‘ชาญวิทย์’ ยัน สยามไม่ได้เชย ชวนย้อน150 ปี ก่อน 2475 ต้องมองภาพกว้าง แนะเทียบพม่า ‘ใครถึงหลักชัยก่อนกัน’

‘ชาญวิทย์’ ยัน สยามไม่ได้เชย ชวนย้อน150 ปี ก่อน 2475 ต้องมองภาพกว้าง- แนะเทียบพม่า ‘ใครถึงหลักชัยก่อนกัน’

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” เพื่อทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิต และความหมายของผู้คน ตลอดจนสังคม การเมืองไทยในปัจจุบัน

บรรยากาศเวลา 13.20 น. ที่ห้องริมน้ำ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “90 ปี คณะราษฎร” เนื่องในโอกาส 90 ปีคณะราษฎร ความเป็นมาและความสำคัญของการทบทวนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากอดีต ปัจจุบัน และวันข้างหน้า ท่ามกลางประชาชนผู้สนใจในประวัติศาสตร์ เยาวชนคนรุ่นใหม่ และนักศึกษา เดินทางมาร่วมฟังล้นห้องริมน้ำ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า วันนี้ 23 มิถุนายน พรุ่งนี้ก็

Advertisement

“24 มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย เริ่มระบอบแบบอารยะประชาธิปไตย….”

เพลงซึ่งตนเกิดมาเมื่อปลายุคสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อเริ่มรู้ความ รู้เรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองก็ร้องเพลงนั้นได้เป็นอย่างดี เอาเข้าจริงแล้วเรื่องการปฏิวัติ 2475 จะใช้คำว่า “อภิวัฒน์” หรือ “รัฐประหาร” ก็ย่อมได้ แต่ตนสมัครใจเรียกว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475”

Advertisement

“ผมมาวันนี้ นึกถึงนักพูดซึ่งดังมาก เวลามาเขาจะหยิบหนังสือกองเบ้อเร่อขึ้นมาวางให้เห็น ผมก็ขอวางหนึ่งเล่ม เข้าใจว่าเล่มนี้ต้องขายดีมาก เป็นหนังสือที่ผมภูมิใจมาก ชื่อว่า ประวัติการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500 พูดถึงการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

อีกเล่มซึ่งผมภูมิใจมาก คือเล่ม ‘จาก 14 ถึง 6 ตุลา’ คนขายหนังสือมักบอกว่า อาจารย์ตั้งชื่อผิด ความจริงในประวัติศาสตร์ คือจาก 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519 และผมมีชื่อรองว่า ‘ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่’

หนังสืออีกเล่มที่อยากอวด นี่คงเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มสุดท้ายในชีวิตของผม เพราะว่าผมอายุ 81 ปีแล้ว เกิดปี 2484 ผมเป็นเจเนอเรชั่นบิลเดอร์ (Builder) ก่อนเบบี้บูมเมอร์ (Baby boomer) ที่เป็นลูกศิษย์ผม สอนตั้งแต่ 2516 จนถึงปีนี้ นานมากๆ มีทั้งลูกศิษย์ ดี น่ารัก ชั่ว มีทุกแบบ ซึ่งคุณจะโทษใครก็ได้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะบังเอิญหลายคนในนี้ถูกบังคับให้เรียนวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย กับผม ซึ่งเรามักจะเริ่มต้นบอกว่า ‘คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตหรือไม่?’ อะไรทำนองนี้ ซึ่งยังมีคนเชื่ออยู่ ผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษ อยากแปลเป็นภาษาไทย แต่ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนตัว ที่มติชนเชิญมาพูดวันนี้ ตนเรียนรัฐศาสตรที่นี่ก็จริง สิงห์แดง รุ่น 12 แต่เปลี่ยนไปเรียนประวัติศาสตร์เมื่อปริญญาเอก พบว่าถึงจะได้ที่ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ แต่ตนอยู่ในกะลา

