‘ภาคเอกชน’ วิพากษ์ ศบค.เคาะสีเขียวทั่วปท.

หมายเหตุความเห็นของภาคเอกชนถึงมติของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบปรับเป็นสีเขียวทั้งประเทศ สามารถมีกิจการกิจกรรมผ่อนคลายได้เต็มที่ อาทิ ให้ถอดหน้ากากอนามัยได้หากอยู่คนเดียวในพื้นที่ไม่แออัด ให้เปิดบริการร้านจำหน่ายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นปกติ สถานบันเทิงเปิดบริการได้ และยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส โดยเริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

มติผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ถือเป็นการกระตุ้นและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 เนื่องจากตอนนี้เห็นหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการคุมเข้าโควิด-19 สูงมาก รวมถึงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเกือบปกติแล้ว ทำให้ประเทศไทยที่อยู่ในขั้นตอนเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ก็ควรต้องผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะระบบไทยแลนด์พาส ที่รัฐบาลยกเลิกไปนั้น ถือว่าช่วยได้มากทั้งในด้านจิตวิทยาและการปฏิบัติจริง เนื่องจากที่ผ่านมาระบบไทยแลนด์พาส ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สร้างอุปสรรคในการเดินทางเข้าไทยสูงมาก

Advertisement

ส่วนการผ่อนคลายไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้งและในอาคาร แต่แนะนำให้ยังคงสวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่คนแออัดนั้น เชื่อว่าสามารถเข้าใจได้ เพราะปกติแล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากเข้ามาไทยมักเที่ยวพักผ่อนในแหล่งท่องเที่ยวเปิดกว้าง และส่วนใหญ่ก็มองว่าการใส่หน้ากากอนามัยสร้างความไม่สะดวกในการท่องเที่ยวพอสมควร อาทิ นักท่องเที่ยวชาวยุโรป ที่ประเทศต้นทางไม่ได้มีการกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมาเที่ยวไทยก็ไม่ได้ต้องการสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากมองว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยแล้ว

เมื่อมีการผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ เริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ มองว่าคงเป็นแรงส่งในไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม-กันยายน) เป็นต้นไป เพราะในไตรมาส 2 นี้ เหลืออีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น บวกกับการผ่อนคลายก็ไม่ได้เริ่มต้นในไตรมาสนี้ด้วย โดยสิ่งสำคัญที่สุด นอกเหนือจากการเตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยแล้ว ยังต้องประเมินความพร้อมของประเทศต้นทางด้วย ทั้งจำนวนสายการบิน ความสามารถในการเดินทางท่องเที่ยว และความสะดวกในการเดินทางออกนอกประเทศของพลเมือง เพราะหากต่างชาติยังไม่มีเวลาท่องเที่ยว หรือมีเงินเที่ยวน้อยลง การผ่อนคลายก็คงไม่ได้เอื้ออานิสงส์เชิงบวกมากนัก

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เราคาดหวังได้ในปี 2565 หลักๆ คือ อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมซาอุดีอาระเบีย อาเซียน และตลาดยุโรป แต่ยุโรปน่าจะได้เห็นเข้ามาเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีเพราะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของชาวยุโรปแล้ว

Advertisement

สำหรับขั้นตอนการเดินทางและเงื่อนไขในการเข้าประเทศ มองว่าแทบจะเหมือนปกติแล้ว ทำให้ไม่น่า
จะมีเหตุผลอะไรที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่เลือกเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแล้ว จึงคาดว่าภาคการท่องเที่ยวไทย จะทยอยปรับฟื้นตัวขึ้นแบบดีวันดีคืน โดยขณะนี้เห็นการเดินทางผ่านท่าอากาศยานอยู่ที่ 21,000-22,000 คนต่อวัน จึงคาดว่าในไตรมาส 3 เป็นต้นไป จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย เพิ่มขึ้นอีก 10% ต่อวัน จำนวนอยู่ที่ 24,000-25,000 ต่อวัน ซึ่งมองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้สูงและหากมองไปยังไตรมาส 4 นี้ เชื่อว่าจะดีกว่าทุกไตรมาสที่ผ่านมาแน่นอน ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น โดยคาดว่าทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาที่ 5 ล้านคน มีความเป็นไปได้มาก และสูงสุดที่ 7 ล้านคน ซึ่งมองว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สามารถทำได้แบบสบายๆ ไม่กดดันมากนัก

