ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย สะเทือนถึงเลือกตั้ง?

ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย สะเทือนถึงเลือกตั้ง?

ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย
สะเทือนถึงเลือกตั้ง?

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการ กรณีเสนอญัตติการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ถึงการทำหน้าที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร


รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ต้องบอกว่าเป็นการใช้สิทธิอภิปรายแบบลงมติครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน เนื่องจากในรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ว่า ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ในเมื่อเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในโค้งสุดท้าย สิ่งที่พี่น้องประชาชนจะติดตาม คือข้อมูลสำคัญในการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้า เพราะการเลือกตั้งถือเป็นการประเมินโดยประชาชนอย่างหนึ่ง

Advertisement

ดังนั้น ในทางการเมือง การประเมินโดยประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนได้ตัดสินใจ และในวันนี้เราจะเห็นได้ว่า ปัญหาหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 หรือแม้กระทั่งเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ได้หายไปไหนในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นหลักสำคัญ รวมไปถึงปัญหาในเชิงการบริหารงานของรัฐบาลด้วย ฉะนั้น ข้อมูลต่างๆ ที่ฝ่ายค้านจะต้องนำมาใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ จึงควรจะต้องเป็นข้อมูลที่มีความชัดเจน และมีที่มาที่ไปที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็ต้องใช้เวทีตรงนี้ในการชี้แจงข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจด้วยเช่นกัน หากในประเด็นต่างๆ ยังมีข้อสงสัยจากสังคม ซึ่งบรรยากาศของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ก็ออกมาในเชิงของความสร้างสรรค์อยู่พอสมควร ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะมีการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้า

สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องทำ คือเรื่องของการเดินหน้านอกสภาต่อ และการจุดประกาย หรือจุดประเด็นต่างๆ ที่ต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เสียงของฝั่งรัฐบาลก็มีมากกว่าอยู่ดี ถึงแม้จะโหวตอย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะโหวตผ่านมีความเป็นไปได้สูงกว่า เพียงแต่รัฐมนตรี แต่ละคนอาจจะได้คะแนนที่ไม่เท่ากัน เท่านั้นเอง

Advertisement

ตราบใดที่ความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นยังไม่เกิดขึ้น ในแง่ความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นจุดที่สำคัญมาก แต่วันนี้ถ้าเราดูแล้วว่าเสถียรภาพของรัฐบาลก็ยังน่าจะไปได้อยู่ แม้จะมีการเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว หรือแม้กระทั่งพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ตรงนี้ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่าไหร่

จุดที่น่ากังวลคือสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในกฎหมายสำคัญ 2-3 ฉบับที่มีการโหวตในระยะหลัง คือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็มีคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ลงตามมติพรรคอยู่ไม่น้อย นี่เป็นจุดที่น่าสนใจมากกว่า อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าคงไม่ส่งผลที่จะทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้

สิ่งที่ฝ่ายค้านจะต้องทำคือการสานต่อประเด็นเหล่านี้ออกมาสู่สังคม และขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวทำให้เป็นวาระทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านก็มีเวทีในการสัญจรไปพบปะพี่น้องประชาชนอยู่ไม่น้อยแล้ว คิดว่าตรงนี้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเชื่อมต่อระหว่างความเดือดร้อนและความต้องการ หรือเสียงสะท้อนของประชาชนผ่านกระบวนการตรงนี้ และมีผลไปสู่การเลือกตั้งในครั้งหน้า

ส่วนในแง่ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อล้มรัฐบาล คิดว่าคงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากอยู่แล้ว เพราะเสียงของรัฐบาลยังคงเสถียรภาพอยู่ ดังนั้น การที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการโหวตในสภาก็คงจะไม่ง่าย แต่แน่นอนว่าฝ่ายค้านต้องวางเป้าหมายหลัก หรือแม้กระทั่งแคมเปญที่ฝ่ายค้านนำเสนอที่ดูค่อนข้างจะดุเดือดนั้น ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ในทางข้อเท็จจริงคงไม่ง่ายที่จะไปล้มรัฐบาลได้ในสภา ฉะนั้น การขับเคลื่อนนอกสภาต่อไป เพื่อที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ตรงนี้เป็นจุดใหญ่ใจความมากกว่า

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนเองก็ติดตาม เพราะมีภาวะหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ พลังงาน สถานการณ์โควิด-19 ถึงแม้ว่าภาพรวมเหมือนจะดูดีขึ้นบ้าง แต่ระยะยาวจะเป็นอย่างไร จะฟื้นฟู ดูแล แก้ไขทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัยต่างๆ ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ เป็นความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นโค้งสุดท้ายที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นการเลือกตั้งเพื่อความเปลี่ยนแปลง หรือ Vote for Change ซึ่งก็จะคล้ายกับการเลือกตั้งทั่วกรุงเทพฯ ที่คนต้องการที่จะให้การเลือกตั้งเป็นความหวังของประชาชน นี่คือจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในโค้งสุดท้ายนี้

