บทนำ ข้อมูล ส.ว.
เฟซบุ๊ก iLaw เสนอเรื่องราวทางวิชาการกฎหมาย ได้เผยแพร่เนื้อหาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พบว่าแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่าครึ่งร้อย ทั้งแต่งตั้งทางตรง หรือนำไป “ฝากเลี้ยง”กับ ส.ว.คนอื่น ยังพบคนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจกว่าครึ่งพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคสช.และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอีกหลายคน เรียกได้ว่าการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเพื่อมารับค่าตอบแทนรายเดือนยังคงทำเป็น “อุตสาหกรรม” ขนาดใหญ่ เพียงแต่ซ่อนรูปอยู่ใน ส.ว.แต่งตั้ง ที่เครือญาติคนรู้จักยังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลอยู่เช่นเดิม
ไอลอว์ระบุอีกว่า ส.ว.ได้เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวม 113,560 บาท เท่ากับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ค่าตอบแทนนี้ยังไม่รวมเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการอื่นๆ และตั้งคณะทำงานได้อีกสามตำแหน่งรวมแปดคน ได้ 1.ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาท 2.ผู้ชำนาญการประจำตัวมีได้
2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน 3.ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวมีได้ 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง พ.ค.2565 ค่าใช้จ่ายสำหรับตอบแทน ส.ว.และคณะทำงาน รวมแล้วเป็นเงิน 2,230,569,000 บาท (อ่านรายละเอียดได้ในเฟซบุ๊ก iLaw)
ที่มาของ ส.ว.มีทั้งเลือกตั้งทางอ้อม ที่มากกว่าคือแต่งตั้ง การเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรงครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 ครั้งต่อมาในปี 2549 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป 2540 และโดนโจมตีอย่างหนักว่าเป็นสภาผัวเมีย หลังรัฐประหาร 2549 รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ลดจำนวน ส.ว.เลือกตั้งเหลือครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งมาจากสรรหา มีการเลือกตั้ง ส.ว.ในปี 2551 และ 2557 จากนั้นเกิดรัฐประหาร 2557 หลังรัฐประหาร บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มี ส.ว. 250 คน จากการดำเนินการของ คสช.และให้มีอำนาจลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีด้วย ข้อมูลจากไอลอว์สะท้อนจุดอ่อนของสภาที่มาจากแต่งตั้งอย่างชัดเจนและน่าเป็นห่วงในแง่ประโยชน์สาธารณะ ตามหลักการประชาธิปไตย ดังที่วางหลักไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป 2540 ส.ว.ควรมาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีความโปร่งใส พร้อมให้ประชาชนตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ที่สำคัญคือมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมิใช่ต่อผู้ที่ผลักดันให้ได้รับการแต่งตั้ง