‘พท.’ อัดบิ๊กตู่ ทำความสามารถแข่งขันไทยร่วง 5 อันดับ แนะ 6 ทางฟื้น ศก. เปรียบเป็นผู้นำคอมพ์ตกรุ่น

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ แถลงเรื่อง “ฟื้นความสามารถแข่งขันไทยที่ทรุดหนัก” นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่และรองเลขาธิการพรรค พท. แถลงเรื่อง “ฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว” และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด กรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง แถลงเรื่อง “เศรษฐกิจยุคพลเอกประยุทธ์ ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

โดยนายพิชัยกล่าวว่า หนี้สาธารณะของไทยพุ่งทะลุ 10 ล้านล้านบาทแล้ว และราคาก๊าซหุงต้มจะขึ้นเป็น 408 บาทสำหรับถัง 15 กก. ในเดือนกันยายนนี้ ขึ้นจากราคาเดิมต้นปีที่ 318 บาท ถึง 28% ทั้งที่ประเทศไทยสามารถขุดก๊าซได้เอง และในเดือนกันยายนนี้ค่าไฟฟ้าก็จะขึ้นอีกอย่างน้อยหน่วยละ 40 สตางค์ หลังจากที่เพิ่งขึ้นราคาเป็นหน่วยละ 4 บาท เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงที่สุดในรอบ 28 ปี และน่าจะขึ้นอีก 0.75% ในเดือนหน้า เป็นไปตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเตือนถึงปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้นไว้นานแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่ และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์และธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประคองเศรษฐกิจไทยในภาวะผันผวนนี้ โดยคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกถึง 1.75% เลยภายในปีนี้ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่กำลังย่ำแย่ การขึ้นดอกเบี้ยก็หนัก และการไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งหนัก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

โดยล่าสุด International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยลดลงถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 ลงไปอันดับที่ 33 จากการสำรวจ 63 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าทรุดลงหนักมาก โดยอันดับผลประกอบการทางเศรษฐกิจลดลงถึง 13 อันดับ อันดับประสิทธิภาพทางธุรกิจลดลงถึง 9 อันดับ และอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลลดลงถึง 11 อันดับ แม้กระทั่งอันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่แต่เดิมก็อยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้วก็ยังลดลง แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจที่วัดโดย IMD ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยชื่นชมตอน IMD ปรับขึ้น แต่ตอนนี้ IMD ปรับลดลงหนักเลย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาความสามารถแข่งขันที่ลดลงนี้ ที่ทำให้ตรงข้ามกับที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงนโยบายไว้เองในสภา

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) ที่ประเมินปัญหาความสามารถแข่งขันของประเทศไทยพบว่า ปัญหาหลักที่ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยลดลงมากจาก 6 เรื่องสำคัญ และทางแก้ไขดังนี้
1.ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นปัญหามาตลอด โดยการปฏิวัติครั้งหลังสุดคือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และผู้ทำการปฏิรูปยังคงปกครองประเทศอยู่เลย ทำให้ความมั่นใจและความเชื่อถือไม่มีเหลือ นอกจากนี้ ความรู้ความสามารถของผู้ทำการปฏิวัติแล้วมาบริหารเองมีน้อยมาก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วในปัจจุบันแม้บริหารติดต่อกันมา 8 ปี แต่ประเทศกลับทรุดลง ไม่ได้ดีขึ้น ดังนั้น ในอนาคตจะต้องไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารกันอีกต่อไปแล้ว
2.ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหานี้มีมาตลอด การแก้ไขคือต้องแก้ไขระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเปลี่ยนระบบราชการเป็นระบบดิจิทัล (Digital Transformation)
3.นโยบายไม่มั่นคง ทั้งนี้ อาจจะเกิดมาจากการเปลี่ยนรัฐบาลและการปฏิวัติ ทั้งนี้ ยังมีนโยบายที่ถูกยกเลิก หรือทำให้ช้าไปและเปลี่ยนไป เช่น การทำรถไฟความเร็วสูง การทำระบบจัดการน้ำ การแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน อีกทั้งยังมีการยกเลิกเหมืองทอง และ ยังมีการให้ที่ดินสำรวจเพื่อทำเหมืองทองเป็นหลายแสนไร่เพื่อหวังกลบคดีใช่หรือไม่ เป็นต้น

Advertisement

4.ขาดความสามารถเพียงพอในการคิดค้นพัฒนา ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยมาตลอด การปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นไปด้วย อีกทั้งประเทศไทยมีงบประมาณการวิจัยและค้นคว้าต่ำ นอกจากนี้ นักศึกษาของไทยจบทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น จึงต้องแก้ไขในเรื่องเหล่านี้
5.การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเหมือนโรคร้ายกัดกินประเทศไทยมาโดยตลอด การจัดลำดับความโปร่งใส หรือการทุจริตของไทย โดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดลำดับการทุจริตของประเทศไทยต่ำลงมาตลอด 5 ปีติดต่อกัน จากอันดับที่ 96 ในปี 2560 มาเป็นอันดับที่ 110 ในปี 2564
6.แรงงานที่มีการศึกษาไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ระบบการศึกษาไทยไม่ตรงกับความต้องการของงานในโลกปัจจุบัน ซึ่งจะต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