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์
และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เกี่ยวกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาลชุดนี้เป็นครั้งสุดท้าย มองว่าฝ่ายค้านทำได้อย่างเดียวคือ การอภิปรายแบบเหวี่ยงแหให้มีผู้ถูกอภิปรายให้มากที่สุด เพื่อหวังผลให้คีย์แมนคนสำคัญของรัฐบาลชุดนี้มีจุดอ่อน มีข้อปมที่นำไปสู่สมการ การหาเสียงเพื่อความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ส.ส.ในสมัยหน้า เพราะสมการการเมืองในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงปริ่มน้ำ ประกอบกับความไม่แน่นอนของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สามารถสั่งการ ร.อ.ธรรมนัส
ได้ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสยังมีการเล่นเกมทางการเมือง ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังอยู่ในโอวาทของ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากได้รับการอุปถัมภ์กันมา

คนที่เติบโตมาจากระบบอุปถัมภ์จะไม่มีการทำลายระบบความสัมพันธ์ที่ตนเองได้ผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น พล.อ.ประวิตรยังสามารถบงการควบคุม และยังกำกับเกี่ยวกับการยกมือลงคะแนนเสียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนที่ถูกอภิปรายจะผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อให้รัฐบาลไปต่อได้ ฝ่ายค้านทำได้อย่างเดียวคือ ฝากแผลเอาไว้ให้กับคีย์แมนหลักๆ ในการหาเสียงครั้งหน้า

หากมองการอภิปรายในครั้งนี้ที่ถูกฝ่ายค้านเล็งเป้าไว้ 11 คน จะมีผลการทำงานของรัฐบาลในช่วง 10 เดือนสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณ 2-3 ที่นั่ง เพื่อกระจายหรือแลกเปลี่ยนในเรื่องผลประโยชน์บางอย่างกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งมีท่าทีชัดเจนไม่เอานายกฯ โดยร่วมมือกับพรรคเล็กเพื่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ถึงแม้ว่าลึกๆ ไม่สามารถทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่ยังต้องการสร้างอำนาจการต่อรอง แม้ว่าจะผ่านการอภิปรายไปได้แต่ก็ต้องผ่านขั้นตอน 1-2-3 อาทิ ตำแหน่งรัฐมนตรี รวมทั้งกรรมาธิการงบประมาณจะเห็นว่าคนของ ร.อ.ธรรมนัสได้ไปเยอะ แสดงว่าจะต้องมีการต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้นเยอะ

ส่วนการที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีมากถึง 11 คนนั้น เพื่อต้องการผูกเอาไว้สำหรับการหาเสียงในสมัยหน้ามากกว่า เพื่อหาความชอบธรรมในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังไม่มีความสามารถที่จะดึงเสียงของประชาชนให้มาสนใจการอภิปรายได้ ประชาชนสนใจในเรื่องปากท้องมากกว่าการอภิปราย ประกอบกับฝ่ายค้านไม่มีดาวสภา

ในอดีต หากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนจะเฝ้ารอคนอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ชวน หลีกภัย หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ฝ่ายค้านต้องหาคนที่มีความโดดเด่นในการสื่อสารการเมืองแบบนี้ให้มากขึ้น หากประเด็นแหลมคมประชาชนก็จะติดตาม

ส่วนการล็อกเป้าผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คิดว่าน่าจะเป็น 3 ป. พร้อมด้วยคนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยเฉพาะ 3 ป. เป็นตัวการของปัญหาทางการเมือง ส่วน ปชป.เกี่ยวกับปมปัญหาเศรษฐกิจภาพรวม รวมทั้งคนของ ปชป.สร้างปัญหากับรัฐบาลมากเหมือนกัน สุดท้ายต้องจัดการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ด้วย เพราะเป็นแกนนำของพรรครัฐบาล จะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลในการตั้งรัฐบาลในสมัยหน้าก็ได้

สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลผ่านการลงมติไปได้ ส่วนฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านอาจจะมีปัญหากันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ในการช่วงชิงยุทธศาสตร์ทางการเมือง บางครั้งการเร้าอารมณ์คนฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่สามารถทำได้ เพราะทุกคนยังกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ สถานการณ์ไวรัส
โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ประชาชนสนใจปัญหาเฉพาะหน้าของตนเองมากกว่า ที่สำคัญการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเป็นประเด็นให้สังคมลุกฮือเหมือนกับการอภิปราย ส.ป.ก.4-01 นั้นยังไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้

