‘ชัชชาติ’ จ่อคุยสภาอุตฯ ตั้ง กรอ. ชี้ เมืองคือ ‘แหล่งงาน’ ต้องมี 4 ประสาน – TDRI พร้อมหนุน

‘ชัชชาติ’ จ่อคุยสภาอุตฯ ตั้ง กรอ. ชี้ เมืองคือ ‘แหล่งงาน’ ต้องมี 4 ประสาน – TDRI พร้อมหนุน

เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. วันที่ 16 มิถุนายน ที่ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา) กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมด้วย นายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน, นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. และนางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง ร่วมประชุม ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งอยู่ในเขตวังทองหลาง โดยมี นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ พร้อมนักวิจัยหลากหลายด้าน ร่วมให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้วย

ในช่วงท้าย นายสมเกียรติกล่าวว่า ทางทีมผู้ว่าฯ ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ก็ได้รับฟังเสียงประชาชน ได้รับทราบความต้องการของประชาชน จึงเกิดเป็นนโยบายต่างๆ ในฐานะสถาบันวิชาการ ก็จะส่งเสริมด้วยการเอานโยบายที่ประชาชนอยากจะได้นำมาสังเคราะห์ และหาข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ช่วยหาช่องในการทำให้นโยบายต่างๆ ที่คนกรุงเทพฯอยากได้ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง เราขอปวารณาตัวด้วยการร่วมมือกับ กทม. และยินดีกับคนกรุงเทพฯ ที่ได้ทีมผู้ว่าฯที่อยากทำงานกับประชาชน และภาคีต่างๆ

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า ทางทีม TDRI ก็จะจัดทีมเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ของ กทม. มีฝ่ายวิชาการมาช่วยท่านคิด ในเรื่องที่มีความตกลงรวมกัน เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

ในฐานะที่ทำเรื่องกรุงเทพฯมานาน มองความยากง่าย ในแต่ละเรื่องอย่างไร?

Advertisement

นายสมเกียรติเผยว่า โจทย์ของเมือง เป็นโจทย์ที่สำคัญและยากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นมหานครที่เป็นเมืองโตเดี่ยว เรียกได้ว่าโตกว่าเมืองอันดับ 2 ของประเทศไทย ประมาณ 10 เท่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เหมือนกับประเทศรายได้ปานกลาง คล้ายๆ กับเมืองไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ค่อนไปทางสูงก็จริง แต่สภาพการกระจุกตัวของเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ

“แปลว่า โจทย์ของกรุงเทพฯจะซับซ้อน ซึ่งการจะแก้โจทย์ได้ ต้องสร้างสรรค์ปัจจัยที่จะทำให้ทะลุไปได้

อย่างแรก คือ ส่วนร่วมของประชาชนที่ยากแก้ไขปัญหา และคิดว่า กรุงเทพฯโชคดีมากที่ได้ท่านผู้ว่าฯ ซึ่งทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับประชาชน ซึ่งเราจะมาร่วมมือกัน

Advertisement

2.ต้องใช้ความรู้และข้อมูลในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ตรงนี้ TDRI ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ
3.เจตจำนงทางการเมือง (Political View) ทีมท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้มาจากแคนดิเดตประชาชน เข้ามาแก้ปัญหา ท่านก็มีสโลแกนชัดเจน ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ผมคิดว่านี่คือหัวใจสำคัญ เรียกได้ว่าอยู่ในวิสัยที่เราจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่ยากได้ เราคงรับประกันไม่ได้ว่าเราแก้ได้ทุกปัญหา แต่ผมคิดว่าความร่วมมือ และสปิริตต่างๆ ที่ทีมท่านผู้ว่าฯได้เริ่มขึ้นมานี้ จะเป็นจุดเริ่มในการนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ” นายสมเกียรติกล่าว และว่า

“กว่าจะมีโปรเจ็กต์ มีความร่วมมือกัน การไปเชื่อมโยงกัน ไปคุยกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

ขณะที่ นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องขอบคุณ ดร.สมเกียรติ และทาง TDRI อย่างมาก ตนคิดว่านโยบายของเราอาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่ ถ้าทาง TDRI มีข้อเสนอแนะ-ติชมอย่างไร เรายินดีน้อมรับ เพราะสุดท้ายแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“ขอให้เราร่วมมือกัน เราเห็นมิติของความร่วมมือ แล้วผมมองว่า เป็นมิติความหวังของกรุงเทพฯ มาร่วมมือกัน เดินหน้าไปด้วยกัน ความจริงแล้ว กทม.เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่พลังจริงๆ แล้วอยู่ที่นอก กทม. อยู่ในภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน ที่มาร่วมมือกัน สุดท้ายเราจับมือกันแล้ว ผมเชื่อว่าเราสามารถจับมือกันเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้จริงๆ ขอบคุณทาง TDRI มาก” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า กระบวนการของโปรเจ็กต์ TDRI จะไปต่ออย่างไร ในรูปแบบไหน ล้อกันไปอย่างไรกับ กทม.?

