฟังว่าจริงๆ แล้วดนตรีมันมีหลากหลาย และให้เข้ากับความหลากหลายของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างบรรยากาศของกรุงเทพฯให้มันน่าอยู่
“ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัดและอยู่กรุงเทพฯมาสิบกว่าปี ก็อยากจะให้เมืองของเรามีความเป็นอารยะ ซึ่งมันแสดงออกในหลายๆ ด้าน ด้านหนึ่งเชื่อว่ามันแสดงออกในเรื่องความมีศิลปวัฒนธรรมและความมีรสนิยมของคนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยจากภาครัฐในการบริหารจัดการ ประชาชนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวไม่สามารถทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นได้” ผศ.พิชชาณัฐแนะนำ
“ดนตรี” มีผลหลายมิติ ด้านหนึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ละเอียดอ่อน เสียงเพลงที่ขับกล่อมคนกรุงในพื้นที่สาธารณะต่างๆ จะส่งผลอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม