‘มติชน-ศิลปศาสตร์ มธ.’ จัดเวทีส่อง 90 ปี ‘อภิวัฒน์สยาม’ ทัวร์ร่องรอยคณะราษฎร คนรุ่นใหม่แห่ร่วมเพียบ

‘มติชน-ศิลปศาสตร์ มธ.’ จัดเวทีส่อง 90 ปี ‘อภิวัฒน์สยาม’ ทัวร์ร่องรอยคณะราษฎร คนรุ่นใหม่แห่ร่วมเพียบ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” เพื่อทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิต และความหมายของผู้คน ตลอดจนสังคม การเมืองไทยในปัจจุบัน

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 12.30 น. ที่ห้องริมน้ำ มีประชาชน เยาวชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ตลอดจนผู้สูงอายุ หลั่งไหลเดินทางมาร่วมงานอย่างล้นหลาม จนเต็มห้องริมน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ดร.อาสา คำภา นักเขียนและนักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์, นายศิริวุฒิ บุญชื่น จากหอจดหมายเหตุ ม.ธรรมศาสตร์, นายกษิดิศ อนันทนาธร คอลัมนิสต์เว็บไซต์ The 101 world, นายวรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ไปจนถึงแกนนำนักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ อาทิ นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แกนนำ “มศว คนรุ่นเปลี่ยน” เดินทางมาร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมี พลตรีหญิง สุณิสา เขตตะสิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ร่วมด้วย

Advertisement

โดยภายในงานอัดแน่นด้วยกิจกรรม ทั้งวงเสวนาวิชาการ และหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนที่เผยแง่มุมว่าด้วยการอภิวัฒน์สยาม 2745 ในมิติที่แตกต่างหลากหลาย ไปจนถึงวางขายหนังสือ 3 เล่มใหม่ในราคาพิเศษ ที่มาพร้อมวงเสวนาเปิดตัว ในวันนี้ครั้งแรก ได้แก่

1.”ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” โดย ณัฐพล ใจจริง เนื้อหาพาย้อนความทรงจำของ “เยาวรุ่น” เมื่อ 90 ปีก่อน สำรวจความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต และความฝันใฝ่ในหัวใจของสามัญชนคนหนุ่มสาวยุคแรกสร้างประชาธิปไตย กับบทบันทึกในยุคสมัยคณะราษฎรที่จะทำให้หวนกลับมานึกถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ราคา 400 บาท จากราคาเต็ม 480 บาท

Advertisement

2.”ปฏิวัติที่ปลายลิ้น : ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475″ โดย ชาติชาย มุกสง ที่ตีแผ่การต่อสู้ช่วงชิงความหมายของอาหารการกินในประวัติศาสตร์ช่วงเกือบร้อยปีที่ผ่านมา และคลี่ขยายอาหารการกิน สมรภูมิทางการเมืองวัฒนธรรมตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยาม ราคา 300 บาท จาก 360 บาท

3.”ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่) บรรณาธิการโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ที่ว่าด้วยการกลับมาของสารคดีประวัติศาสตร์เล่มสำคัญ กับเรื่องราวความพลิกผันของกองทัพเรือไทย เจาะลึก เรียบเรียงเรื่องราวแผนการคณะกู้ชาติ ปฏิบัติการจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และยุทธภูมิแม่น้ำเจ้าพระยา จากผลงานเขียนของ “นิยม สุขรองแพ่ง” ราคา 420 บาท จาก 495 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่ซื้อหนังสือ และลงทะเบียนร่วมกรรมเดินทัวร์ล่วงหน้า ต่างได้รับของที่ระลึก ของพรีเมียมที่ออกแบบพิเศษเฉพาะงานนี้เท่านั้น อาทิ Road Map ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร, เข็มกลัดหมุดคณะราษฎร, สมุดโน้ต 90 ปีอภิวัฒน์สยาม, สติ๊กเกอร์ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม และที่คั่นคณะราษฎร จำนวน 3 ชิ้น

ทั้งนี้ ก่อนถึงวันจัดงานมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานจนล้นโควต้า โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้