ส่วนเมื่อผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้ว มีความกังวลในโรคระบาดดังกล่าวและโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้เราเชื่อมั่นในด้านสาธารณสุขไทย ที่หากแพทย์บอกว่ามีความปลอดภัยแล้ว เราเชื่อว่าน่าจะเป็นจุดที่ปลอดภัยจริงๆ และไม่ได้มีความกังวลมากนัก เพราะผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญยืนยันแล้วว่ามีความปลอดภัยจึงเชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ต่อไปได้

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุโรปสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ประเมินว่าการผ่อนคลายดังกล่าวจะเป็นบวกกับภาคการท่องเที่ยวไทยแน่นอน เพราะรายได้ที่คาดหวังในครึ่งหลังของปี 2565 จะอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวล้วนๆ ที่เป็นตัวมาเติมเศรษฐกิจไทย เพราะภาคการส่งออกทำได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในส่วนของกำลังการผลิต และวัตถุดิบที่มีอยู่ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวเข้ามาเติมรายได้หมุนเวียนในประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถทำได้ดีมากน้อยเท่าใด โดยมาตรการผ่อนคลายที่เกิดขึ้น ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะหลายประเทศทั่วโลกมีการปลดล็อกและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สูงมากแล้ว ซึ่งเงื่อนไขของไทย โดยเฉพาะไทยแลนด์พาส ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีมากในการลดภาระของผู้เดินทาง และในหลายประเทศก็ผ่อนคลายการตรวจตราเหล่านี้แล้ว บางประเทศถึงกับไม่มีการตรวจใบรับรองฉีดวัคซีนด้วย เพราะถือว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ จึงมองว่าไทยมาถูกทางแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ยิ่งในภาวะเงินเฟ้อตอนนี้ทำให้ประชาชนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหยุดมากว่า 2 ปีแล้วจะต้องพยายามให้เขาหารายได้เองได้

เมื่อมีการผ่อนคลายเกิดขึ้นถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี แต่เนื่องจากว่าเรากำลังอยู่ในช่วงที่เพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนตัวอยู่ ทุกภาคส่วนยังไม่สามารถหารายได้มากกว่าปกติได้ เพียงแต่อย่างน้อยที่สุด เราสามารถกลับมาทำงานได้ เริ่มมีรายได้กลับเข้ามา แต่เรื่องใหญ่คือภาวะเงินเฟ้อ ทำให้สินค้าและบริการปรับขึ้นสูงมาก ทำให้มาตรการช่วยเหลือเยียวของภาครัฐ ในด้านช่วยเพิ่มกำลังซื้อ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง หากยังสามารถทำออกมาได้ ก็ควรต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้อยู่ และคาดหวังว่าเมื่อสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้น จะมีเม็ดเงินในส่วนนี้เข้ามาเสริมอีกทาง

การผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น ภาคบริการก็จะเริ่มมีรายได้จากตรงนี้มากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในช่วงแรกๆ จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง เพราะการเที่ยวตอนนี้ไม่ได้มีราคาถูกแน่นอน ทำให้การใช้จ่ายต่อหัวในตอนนี้จะมากกว่าปกติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะตรงกับภาคบริการส่วนใด ส่วนนั้นก็จะได้ประโยชน์ และได้กำลังซื้อกลับคืนมา

ภาวะเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่เจอด้วยกันทั่วโลก เพราะเกิดจากราคาน้ำมันแพง เป็นต้นเหตุดันให้ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น โดยไทยยังมีเครื่องมือในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้ออยู่ โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน แต่ยังไม่อยากให้ใช้เร็วมากนัก เพราะส่งผลกระทบกับอีกด้านหนึ่ง อาทิ การปรับขึ้นดอกเบี้ย หากจะต้องขึ้นก็อยากให้ยืดระยะการขึ้นช้าที่สุด เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะกระทบกับต้นทุนทั้งหมด ส่งผลต่อภาคการผลิต การลงทุนทั้งหมด เนื่องจากถือเป็นต้นทุนของเงิน โดยเฉพาะเงินกู้ ที่นับตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 เราก็มีปัญหาเยอะมากอยู่แล้ว

ความสามารถในการชำระหนี้จะยิ่งยากมากเข้าไปอีก ซึ่งเรากังวลปัญหาส่วนนี้มากที่สุด

จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนสายพัฒนาธุรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

มติ ศบค.ครั้งนี้ที่หวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักมากขึ้นเพื่อช่วยผลักดันทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้นั้น หากมองตามความเป็นจริง นักท่องเที่ยวจะกลับมาสักครึ่งหนึ่งของสถานการณ์ปกติยังทำไม่ได้ อีกทั้งที่อยากให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากตอนนี้ เรื่องความปลอดภัยในประเทศยังมีไม่สูง แม้มีการปลดล็อกให้การเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น แต่ด้านความรู้สึกยังคงมีความกังวลต่อการแพร่ระบาด
ของเชื้อโรค อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังไม่ได้อยู่ในระดับอู้ฟู่ เนื่องจากหลายประเทศมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ นักท่องเที่ยวจึงยังระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

รวมถึงต้องติดตามดูจำนวนนักท่องเที่ยวพื้นฐานที่เข้ามาในประเทศเป็นหลัก เช่น นักท่องเที่ยวจากจีนว่ามีจำนวนเข้ามาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากประเทศจีนยังมีมาตรการล็อกดาวน์บางมณฑล และคาดว่าทางการจีนยังคงกำชับให้ประชาชนภายในประเทศออกนอกประเทศได้เพียงบางส่วน หรือถ้าแย่ที่สุดคือปีนี้อาจไม่ได้นัก
ท่องเที่ยวจากจีนเลย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2565

ดังนั้น ในระหว่างนี้สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือแรงกระตุ้นการอยากท่องเที่ยวของประชาชน ระดับความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดต่อการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจัยเงินเฟ้อมีแรงกระทบมาก ทำให้ค่าครองชีพเพื่อดำเนินชีวิตในปัจจุบันต้องใช้เงินสูง ประชาชนจึงกังวลเรื่องการใช้เงินมากขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยหลักฉุดรั้งให้เศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดังนั้น ปัญหาหลักหากรัฐแก้ปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศได้ เศรษฐกิจที่ชะลออยู่อาจขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยสรุปภาคการท่องเที่ยวหรือการใช้จ่ายด้านสันทนาการจะลดลง ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้มากในระดับใด ในทางกลับกันสำหรับแง่ดีก็คือการปลดล็อกมาตรการของ ศบค. ที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเข้ามามาก เนื่องจากลดความยุ่งยากในขั้นตอนดำเนินการมากขึ้นและเป็นมุมมองที่ดี เนื่องจากไทยส่งสัญญาณพร้อมเปิดประเทศ

แต่ขณะนี้ประเด็นที่เพิ่มเข้ามาคือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงไม่มากนัก เนื่องจากดอกเบี้ยที่เฟดขึ้นนั้น มันคือดอกเบี้ยบนเงินกู้ที่เป็นรูปดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีเงินกู้ต่างประเทศไม่สูงมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของต้นทุนในการประกอบธุรกิจไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก แต่อาจมีผลกระทบช่วงระยะสั้น หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม อาจทำให้เงินลงทุนย้ายออกไปลงทุนต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาก เนื่องจากเกิดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐห่างกันมากยิ่งขึ้น

การที่เงินบาทอ่อนค่าลงจะกระทบถึงต้นทุนการนำเข้า ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สินค้านำเข้าสำคัญคือพลังงานจะมีราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลถึงเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกถ้ายังดีต่อเนื่องจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก หากตัวเลขการส่งออกน้อยกว่านำเข้าจะทำให้ไทยเสียประโยชน์

การที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจะไม่ส่งผลดีมากนักจากช่วงอดีตที่ผ่านมา แม้ไทยนำเข้าแล้วขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ภาคการท่องเที่ยวจะมาช่วยหนุนให้อยู่สภาวะเกินดุล แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ การที่บาทอ่อนค่าก็ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image