ส.ส.พปชร.ห่วงปัญหาปุ๋ยแพง สงสัยประสิทธิภาพการทำงาน ‘พาณิชย์’ หวั่นจบเหมือนแมสก์-หมู
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุถึงปัญหาปุ๋ยแพง พร้อมหวังว่ารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จะมีนโยบายที่ชัดเจนและเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกรไทย
“วันอาทิตย์แบบนี้ ใช้เวลาช่วงกักตัวอ่านข้อความในเฟซบุ๊กที่ส่งเข้ามา นอกจากเรื่องของราคาน้ำมันที่หลายๆ คนพูดถึง ยังมีพี่น้องประชาชนส่งข้อความกันมากคือเรื่อง ‘ราคาปุ๋ยแพง’ ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ตัวดิชั้นเองพอมาอ่านข่าวต่างๆ ก็ยังสงสัยว่าทำไมผู้ที่รับผิดชอบของรัฐบาลถึงไม่ได้พูดถึง ถึงการแก้ปัญหาในเรื่องนี้
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีที่ตั้งแต่วิกฤตสถานการณ์โควิด หลายๆ ประเทศขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยเราไม่เคยขาด และยังเป็น foodbank ที่หลายๆ ประเทศหมายปอง ประชากรในประเทศไทยประมาณ 8 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 30 ล้านคน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นั่นหมายความว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่าภาคอื่นๆ เราผลิตสินค้าการเกษตรเผื่อบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งทางกระทรงเกษตรออกมาให้ข่าวว่า GDP ภาคเกษตร Q3/64 โต 6.5% ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีนะคะ
“แน่นอนค่ะว่าราคาต้นทุนของปุ๋ยที่สูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิต และที่น่าตกใจก็คือราคาปุ๋ยวันนี้สูงไปถึงกระสอบละ 2,000 บาท!!!!
“‘ปุ๋ย’ เป็นวัตถุดิบสำคัญของเกษตรกร ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ต้องใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชเจริญเติบโต งอกงาม ปุ๋ยคิดเป็นต้นทุนประมาณ 19-20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
“ประเทศไทยต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ปีละ 5 ล้านตัน ราคาปุ๋ยในตลาดโลกพุ่งขึ้นมากกว่า 100% ซึ่งปัญหาปุ๋ยแพง สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ คือสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนพลังงานและสินค้าทุกอย่างแพงขึ้น
“รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องหามาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ว่าปัญหาปุ๋ยแพง ดิชั้นยังไม่เห็นทางกระทรวงพาณิชย์ลงมือทำอะไรสักอย่างที่จะเป็นการช่วยผ่อนหนักเป็นเบา บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน มีแต่การแถลงข่าวให้สัมภาษณ์ว่าขอความร่วมมือจากผู้นำเข้าให้ตรึงราคาปุ๋ย แต่ในที่สุดก็ยอมให้ขึ้นราคา โดยอ้างว่าถ้าไม่ให้ขึ้นราคา ผู้นำเข้าจะไม่สั่งปุ๋ยเข้ามาขาย ทั้งๆ ที่ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุม
“มาถึงตรงนี้ดิชั้นเริ่มไม่เเน่ในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้มีบทบาทในการควบคุมสินค้าว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะที่ผ่านพอเกิดวิกฤตต่างๆ เรื่องทุกอย่างกลับมาแดงที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนอนากากอนามัย กักตุนหมูทำให้ราคาหมูแพง แล้วยังมาถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอีก
“ไม่อยากจะเห็นเรื่องปุ๋ยแพงจบเหมือนเหตุการณ์หน้ากากอนามัยและหมูแพงที่เหมือนจะทำเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มคนบางคนของตัวเอง?? แต่ทั้งหมดมันคือความเดือนร้อนของประชาชน
“ปัญหาปุ๋ยแพงจะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี และมีแนวโน้มจะแพงขึ้นไปอีก หากสถานการณ์ในยูเครนยังยืดเยื้อต่อไป ซึ่งหวังว่าจะเห็นท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายที่ชัดเจนและเร่งด่วน ดิชั้นเป็นห่วง หากวันนึงเกษตรกรซื้อปุ๋ยไม่ไหว การผลิตลดลง ใครล่ะจะเป็นผู้รับผิดชอบ #ปุ๋ยแพง #ใครล่ะจะรับผิดชอบ #เกษตรกรไทย”