‘ปริญญา’ เขียนเทียบ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ สมรสเท่าเทียม เราควรเลือกแบบไหน

‘ปริญญา’ เขียนเทียบ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ สมรสเท่าเทียม เราควรเลือกแบบไหน 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง สมรสเท่าเทียม กับ คู่ชีวิตจดทะเบียน ต่างกันอย่างไร เราควรเลือกแบบไหน? แสดงความเห็นกรณีสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการในวาระ1 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่างกฏหมาย สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร พร้อมกับร่าง พรบ.คู่ชีวิต ซึ่งมีหลายฉบับนั้น นอกจากประเด็นว่า ยังมีด่านวาระที่สอง และวาระที่สาม และด่านวุฒิสภาแล้ว ยังมีประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กับร่าง พรบ.คู่ชีวิต หลักการเป็น คนละเรื่องกัน ครับ

หลักการของสมรสเท่าเทียม (marriage equality) คือ การให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ (same-sex marriage) อย่างเท่าเทียมกับคนต่างเพศสมรสกัน ส่วนหลักการของ ร่าง พรบ.คู่ชีวิต คือ คนเพศเดียวกันที่ต้องการจะสมรสกันจะทำได้แค่ จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต (registered partnerships) เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่สองสิ่งนี้ที่แตกต่างกันในหลักการจะผ่านมาเป็นกฎหมายด้วยกันได้

ในการตัดสินใจว่าเราควรจะเลือก “สมรสเท่าเทียม” คือ ให้คนทุกเพศเท่าเทียมที่จะสมรสกัน หรือจะเลือก “คู่ชีวิตจดทะเบียน” คือให้การสมรสเป็นสิทธิของคนต่างเพศกันเท่านั้นต่อไป หากเป็น เพศเดียวกันจะทำได้เพียงจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาดังต่อไปนี้ครับ

Advertisement

1.ประเทศแรกที่ให้ คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ โดยเท่าเทียมกับคนต่างเพศสมรสกัน คือประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้มีการออกกฎหมายในปี พ.ศ.2543 และมีผลบังคับใช้ในปีถัดมา ก่อนหน้านั้นคนเพศเดียวกันทำได้เพียงแค่ จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ซึ่งประเทศแรกที่ทำคือประเทศเดนมาร์กในปี พ.ศ.2532 ซึ่งมีสถานะทางกฎหมาย ด้อยกว่าการสมรส หลายประการ

เมื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ให้คนเพศเดียวกันเท่าเทียมกับคนต่างเพศในการสมรสกันแล้ว หลังจากนั้นประเทศต่างๆ ที่เคยให้แค่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ก็เริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นสมรสเท่าเทียม จนในปัจจุบันมีทั้งหมด 31 ประเทศ โดยประเทศล่าสุดคือสวิสเซอร์แลนด์

2.การสมรสเป็น สถานะทางกฎหมาย จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการ จดทะเบียนกัน โดยก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างคนสองคนที่สมรสกัน ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ สิทธิในทรัพย์สิน พอจดทะเบียนสมรสกันแล้วกฎหมายจะถือว่า สองคนที่สมรสกันเป็นคนเดียวกัน บรรดาทรัพย์สินที่ได้มาไม่ว่าใครจะหามา จะถือเป็น สินสมรส ที่ทั้งคู่เป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าหย่ากันแล้วตกลงกันไม่ได้ กฎหมายก็จะให้แบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง

Advertisement

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือการ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องครอบครัว จากให้เฉพาะคนต่างเพศคือชายกับหญิงเท่านั้นที่สมรสกันได้ ก็แก้ไขให้ เพศเดียวกันหรือเพศใดๆ สมรสกันได้ ซึ่งแตกต่างจาก ร่าง พรบ.คู่ชีวิต ที่ไม่ได้ไปแตะต้องอะไรในประมวลกฎหมายแพ่ง คือให้การสมรสเป็นเรื่องชายกับหญิงเท่านั้นต่อไป หากเพศเดียวกันอยากจะสมรสกันจะให้เป็นได้แค่ “คู่ชีวิตจดทะเบียน” ดังที่เดนมาร์กเริ่มทำในปี พ.ศ.2532 ซึ่งเดนมาร์กและประเทศต่างๆ ที่เคยให้เพศเดียวกันเป็นได้แค่คู่ชีวิตจดทะเบียน ก็เปลี่ยนเป็นให้สมรสเท่าเทียมกันทั้งนั้นแล้ว

3.ในเรื่องประเด็นทางศาสนานั้น เราต้องเข้าใจว่า การสมรส กับ การจัดพิธีสมรส หรือพิธีแต่งงาน เป็นคนละเรื่องกัน ตามกฎหมายแพ่งฯ จะต้องมีการจดทะเบียนกันจึงเป็นการสมรส ไม่ว่าจะมีการจัดพิธีแต่งงานหรือไม่ หรือจัดอย่างไร ไม่สำคัญเลย ต่อให้จัดพิธีแต่งงานใหญ่โต มีผู้นำทางศาสนาทำพิธีให้ แต่ถ้าไม่ไปจดทะเบียนกัน กฎหมายก็ไม่ถือว่ามีการสมรสกัน

สมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องกฎหมาย ส่วนการทำพิธีสมรสนั้นไม่ใช่ และ กฎหมายไม่ได้มีการบังคับให้ผู้นำศาสนาต้องทำพิธีสมรสให้ ไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกัน แล้วเรื่องนี้ก็บังคับกันไม่ได้ การปฏิเสธความเท่าเทียมในการสมรสด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นเรื่องความไม่เข้าใจว่า สมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องพิธีสมรสครับ

4.ชายกับหญิงอยู่กินใช้ชีวิตร่วมกัน กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องสมรสกัน ถ้าเขาไม่ต้องการสถานะทางกฎหมายระหว่างกัน เขาก็มีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งก็มีมากมาย การที่จะให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็น สิทธิ ที่คนเพศเดียวกันจะทำได้อย่างเท่าเทียมกับคนต่างเพศกัน ว่าง่ายๆ คือคนสองคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันอยากจะจดทะเบียนสมรส หรือไม่อยากจดทะเบียนสมรส ก็จะเป็นเรื่องที่เสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นต่างเพศ หรือเพศเดียวกัน

5.สำหรับประเด็น ผิดธรรมชาติ นั้น เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า สถาบันครอบครัวเป็นเรื่องวัฒนธรรม ไม่ใช่ เรื่องธรรมชาติ หมายความว่า ความหมายของครอบครัวจึงสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัยของสังคม แล้วโดยธรรมชาตินั้น ก็มีสปีชี่ส์ที่มีพฤติกรรม homosexual คือเพศเดียวกันมีอะไรกันก็มาก สปีชี่ส์ที่เป็น bisexual คือมีอะไรทั้งกับต่างเพศกันและเพศเดียวกันก็มี เช่น ลิงโบโนโบ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับลิงชิมแพนซี และมนุษย์

ผู้อ้างเหตุผลเรื่องผิดธรรมชาติ อาจจะหมายถึงเรื่องการมีลูก คือถ้าไม่ใช่ชายกับหญิงจะมีลูกกันไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า การมีลูก กับ สถานะสมรสทางกฎหมาย ก็เป็นคนละเรื่องกัน คนมีลูกกันได้โดยไม่ต้องสมรส ขณะที่คนที่สมรสกันก็ไม่จำเป็นต้องมีลูก หรืออยากมีลูกแต่มีลูกไม่ได้ก็มีมาก ดังนั้นการที่คู่สมรสเพศเดียวกันมีลูกไม่ได้ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคู่สมรสชายหญิงที่มีลูกไม่ได้ จึงไม่ใช่เหตุผลในการปฏิเสธไม่ให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน ความจริงมีข้อดีด้วยซ้ำที่จะทำให้เด็กกำพร้าได้มีโอกาสมีครอบครัวได้มากขึ้น

6.ถ้างั้นเราก็แก้ไข ร่าง พรบ.คู่ชีวิต จนสถานะคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกันเท่าเทียมกับสถานะสมรสของคนต่างเพศกันไปเลยได้ไหม? คำตอบคือได้ แต่คำถามต่อไปคือ เราจะยอมให้คนเพศเดียวกันเสมอภาคเท่าเทียมกับคนต่างเพศในการสร้างครอบครัวไหม แล้วถ้ายอมแก้ไข พรบ.คู่ชีวิต จน “คู่ชีวิตจดทะเบียน” เท่าเทียมกับ “สมรสเท่าเทียม” แล้วจะต้องมี “คู่ชีวิตจดทะเบียน” สำหรับคนเพศเดียวกันไปทำไมอีก?

แต่ถ้าไม่ยอมให้เท่าเทียมกัน คำถามคือทำไมจึงไม่ยอมให้เท่าเทียมกัน? ในเมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” ความจริงจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่เรียกร้องความเท่าเทียมด้วยซ้ำที่ต้องอธิบายว่าทำไมต้องทำให้เท่าเทียม แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่ไม่ต้องการให้เท่าเทียมต่างหากที่ต้องอธิบายครับ

กล่าวโดย สรุป ร่าง พรบ.คู่ชีวิต คือการออกกฎหมายใหม่ให้คนเพศเดียวกันที่อยากจะสมรสกัน ได้เป็น “คู่ชีวิตจดทะเบียน” ซึ่งด้อยกว่าสถานะ “สมรสจดทะเบียน” ของชายกับหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่งในหลายเรื่อง ในยุคสมัยที่ความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยซึ่งมีความเปิดกว้างในเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว ก็น่าจะถึงเวลาให้มีความเท่าเทียมกันในการจดทะเบียนสมรส ดังเช่น 31 ประเทศที่ทำไปแล้ว

ดังนั้น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ให้คนทุกเพศสามารถสมรสกันได้ หรือ “สมรสเท่าเทียม” โดยไม่ต้องมีกฎหมายคู่ชีวิตหรือกฎหมายใหม่อะไรเพิ่มขึ้นมาให้เป็นการเลือกปฏิบัติให้แตกต่างกัน จึงเป็นแนวทางเราควรจะเลือกมากกว่าครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image