นี่เป็น 6 ปัญหาที่วนเวียนในประเทศไทยมาตลอด 8 ปีแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง และปัญหาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์เปรียบเทียบตัวเองเป็นคอมพิวเตอร์ที่แฮ้งเพราะปัญหามาก ทั้งที่ความจริง พล.อ.ประยุทธ์เปรียบเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ที่ตกรุ่นแล้ว ไม่สามารถที่จะทำการคำนวณและแก้ไขปัญหาสมัยใหม่ได้แล้ว ปัจจุบันเข้าสู่ยุคควอนตัมแล้ว คอมพิวเตอร์ตกรุ่นก็คล้ายกับเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขนาดจะทิ้งยังมีคนรังเกียจเลย จึงอยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบเทียบคอมพิวเตอร์ชื่อประยุทธ์กับคอมพิวเตอร์ที่ชื่อชัชชาติ หรือคอมพิวเตอร์เพื่อไทยที่มองเห็นปัญหาล่วงหน้าและหาทางรับมือและแก้ไข ซึ่งคนไทยจะเห็นประสิทธิภาพที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าทำไมคอมพิวเตอร์ประยุทธ์ถึงแฮ้งและตกรุ่นแล้วต้องรู้ตัวเองและต้องออกไปเพื่อเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ได้แล้ว

ขณะที่นายจักรพลกล่าวว่า สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่า “รอดตายอย่างหวุดหวิด” เพราะการท่องเที่ยวไทยที่กำลังฟื้นตัว อีกทั้งข่าวลือของการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมามีโอกาสและเหมือนมีแสงสว่างขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผลงานของรัฐบาลในอดีตเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยกลับไม่ได้ช่วยภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เป็นเพียงละครที่เล่นเพื่อตบตาประชาชน และการผลาญงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ไร้ประสิทธิภาพ เน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมามาตรการของภาครัฐทำให้ผู้ประกอบกิจการทัวร์ต่างๆ ในประเทศไทยต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีมากกว่า 10,000 บริษัท ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่ถึง 7,000 บริษัท ตัวอย่างเช่น “โครงการไทยเที่ยวไทย” หรือ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ที่มองภายนอกอาจจะดูดี แต่กลายเป็นว่าเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวนั้นแทบจะไม่ตกถึงผู้ประกอบการรายย่อย และ SME ต่างๆ เลย เป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา เพราะโครงการดังกล่าวนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้โดยตรง และถึงแม้จะมีคูปองเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ แต่ระบบที่เข้าถึงยากทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะใช้บริการผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าถึงได้มากกว่า

อีกทั้งกำแพงเงินกู้ที่สูงเกินไปทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) แต่จากคำสัมภาษณ์ของผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้เกี่ยวข้องท่านอื่น พบว่า “ไม่มีบริษัททัวร์ใดสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแม้แต่บริษัทเดียว” นั่นเป็นเพราะภายใต้ “มาตรการอันเข้มงวด” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องมีการยื่นหลักฐานมากมาย ในที่สุดผู้ประกอบการหลายรายก็หมดลมหายใจจากการท่องเที่ยวไทย และสร้างความสิ้นหวังให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเดินต่อไปได้ รัฐบาลควรฟังคำแนะนำของภาคเอกชน เช่น ขยายเวลาการเปิดให้การบริการของเศรษฐกิจภาคกลางคืน ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทุกชนิดในช่วง 6 เดือนหลังทั้ง Tourist Visa และ Visa on Arrival เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยขอเสนอ “4 เส้นทาง…สู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทย” ดังนี้
เส้นทางที่ 1 ถนนแห่งโอกาส เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นคือ “สถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ” รัฐควรออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริการ รวมถึงภาษีต่างๆ ที่จะสร้างผลกระทบต่อผลประกอบการที่จะเกิดขึ้น เน้นการสร้างจุดขายแบบ A-Z และการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่นี้ต้องสู้ด้วย “สงครามคุณภาพ” หลีกเลี่ยง “สงครามราคา” ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการพัฒนาคุณภาพการบริการและผลผลิตอื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง รัฐห้ามมองข้ามสิ่งนี้อย่างเด็ดขาด!