เวลา 12.30-16.00 น. ช่วงปาฐกถา และเสวนา เวลา 16.00-18.00 น. ช่วง Walking Tour เดินเรียนรู้จุดประวัติศาสตร์ 2475 ในพื้นที่ใกล้เคียง

กิจกรรมแรก เวลา 13.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา “90 ปี คณะราษฎร” เนื่องในโอกาส 90 ปีคณะราษฎร ความเป็นมาและความสำคัญของการทบทวนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากอดีต ปัจจุบัน และวันข้างหน้า

จากนั้นเวลา 13.30 น. มีวงเสวนา “(อ่าน) 90 ปี คณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดย นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้ค้นคว้าเรื่องราวในห้วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” อย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะจากหลักฐานใน “หนังสืองานศพ”, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์และนักประวัติศาสตร์การเมืองชื่อดัง และ ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมให้มุมมอง พร้อมเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ที่มีเนื้อหาเข้ากับธีมงานวันนี้

นับเป็นเวทีแรกที่ชวนพูดคุย ถกถามถึงการเดินทางกว่า 90 ปีของประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรในเส้นทางการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหลากหลายมิติในการเปลี่ยนแปลงจาก 2475 ที่ยังคงเชื่อมโยงส่งผลถึงปัจจุบัน ทั้งยังชวนวาดหวังถึงการเมืองไทยในอนาคต

วงเสวนา “(อ่าน) 90 ปี คณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต”

ต่อเนื่องกับกิจกรรมช่วงที่ 2 ตั้งแต่เวลา 16.20 น. สำนักพิมพ์มติชน พายืดเส้นยืดสายเดิน “Walking Tour 90 ปี 2475: ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์” ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำบรรยายโดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ซึ่งจำกัดเพียง 30 คนเท่านั้น โดยผู้ร่วมกิจกรรมต่างได้รับหูฟัง และเอกสารสำหรับการบรรยาย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ด้วยการอภิวัฒน์สยาม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพียงเรื่องของการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์วิถีใหม่ในหลากมิติของสังคมไทย หนึ่งในนั้นคือ “ศิลปะ และสถาปัตยกรรม” กิจกรรมนี้ จึงถือวาระ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม พาไปเจาะลึกประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์คณะราษฎร ถึง 3 จุดในเกาะรัตนโกสินทร์

จุดที่ 1 ตึกโดม ธรรมศาสตร์- ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุดที่ 2 เดินผ่านเส้นทางสนามหลวง, ชมประตูสวัสดิโสภา, กระทรวงกลาโหม ชมระเบียงประวัติศาสตร์

จุดที่ 3 สวนสราญรมย์ ชมอาคารสมาคมคณะราษฎรและพื้นที่แห่งการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมวันนี้ ผู้บริหาร บริษัท มติชน จำกัด มหาชน และ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมมอบหนังสือกลุ่มประวัติศาสตร์ 2475 ให้กับผู้บริหาร, ผู้ดูแลห้องสมุดต่างๆ ประจำคณะศิลปศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ อีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมถ่ายทอดสดย้อนหลัง ได้ผ่านทางแฟนเพจ Matichonbook Matichon มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม

สำหรับผู้ร่วมทัวร์ “Walking Tour 90 ปี 2475: ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร บนเส้นทางประวัติศาสตร์” อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริอดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ดร.อาสา คำภา นักเขียนและนักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์, นายศิริวุฒิ บุญชื่น จากหอจดหมายเหตุ ม.ธรรมศาสตร์, นายกษิดิศ อนันทนาธร คอลัมนิสต์เว็บไซต์ The 101 world,

นอกจากนี้ยังมี ผู้บริหารมติชน ตลอดจนเยาวชน นิสิต นักศึกษาที่ไม่ได้ลงทะเบียนจองล่วงหน้า ร่วมทัวร์ด้วยแบบไม่ง้อหูฟัง รวมเกือบ 60 คน จาก 30 คน ตามที่กำหนดไว้ ก่อนสิ้นสุดกิจกรรมเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image