บทนำ : ยื่นไม่ไว้วางใจแล้ว

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยประธานสภากล่าวว่า จะรับญัตตินี้ไปพิจารณาภายใน 7 วัน ซึ่งต้องตรวจสอบว่าญัตติมีความถูกต้องหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมมีร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณาอีกมาก และจะต้องหารือกับรัฐบาลว่ามีความพร้อมช่วงเวลาใด

รมต.ที่ถูกอภิปราย 11 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คลัง, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สำหรับช่วงเวลาการอภิปราย ฝ่ายค้านเห็นว่า ร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 24 มิถุนายน หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม การอภิปรายไม่ไว้วางใจน่าจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม

น่าจับตาว่า การยื่นญัตติและการลงมติครั้งนี้ จะเกิดวิกฤตถึงกับมีการเปลี่ยนนายกฯและ ครม.หรือไม่ เนื่องจากผลของการยื่นญัตติ ทำให้รัฐบาลยุบสภาไม่ได้ หากมีปัญหาในการลงมติ ถึงขั้นทำให้
นายกฯพ้นตำแหน่ง ก็จะต้องสรรหานายกฯใหม่ นอกจากนี้ รัฐบาลเองมีปัญหาเสียงสนับสนุน เนื่องจาก ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แยกตัวไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเล็ก การลงมติในสภาต้องมีการล็อบบี้เป็นครั้งๆ ไป แม้ว่า ส.ส.กลุ่มนี้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.กลุ่มนี้ระบุว่า ขอฟังการอภิปรายและการชี้แจงก่อน จึงทำให้ช่วงของการอภิปรายเป็นความล่อแหลมสำหรับรัฐบาล ซึ่งมีปัญหาเอกภาพภายใน จนเกิดเหตุการณ์ที่ ส.ส.รัฐบาลจะโหวตล้มนายกฯ เมื่อเดือนกันยายน 2564 มาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image