“เมื่อสักครู่ผมถาม อ.ณัฐพล ใจจริง ซึ่งต้องคดีใหญ่ ถามว่าตาสว่างเมื่อไหร่ อ.ณัฐพลบอกว่า สงสัยตอนผมเรียนปริญญาโทรมั้ง ผมว่าแกโชคดีที่ตาสว่าง ผมเรียน ป.โท ที่นี่ และที่ลอสแองเจลิส ผมก็ยังตาไม่สว่าง เมื่อผมเปลี่ยนไปเรียนประวัติศาสตร์ ในปริญญาเอก ผมเริ่มตาสว่าง ที่เราไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้เรื่องจริงๆ เพราะประวัติศาสตร์ที่เขาให้เรียนในเมืองไทย เป็นเรื่องลัทธิความเชื่อทางการเมือง มากกว่าประวัติศาสตร์ ผมจึงเริ่มไปอ่านหนังสือในห้องสมุด กว่าจะมาเป็นห้องสมุดดีๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ใช้เวลานานมาก

ของไทยในยุคที่ผมเรียนใน ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2503-2506 เมื่อผมมีอธิการบดีชื่อ ถนอม กิตติขจร มหาวิทยาลัยคู่แข่งของผม อยู่แถวสามย่าน มีอธิการบดีชื่อ จอมพลประภาส จารุเสถียร มันนึกไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันนี้ คนเหล่านั้นจะกล้ามาเป็นอธิการบดี ประหลาด มหัศจรรย์มาก ผมผ่านยุคสมัยที่ใช้เวลานานมาก เรียน ป.เอก ถึงรู้ว่าโลกในเมืองไทยถูกครอบงำด้วย ‘อคติ อวิชชา’ มหาศาล คือจุดเปลี่ยนของผม” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เผย

ก่อนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้พบกับ ปรีดี พนมยงค์ ว่า

“ผมอาจโม้ในวันนี้ว่า เมื่อท่านปรีดี ย้ายออกจากเมืองจีนในปี 2513 บังเอิญผมไปอยู่ปารีส ซึ่งมีหอแองแตร์ฯ ที่รวมนักศึกษาประเทศต่างๆ เราคบหาสมาคมและพูดเรื่องการเมืองเยอะในปารีส รู้ว่าท่านปรีดี พปปะ-ประชุมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ รู เดอ ซอมเมอราด์ (Rue de Sommerard) ก็ไปเดินหาตึกนั้น ปัจจุบันกลายเป็นโรงแรมไปแล้ว ผมเริ่มตาสว่าง ท่านปรีดีย้ายไปปารีสตอนนั้น ได้ไปพบท่านครั้งแรกในชีวิต ประทับใจมาก ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ เลี้ยงผมด้วยข้าวคลุกกะปิ ผมยังจำได้จนบัดนี้ ประทับใจมากๆ ทำให้ผมสนใจเรื่องราวการปฏิวัติ 2745 เป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ ที่ผมเขียนอย่างค่อนข้างละเอียด”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า ตนขอกล่าวว่า ในบทที่ 1 หนังสือนี้ ใช้เวลาเขียนหลายปี เอาเข้าจริงเขียนไม่จบ จบที่ปี 2500 ตั้งใจให้จบเดือนตุลา

“ผมเขียนเอาไว้ว่า ถ้าเราต้องการรู้เรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 คุณจะมีประเด็นอะไรบ้าง ขอฝากประเด็นนี้ไว้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งเอาเข้าจริงผมคิดว่าเขานำหน้าไปแล้ว ถ้าท่านต้องการจะรู้จักการปฏิวัติ 2475 ของสยาม ปฏิวัติ 2475 ของสยาม (ยังไม่มีประเทศไทย) ท่านต้องศึกษาเรื่องราวของวันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน – 28 มิถุนายน 2475

5 วันนี้สำคัญมาก ยึดอำนาจโดยฉับพลัน จบลงด้วยการมีรัฐธรรมนูญ ตั้งสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดการประชุมสภาฯ ในวันที่ 28 เพียง 5 วันจบ ขอเวลา5 วันเอง เขาไม่ได้ขอเวลา 8 ปี 5 วันนี้สำคัญมาก”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า เราต้องเข้าใจ 90 ปีที่แล้ว เรื่องราวของคณะราษฎร และคณะเจ้า (ตามนัยยะ) การมี Young Siam แปลว่าต้องมี Old Siam ซึ่งเป็นของกลุ่มขุนนางเก่า ตระกูลบุนนาค เราต้องสนใจในแง่ของการก่อตั้งขบวนการคณะราษฎร ที่เริ่มต้นที่ปารีส เราต้องให้ความสนใจกับความเห็น 2 ด้าน ต่อ 2745 คนจะมองเป็นบวก หรือเป็นลบ คุณจะมองหาวีรบุรุษ หรือมองหาแพะ ?