นายชัชชาติระบุว่า ข้อดีคือ เรามีโครงการชัดเจน แล้วแต่ละโครงการเราชวน TDRI มาเริ่มได้เลย

“อย่างปฏิรูปการศึกษา 29 โครงการ ก็เชิญแล้วว่าสนใจอันไหน เรื่อง One Stop Service ปรับปรุงใบอนุญาต เริ่มได้เลย ประเด็นคือ เรามีแผนดำเนินการโครงการชัดเจน แต่ละแผน TDRI ก็อาจจะมีประสบการณ์ที่ตรงอยู่ ก็เอามาร่วมได้เลย อย่างเรื่องป้ายรถเมล์ แยกขยะ เรื่องการศึกษา เรื่องการทำโรงเรียนที่มีคุณภาพ เป็นโครงการซึ่งสามารถเดินหน้าได้เลย เดี๋ยวจะมีคณะทำงานย่อยมาดูรายละเอียดกัน TDRI สามารถให้ฟีดแบ๊กได้ทุกโครงการ อาจจะไม่ได้ร่วมมือทำ แต่ให้ความเห็นได้ว่าโครงการนี้ควรต้องเริ่มอะไร มีอะไรที่เป็นจุดอ่อนอยู่ ซึ่งตรงนี้เราน้อมรับ และยินดีที่จะได้ความเห็นจากนักวิชาการด้วย เพราะท่านมีประสบการณ์และทำมาเยอะ” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า แล้วเราจะเห็นเป็นรูปธรรมได้เมื่อไหร่?

นายชัชชาติกล่าวว่า ตนว่าเริ่มได้เลย อย่างที่บอก 216 แผนของเรา ต้องมีความคืบหน้าเลย ความจริงทุกอย่างต้องเริ่มดำเนินการแล้ว อย่างเรื่องง่ายๆ ปลูกต้นไม้ 1,000,000 ล้านต้น เราก็เริ่มดำเนินการแล้ว เรื่องใบอนุญาต จากนี้ไปก็จะคุยกับ TDRI ว่าจะเริ่มอย่างไร ซึ่งทาง TDRI ก็เสนอเพิ่มมา

“อย่างการทำแซนด์บ็อกซ์ ของ Road Safety ซึ่งอาจเป็นโครงการที่ 217 ก็ไม่เป็นไร เราก็เริ่มโครงการนี้เข้ามา ไว้ในแผน เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า แผนไหนที่ TDRI เข้ามาร่วมกันทำ ร่วมให้ความเห็น มีหลายรูปแบบ แต่เชื่อว่ารูปธรรมเกิดขึ้นแน่นอน และจะเป็นโครงการที่เราเดินหน้าร่วมกันต่อไป” นายชัชชาติชี้

นายชัชชาติกล่าวเสริมอีกว่า ตนว่า มี 4 เกลียวประสาน คือ กทม.เป็นตัวหนึ่ง มีประชาชน ภาควิชาการ และภาคเอกชน ทั้ง 4 ตัว ถ้าเกิดเป็นเกลียว จะเป็นเชือกที่มีความแข็งแรงและเหนียวแน่น

“เราต้องพยายามหาความร่วมมือต่างๆ วันนี้มาทางฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาชน พรุ่งนี้จะได้ไปสภาอุตสาหกรรม จะไปคุยเพื่อดูว่า เราจะร่วมมือกันได้อย่างไร สุดท้าย ถ้า 4 เกลียวประสาน เชื่อว่า อะไรก็ทำได้ ถ้าเราร่วมมือกัน”

เมื่อถามถึงความตั้งใจที่จะไปหน่วยงาน สภาอุตสาหกรรม ต้องการดูโครงการอะไรเป็นพิเศษ?

นายชัชชาติเผยว่า ตนคิดว่า อยากจะตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) สาขากรุงเทพฯ ถามว่าเมืองคืออะไร ความจริงแล้ว ‘เมือง’ คือ ‘แหล่งงาน’ ถ้าไม่มีงานเราก็ไม่มีเงิน เรามาอยู่กับเงินก็ต้องการหางาน ดังนั้น ภาคเอกชนมีส่วนในการสร้างงาน เมืองจะพัฒนาได้ จะต้องสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับเมืองได้อย่างไร เพื่อดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาในเมือง

“เราพยายามประสานทุกหน่วย ทั้งวิชาการ เอกชน และ กทม. แม้ยังไม่มีโจทย์ที่ชัดเจน แต่เราเชื่อว่า ภาคเอกชนก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง สร้างงานให้เมือง ถ้าเราไปคุยปัญหาเขา ตอบโจทย์เขาได้ สุดท้ายก็จะก้าวเดินไปด้วยกันได้” นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้าย

ก่อนจับมือกับ นายสมเกียรติเพื่อแสดงออกถึงการประสานความร่วมมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image