ส่วนการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องของคะแนนนั้นมองว่ามีผล หากมีคะแนนไม่เท่ากัน อาจจะมีผลต่อการปรับ ครม. จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีความชอบธรรมในการปรับ ครม.ได้ เฉพาะ 2-3 ตำแหน่งที่เหลือ

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ประเด็นเรื่องญัตติเถื่อนที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยื่นเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน จะมองว่าเป็นเทคนิคทางการเมืองหรือไม่นั้น เป็นเกมทางการเมืองอยู่แล้ว ปกติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขาไม่จุกจิกกัน เพราะขึ้นอยู่กับเวลา หากญัตติสมบูรณ์ก็ไม่มีปัญหา เมื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าไปแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะยุบสภาไม่ได้ เกมนี้นายกรัฐมนตรีจึงเป็นรองคนที่ต่อรองอำนาจกับเขาอยู่ ดังนั้น ช่วงนี้ใครต่อรองกับนายกรัฐมนตรีช่วงนี้มักจะได้ผลหมด

ขณะเดียวกัน หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จช้า นายกรัฐมนตรีจะได้เปรียบ เพราะไม่มีกติกาให้เลือกตั้ง หากยุบสภาก่อน นายกรัฐมนตรีก็จะเขียนกติกาด้วยตนเอง ในลักษณะข้างต้นนายกรัฐมนตรีจึงถือไพ่เหนือกว่า

ส่วนผลการอภิปรายจะส่งผลถึงขั้นการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งจะมีผลต่ออนาคตของรัฐบาลหรือไม่ เชื่อว่าคงไม่มี ประเด็นสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลสะเทือนได้ คือเรื่องปัญหาภายในของพรรครัฐบาล แต่ปัญหาตอนนี้เป็นปัญหาของนายกฯคนเดียว เพราะกลุ่มของพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค ศท. รวมถึงกลุ่ม 16 ยังไม่มีพลังมากพอ แต่หากเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง 50 เสียงขึ้นไป ย้ายฝั่งไปร่วมยกมือเห็นชอบกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ อันนี้จึงจะเป็นเรื่องใหญ่ ฝ่ายค้านจึงหาวิธีที่จะทำให้สะเทือนต่อความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลจึงรอให้ผ่านเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจไปให้ได้ก่อน ทุกอย่างก็จบ เพื่อเดินหน้าอยู่ครบวาระ 4 ปี

หากดูความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่มีเรื่องกระทบกระทือนกันถึงขั้นเกิดความขัดแย้ง ตราบใดที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลอยากได้อะไร นายกรัฐมนตรีก็จะตอบสนอง ไม่ได้ถูกขัดใจอะไรมากมาย ตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นมา 3-4 ปี เก้าอี้รัฐมนตรี ก็เหมือนให้แล้วให้เลย ไม่เอาคืน

ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้หรือไม่นั้น คนที่ต้องแสดงตัวหน่อย ต้องเป็นคนที่จะเป็นแม่ทัพใหญ่ นำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ครั้งต่อไป รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่รัฐมนตรีในส่วนของพรรค พปชร.จะต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงภายใน เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมา หลังจากที่ ร.อ.ธรรมนัสออกจากพรรค พปชร. กลุ่มใหม่คือกลุ่มของรัฐมนตรีปัจจุบัน ภายในพรรค พปชร. จึงกลายเป็นตัวหลัก ต้องแสดงภาวะผู้นำ แสดงบทบาทของรัฐมนตรี ที่สำคัญคือแสดงศักยภาพในการคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลให้มีเอกภาพ

ขณะที่บทบาทของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายนี้ ฝ่ายค้านต้องทำเหมือนเดิม อัดให้น่วม ไม่ต้องหวังอะไร เพราะฝ่ายค้านรู้อยู่แก่ใจว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไรก็ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ สิ่งที่ทำให้ได้ คือ ดิสเครดิตรัฐบาล เพราะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ใครยับช่วงนี้ก็จะแก้ตัวลำบาก เหลือเวลาอีกไม่เยอะในการพิสูจน์ตัวเอง จากที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าโดนข้อหาหนักเข้าไป ด้วยข้อมูลและหลักฐานที่มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ ก็อาจทำให้เละได้ ฝ่ายค้านจึงต้องใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นว่าคนไหนมีแผลต้องเปิดให้แผลใหญ่เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image