ถกงบ ‘กรมควบคุมมลพิษ’ จัดซื้อเครื่องตรวจฝุ่น-สร้างสถานีวัดอากาศ 9 จว. รวม 61ล้านบาท

“กมธ.งบฯ 66 ” คาดพิจารณา ก.ทรัพย์ฯ จบวันนี้ ด้าน “กรมมลพิษ” จ่อ เปลี่ยนค่า AQI ยึดตามเมกาเป็นหลัก เริ่ม 1 มิ.ย. ปีหน้า ขณะที่ “องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกฯ” ตั้งเป้า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ปี 2608 พร้อมปล่อยคาร์บอนอย่างเดียว ปี 2593 เตรียม เสนอกม.เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ให้ครม.พิจารณา

เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 15 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ใช้เวลาในการพิจารณาไปแล้ว 5 วัน รวม 44 ชม. โดยพิจารณาเสร็จไป 1 กระทรวง 7 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 3.7 ที่ต้องพิจารณาทั้งหมด โดยวันนี้จะมีการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จำนวน 5 หน่วยงาน ซึ่งมีการพิจารณาถึงงบประมาณของกรมควบคุมมลพิษ โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับประสิทธิภาพการตรวจสภาพอากาศกับคุณภาพน้ำของหน่วยงาน

“โดยกมธ.บางคนสอบถามเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน แบบอัตโนมัติ สำหรับตรวจวัดภายนอกอาคาร จำนวน 7 เครื่อง ราคา 7 ล้านบาท และงบครุภัณฑ์สร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศใน 9 จังหวัด รวมเป็นงบประมาณ 61.2 ล้านบาท โดยมีการสอบถามว่า การวัดค่าฝุ่นละอองของเครื่องดังกล่าว มีกระบวนการในการวัดค่าฝุ่นอย่างไร และแตกต่างจากการวัดค่าฝุ่นละอองจากเว็บไซต์ของภาคเอกชนอย่างไร” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า เนื่องจากค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่ามาตรฐานที่ต่างกัน โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษได้ยึดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ข้อมูลคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์เอกชนยึดค่ามาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

Advertisement

ทั้งนี้หน่วยงานได้ทำการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้มีการปรับมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศจาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มิถุนายน 2566

นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณางบประมาณของโครงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก โดยกมธ.บางคน เสนอว่า ในการแก้ปัญหานี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียว มีราคาทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่าย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศบางส่วน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการดูดซับก๊าซเรือนกระจก

“ดังนั้นกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และทส. ควรทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาก๊าซเรือกระจก สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลกันระหว่างการรกษาสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ” นายเผ่าภูมิ กล่าว

Advertisement

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ผู้แทนขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกฯ ชี้แจงว่า หน่วยงานตั้งเป้าหมายว่า จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียวในปี พ.ศ. 2593 ทั้งนี้หน่วยงานพยามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ ร้อยละ 30 ในภาคพลังงาน โดยใช้นวัตกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (EV) และพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม และป่าไม้ รวมทั้งจะมีการออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น ซึ่งกำลังเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณา นอกจากนี้ วันนี้จะมีการพิจารณาหน่วยงานในสังกัดทส.ให้ครบทุกหน่วยงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image