‘เซฟบางกลอย’ โวย 8 ปีทวงป่า ไม่ได้ป่า มีแต่คราบน้ำตาประชาชน ‘เฌอเอม’ ถือโทรโข่งร่วมจี้ 4 ข้อเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. บริเวณ Skywalk แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ภาคี Save บางกลอย จัดกิจกรรม ‘8 ปีทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ ?’ เพื่อชวนตั้งคำถามว่าคนเมืองได้อะไรจากนโยบายไล่คนออกจากป่า และการประกาศสิทธิเหนืออาณาเขตของชุมชนในเขตป่าที่อยู่มาก่อนเป็นเรื่องที่ชอบธรรมจริงหรือ ? โดยมีนางสาวชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ ‘เฌอเอม’ อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ร่วมด้วย

นายพชร คำชำนาญ ตัวแทนจากภาคี save บางกลอย กล่าวว่า ตนทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์มา 5 ปี ทำเรื่องที่ดินป่าไม้ ที่ภาคเหนือ และทำงานกับเครือข่ายประชาชน ‘พีมูฟ’ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งตลอดเวลาหลังการรัฐประหาร ตนเป็นคนเมืองคนหนึ่งที่เคยเห็นด้วยกับนโยบายทววคืนผืนป่า เข้าใจคนเมืองดีว่าคุณเห็นด้วย เพราะว่าการเอาพื้นที่ป่ามาเป็นเกราะกำบัง การอ้างพื้นที่สีเขียว ว่ามันเป็นปอดของคนทั้งประเทศ มันเป็นเรื่องที่หอมหวานมากสำหรับคนในเมือง แต่ในเบื้องลึก พอไปเห็นให้พื้นที่จริง ก็เห็นเลยว่าชาวบ้านเขาก็ถูกไล่รื้อ ยึดที่ดิน ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ ถูกดำเนินคดี แล้วข้อหามันหนักมากเป็นโทษทางอาญา บางคนโดนพ่วงด้วยโทศทางแพ่ง ซึ่งมันต้องเสียเงินเป็นแสนและเป็นชาวบ้าน อันนี้มันเป็นส่วนหนึ่ง

“พอเขาทวงคืนพื้นที่ได้ เขาเอาพื้นที่ไปปลูกป่า ซึ่งป่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริง หมายถึงว่า ป่าที่มีอยู่ตอนนี้มันเป็นป่าธรรมชาติ ไม่ได้เป็นป่าจากการปลูก ซึ่งหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ไทยไม่ได้มีความรู้ในด้านการจัดการป่าอยู่แล้ว มันก็เป็นเพียงแค่การแย่งยึดที่ดินเฉยๆ ไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่ป่า คือ พื้นที่มันมีคนอยู่มาก่อน บางชุมนุมประวัติศาสตร์เป็นร้อยปี อย่างบางกลอยชัดเจนมาก” นายพชรกล่าว

จากนั้นทางกลุ่มได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา รวมถึงตำรวจในพื้นที่ ว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้หรือไม่

Advertisement

ต่อมา ตัวแทนจากภาคีเซฟบางกลอย กล่าวแถลงการณ์ ความว่า

‘ผืนดินลุกเป็นไฟ ป่าเขาที่เคยร่มเย็นเข้าใกล้คำว่าขุมนรก หลังรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนวันที่ 14 มิถุนายน เมื่อ 8 ปีที่แล้ว รัฐบาลเผด็จการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” กล่าวอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่าจากนายทุน เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งได้มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรฯ หรือแผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ

Advertisement

นโยบายที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่ถูกรัฐประกาศทับ อันปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกินและถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี อยากชวนพวกเราตั้งคำถามกันสักนิด ว่าในกว่า 4 หมื่นคดีนั้น มีนายทุนและนักการเมืองอยู่ซักกี่คน เพราะเท่าที่เห็นก็มีแต่ประชาชนคนจนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องสูญสียที่ดินและตายทั้งเป็น กี่ชีวิตแล้วที่ต้องล่มสลายไป เพราะนโยบายเผด็จการ

พวกคุณเคยตระหนักหรือไม่ นโยบายขายฝันสวยหรูว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการทวงคืนผืนป่าให้คนในเมืองนั้น เป็นเพียงภาพมายาคติที่คนเมืองถูกรัฐหล่อหลอมและหลอกลวงให้เชื่อ กล่าวคือ พื้นที่ป่าที่รัฐไทยเข้าไปทวงคืนนั้นไม่ใช่ป่าบริสุทธิ์ผุดผ่องมาจากสวรรค์ หรือพระเจ้าองค์ใดประทานมาให้ แต่คือผืนดินที่มีผู้คนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจะถูกนิยามว่าเป็นป่าตามกฎหมาย เป็นการพรากสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นแนวคิดการประกาศสิทธิเหนืออาณาเขตที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดด้านความมั่นคง พวกมันยังคงล่าอาณานิคมดังเช่นยุคจักรวรรดินิยม รวมศูนย์อำนาจการปกครองพื้นที่ นอกจากเป็นมรดกบาปจากการรัฐประหาร คสช.แล้ว มันยังเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นอีกด้วย

ในวาระครบรอบ 8 ปีนโยบายอัปยศของรัฐบาลอัปยศ พวกเราขอประณามหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อิงแอบอำนาจเผด็จการทหารในการสร้างกฎหมายและนโยบายปกครองป่า และขอเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายภายใต้แผนการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด แล้วเปิดให้ประชาชนได้สร้างกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ในนามผู้ถูกกดขี่และผู้อยู่อาศัย ทำกินในเขตป่าที่รัฐประกาศทับด้วยตัวเอง

.
2. สภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบงบประมาณและแผนการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2566 ที่ยังคงปรากฏว่ามีแผนแม่บทป่าไม้ฯ จากปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งในการสนองความปรารถนาของชนชั้นปกครองที่อยากมีตัวเลขพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์

.
3. ต้องผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ที่เสนอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม โดยให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิชุมชน คดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน โดยใช้ระบบไต่สวนลูกขุนในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยการปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน

.
4. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวต้นเรื่องของแผนทวงคืนผืนป่าระลอกใหม่ ต้องลาออก และต้องเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อคืนสิทธิสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง

‘เราขอย้ำว่า 8 ปีทวงคืนผืนป่า คนเมืองไม่เคยได้ป่า มีแต่คราบน้ำตาประชาชน มันคือ 8 ปีแห่งความทุกข์ทวี หาใช่ความสุขตามที่เขาหลอกลวง และเรายืนยันว่าจะต้องถอดรื้อและปลดแอกมรดกของสงครามเย็นและมรดก คสช. ทั้งหมดออกจากกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ หลังจากนี้เราจักเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อทวงคืนผืนป่า และทวงคืนที่ดินสู่ราษฎรต่อไป’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image