“ผมชอบใจโปสเตอร์มติชนวันนี้มาก พระยาพหลฯ อยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นท่านจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และปรีดี พนมยงค์

พระยาพหลฯ จะด้วยอะไรไม่ทราบ ท่านหลุดออกจากข้อหาล้มเจ้า แต่คนทั้ง 2 คนข้างถูกทำให้เป็นแพะทั้งคู่ ซึ่งยายของผมอยู่ อ.ปากน้ำ สมุทรปราการ เป็นเจ้าของ รร.เฉลิมวิทยา อยู่มาตลอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จำได้ว่ายายไม่เคยหยุดกินหมากเลย และไม่ได้ตัดผมทรงสมัยใหม่ แต่ไว้ทรงดอกกระทุ่ม ทำไมยายไม่โดน จอมพล ป. บังคับให้เปลี่ยนทรงล่ะ ? เพราะอยู่ตรงปากน้ำ ผมจึงรู้สึกว่า เรื่องราวที่ได้ยินเกี่ยวกับ จอมพล ป. เป็นเรื่องที่ ‘กุขึ้นมา’ กล่าวหาให้เป็นแพะ เช่นเดียวกับเรื่องของ อ.ปรีดี พนมยงค์ หรือไม่ ?

ดังนั้น ความเห็นเกี่ยวกับ 2745 มีทั้งบวกและลบ เราอยู่ในวาทกรรม ‘วาทะ’ สร้างขึ้นโดยคนที่มีอำนาจ ‘กรรม’ ตกอยู่ที่คนทั่วไปอย่างเรา”

“ที่จะต้องดูต่อไป เกี่ยวกับ 2475 คือภูมิหลังประวัติศาสตร์สังคม เรื่องราวของชนชั้นนำไทย และข้าราชการ อุดมการณ์ชาตินิยม และประชาธิปไตย ผมมองว่า เราจะเข้าใจ 2475 เรื่องของวันนี้เมื่อ 90 ปีที่แล้ว เราต้องดูในลักษณะ ‘ประวัติศาสตร์พิสดาร’ ดูตั้งแต่วันที่ 24-28 มิถุนายนไม่พอ ต้องดูย้อนไปดูว่าก่อนหน้า 2475 มีอะไร มีกบฏ ร.ศ.130 หมอเหล็ง ศรีจันทร์” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ชี้

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า เราย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์ได้อีกตั้งเท่าไหร่ ?

วันนี้เราย้อนกลับไป 90 ปี แต่จาก 90 ปี สามารถย้อนไปได้อีก 60 ปี เป็น 150 ปี เราจะกลับไปยัง กบฎบวรเดช, คำกราบบังคมทูล ร.ศ.130 ของกลุ่มเจ้านาย 10 กว่าคน ซึ่งนำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ตระกูลชุมสาย ที่ต้องการให้สยามประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีการปกครองที่มีนายกฯ แต่สยามหาได้ปฏิรูปอย่างจริงจังไม่

ถ้ามองกลับไปอย่างนี้ จะเห็นว่ามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก จุดนี้สำคัญมาก คือการที่ “หมอบรัดเลย์” นายแพทย์ที่มาจากอเมริกา ซึ่งเรารู้จักท่านในแง่นำยารักษาโรคสมัยใหม่ มีอิทธิพลมากๆ กับการที่นำมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ เข้ามาช่วยสยามด้านการแพทย์สมัยใหม่ ทั้งวัคซีนไข้กันทรพิษ ที่ชี้ไปทางนี้เพราะ รพ.ศิริราช ทันสมัยมากในแง่การดูแลรักษา หมอบรัดเลย์ เป็นทั้งแพทย์ เป็นหมอสอนศาสนา และเป็นนักหนังสือพิมพ์

“ผมประทับใจมาก ที่คุณขรรค์ชัย บุนปาน เอารูปหมอบรัดเลย์ตั้งไว้ที่สำนักงาน บมจ.มติชน เก่ง ที่เรียนโบราณคดี แต่รู้จักประวัติศาสตร์ ความจริงหมดบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกเป็นภาษาไทย ‘บางกอกรีคอร์เดอร์’ แล้วแปลรัฐธรรมนูญอเมริกัน ออกเป็นภาษาไทยเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 4 สมาชิก 100 กว่าคนที่อ่านหนังสือ เป็นสมาชิก บางคนก็จ่ายค่าสมาชิก บางคนก็ไม่ได้จ่าย ไปเช็กดู หมอบรัดเลย์ลงละเอียดเลยว่าใครจ่าย-ไม่จ่าย ผู้ที่อ่านมีทั้งขุนนาง สกุลบุนนาค คหบดี และขุนนางที่ต่างจังหวัด อ่านแล้วขนลุกรายชื่อคนเหล่านั้น”