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเจอกับคลื่นน้ำลูกใหญ่คือ “เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1%” และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะสินค้าจำพวกไฟฟ้า เชื้อเพลิงและน้ำประปาที่ปรับตัวสูงถึง 32.56% รองลงมาคือ ยานพาหนะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43% ซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์ความสามารถของรัฐบาลแล้วพบว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมอย่างแน่นอน

เส้นทางที่ 2 ถนนแห่งส่งออก Soft power เพื่อไทยเน้นมาตลอดในเรื่องของ Soft power ผ่านการดึงศักยภาพคนไทยสร้าง Soft power 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพทั้งระดับท้องถิ่น เพราะเทรนด์โลกสมัยใหม่คือการต่อสู้ด้วยอำนาจวัฒนธรรม Soft power นอกจากนี้ พลังดังกล่าวต้องนำมาปรับใช้ในระดับประเทศเพื่อส่งออก Soft power ไทยสู่สายตาคนทั่วโลก สร้างการตลาดใหม่โดยเน้นขายความจริงและคุณภาพของการท่องเที่ยวไทย ทั้งอาการการกิน ธรรมชาติ ผลงานของศิลปิน วัฒนธรรมและอื่นๆ อีกมากมาย เน้นใช้ของที่มีอยู่ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

เส้นทางที่ 3 ถนนแห่งทรัพยากร ประเทศไทยมีทรัพยากรหลากหลายให้เลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคน ไม่ว่าจะเป็น (1) ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ลดการใช้พลังงาน กิจกรรมทดแทนการปล่อยมลพิษ เป็นต้น (2) ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการศึกษาที่จะปูทางไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต ซึ่งการบริการการท่องเที่ยวก็เป็น 1 ในสนามรบทางเศรษฐกิจที่เป็นที่นิยมอย่างแน่นอน (3) ทรัพยากรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากเรื่องการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แล้วยังจำเป็นต้องมีเรื่องของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเตรียมพร้อมให้คนไทยเข้าสู่ยุค Metaverse โลกเสมือนจริง จะนำโลกที่เป็นจริง หรือสกุลเงินดิจิทัล รวมถึง Games และ E-Sports พัฒนาทักษะเยาวชน และพร้อมใช้ Soft power เพื่อสร้างมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งทรัพยากรทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ต้องคอยสนับสนุนและผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในอนาคตและคนรุ่นหลัง โดยเน้นหลักความยั่งยืนในการบริหารจัดการ

เส้นทางที่ 4 New Hope’s road นอกจากประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Medical & Beauty tourism, Medical & Wellness tourism, Green tourism แล้ว จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวแบบแปลกใหม่ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงการท่องเที่ยวตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านการยกระดับระเบียงเศรษฐกิจของไทยทั้ง 5 แห่ง, พัฒนาเส้นทางการคมนาคมใน GMS Economic Corridors และแนวเศรษฐกิจอื่นๆ ผ่านการใช้งบประมาณที่คุ้มค้า ซึ่งนำไปสู่รายได้ในพื้นที่ขั้นต่ำ 23 ล้านล้านบาท

เส้นทางทั้ง 4 เส้นนี้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยได้อย่างแท้จริง อยากให้รัฐบาลลองรับฟังและนำไปปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่หากยังไม่ทำก็รอให้พรรคเพื่อไทยซึ่งจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำแทนก็ได้ เพราะประชาชนต้องการมืออาชีพมาดูแลคุณภาพชีวิต ต้องการมืออาชีพมาวางรากฐานสำหรับลูกหลานในอนาคต และต้องการมืออาชีพมาบริหารประเทศและแก้ไขความผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้าที่สร้างหลุมดำให้กับประชาชนอย่างมากมาย
วันนี้พรรคเพื่อไทยพร้อมแล้วที่จะจับมือกับภาคการท่องเที่ยวเพื่อสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยที่สดใสและยั่งยืนเพื่อคนไทยทุกคน

ขณะที่นายอนุสรณ์กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในยุค 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าถ้าวิกฤตเศรษฐกิจยุครัฐบาล คสช.ถือว่าเป็นเผาหลอก วิกฤตเศรษฐกิจยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์อาจเป็นเผาจริง หลังการยึดอำนาจทำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ชูสโลแกนในช่วงเลือกตั้ง’62 ว่าเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ ผ่านมาเกือบครบเทอม กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแบบฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น จากเงียบสงบกลายเป็นเงียบสงัด วังเวง สูญสิ้นความหวัง ไม่เห็นทางรอด พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลมา 8 ปี ผ่านงบไป 12 ครั้ง ใช้เงินไป 28.5 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจทรุด ทุจริตฟู หนี้สาธารณะไทยทะลุ 10 ล้านล้านบาทแล้ว เกิน 60% ของจีดีพี กลายเป็นรัฐบาลที่มีผลงานนิวโลว์ตกต่ำลงแทบทุกด้าน แต่อาจสร้างความเสียหายทำสถิตินิวไฮ ปัญหาเงินเฟ้อ วิกฤตราคาน้ำมันแพง ค่าแรงถูก คนจนเพิ่ม คนตกงานล้น ทำประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็น 8 ปีที่ประชาชนสิ้นสงสัย ไม่มีสภาพ ไม่เหลือความหวังที่รัฐบาลจะมาพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจอะไรได้

“เสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกช้าไป 8 ปี เพราะเพิ่งเจ็บปวดที่เห็นประชาชนเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจ เวลาที่เหลืออยู่ถ้าคิดว่าไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้ ก็ควรเปิดทางให้ประชาชนได้เลือกรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแทน” นายอนุสรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image