“สยามประเทศเราไม่ได้เชยขนาดหนัก ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย เอาเข้าจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลง โลกสมัยใหม่ Modernity สยามประเทศรับรู้แล้ว แต่ทำไมเราถึงช้า มองเข้าไปแล้ว ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่ามหรอก มันมาพร้อม Modernity เป็นกระแสของโลก ถ้าเราดูจากประกาศคณะราษฎรฉบับ 1 ซึ่งเข้าใจกันว่าท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นคนร่าง แล้วพูดถึงว่า สยามเป็นประเทศเอกราชสุดท้าย ที่ยังไม่มีการปฏิวัติประชาธิปไตย อเมริกาไปแล้ว เมื่อปี 1776 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

“ในโลกสมัยใหม่ เอาเส้นแบ่งที่สำคัญ คือการปฏิวัติของอเมริกา 1776 นี้ ที่จะตามมาด้วยการปฏิวัติของฝรั่งเศส 1789 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ของรัตนโกสินทร์ แปลว่าเอาเข้าจริงแล้ว เมืองไทยก็เห็นว่า มี 1776, 1789 และ 1911 ของจีน ซุน ยัดเซ็น ตรงกับรัชกาลที่ 6

ก่อนหน้าการพยายามยึดอำนาจ ร.ศ.130 ของหมดเหล็งนั่นเอง ถ้าเราดูภาพรวมการเมืองระหว่างประเทศ จะเข้าใจว่าเราชิงสุกก่อนห่าม ไม่พร้อมจริงหรือ เมื่ออะไรหลายอย่างทั้งในและนอกประเทศก็ดี ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว และว่า

มีบทหนึ่งสั้นๆ ที่เขียนไว้เรื่องความไม่พร้อมของสยาม ไม่พร้อมจริงหรือ ใครไม่พร้อม? ลองศึกษาดู ในที่สุดแล้วหนีไม่พ้นว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ถ้าไม่มีทหารกลุ่หนึ่งออกมายึดอำนาจ 2475 ไม่สำเร็จ กลุ่มสำคัญคือทหาร ที่นำโดยพระยาพหลฯ กลุ่มพระยาพหลฯ คือนายทหาร ‘ซีเนียร์’ ‘จูเนียร์’ คือ จอมพล ป. พระยาพหลฯ หลุดรอดไปได้ ท่านโชคดีมาก ไม่ถูกทำให้เป็นแพะ และชื่อของท่านยังเป็นชื่อถนนที่ยาวมาก จากกรุงเทพฯ ไปถึงแม่สาย แต่ 2 ท่านที่อยู่ข้างๆ กลายเป็นแพะแล้ว

ถนนที่น่าจะชื่อพิบูลสงคราม จอมพล ป. ก็มีความผิดพลาดมากๆ ตอนตัดถนนลงใต้ มีคนเสนอชื่อ ‘ถนนพิบูลสงคราม’ แต่จอมพล ป. ไม่เอามองว่ายกย่องตัวเอง น่าเกลียด จึงมาเอา ‘เพชรเกษม’

“ถ้าเราจะเข้าใจ 24 มิถุนายน 2475 ถ้าเราจะเข้าใจ 90 ปีที่แล้ว มันมีความเห็นหลายด้านมาก สิ่งหนึ่งซึ่งจะทำให้เราเข้าใจดี เราต้องศึกษาในแง่ ประวัติศาสตร์ระยะยาว (Long History) ดูไกลเป็น 100 ปี บางทีเรามานั่งเถียงว่าสำเร็จ-ล้มเหลว เพราะคุณไม่ได้ดูทั้งกระบวนการ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไม่ว่าชาติใด มีกระบวนการที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ฉะนั้นต้องดู ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ระยะยาว และในเชิงเปรียบเทียบด้วย (Comparative history) ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับใคร เทียบกับพม่าก็ได้ อยู่ใกล้ๆ ฟัดกันมาหลายร้อยปีแล้ว ใครจะไปถึงหลักชัยประชาธิปไตยก่อนกัน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image