2475-ความท้าทายในปีที่ 90! : สุรชาติ บำรุงสุข

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พศ. 2475 เดินทางมาไกลถึง 90 ปี และในปีที่ 90 ข้อถกเถียงยังคงอยู่กับเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่อาจจะไม่ได้แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาเท่าใดนัก ซึ่งก็คือภาพสะท้อนของพัฒนาการต่อสู้ระหว่าง “ประชาธิปไตย vs อำนาจนิยม” ที่ยังไม่จบ… 2475 ยังไม่จบในสังคมไทย

คงต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเดินทางผ่าน “ความผันผวน” ในหลายๆ ด้าน จนบางทีเราอาจจะต้องเริ่มต้องคิดเพิ่มเติมสำหรับการก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เพราะสถานการณ์ในปีที่ 90 นี้ ทำให้เราได้เห็นถึงโจทย์สำคัญบางประการ และรวมทั้งความท้าทายใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องนำมาคิดต่อสำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยในอนาคต

สยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีที่ 90 เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างมาก แม้ในแต่ละยุคมีความท้าทายในแต่ละแบบที่แตกต่างกันไปก็ตาม

ในยุคสมัยของศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่มีอะไรท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมากเท่ากับ “การสร้างประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตย” หรืออาจกล่าวในอีกด้านหนึ่งว่า สำหรับการต่อสู้ในประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เราไม่เพียงแต่จะต้องสู้กับระบอบเผด็จการเท่านั้น หากยังจะต้องคิดสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ คือ จะต้อง “ออกแบบ” ให้ระบอบประชาธิปไตยมีความสามารถที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และมีประสิทธิภาพในการจัดการกับวิกฤตในสังคม

Advertisement

หากเราหันกลับมามองระบอบอำนาจนิยม ซึ่งเป็น “คู่แข่งขันหลัก” ทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราจะเห็นถึงพัฒนาการในระดับโลก กล่าวคือ ระบอบอำนาจนิยมในศตวรรษที่ 21 พยายามที่จะพัฒนาตัวเอง และสร้างการยอมรับในทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่ด้วยการใช้รูปแบบของ “ระบอบเผด็จการเก่า” ของศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารแบบยึดโยงอยู่กับตัวผู้นำ เช่น เผด็จการแบบนายพลฟรังโกของสเปน หรือแบบจอมพลสฤษดิ์ของไทย หรือเผด็จการแบบระบอบพรรคเดียวของชาวคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

ดังนั้น การปรับตัวครั้งใหญ่ของระบอบเผด็จการในศตวรรษที่ 21 คือ การทำให้ระบอบอำนาจนิยมเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง การปรับตัวเช่นนี้ทำให้เกิด “ระบอบพันทาง” หรือที่เรียกว่า “ระบอบไฮบริด” คือ จะต้องไม่เป็นระบอบเผด็จการเต็มรูป หรืออาจเรียกในเชิงภาพลักษณ์ได้ว่าเป็น “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ยอมให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” คือจะต้องเหนี่ยวรั้งกระบวนการเปลี่ยนผ่านเสมือนหยุดลงกลางทาง และขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้

ลักษณะของการพัฒนาดังกล่าวในระดับโลก ทำให้เห็นชัดเจนว่า “ระบอบพันทาง” คือ ตัวแบบของระบอบอำนาจนิยมหรือระบอบเผด็จการในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาการของตัวแบบเช่นนี้เห็นได้ในการเมืองไทยยุคปัจจุบันเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ผลจากการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ได้เปลี่ยน “รัฐบาลทหารเต็มรูป” ไปสู่ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ซึ่งก็คือ การกำเนิดของระบอบพันทางเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

Advertisement

ในสภาวะเช่นนี้ การเลือกตั้งได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบพันทาง เพราะทำให้ระบอบเผด็จการดูมีความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้น โดยมีการลงเสียงของประชาชนเป็นภาพโฆษณา แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้กติกาข้อจำกัดที่รัฐบาลอำนาจนิยมเดิมเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งทุกคนรู้ว่าในที่สุดแล้ว ใครจะเป็นผู้ชนะ การตรวจสอบและการเปลี่ยนตัวผู้นำในระบอบนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากระบอบพันทางจะสร้างกลไกความได้เปรียบทางการเมืองรองรับตัวเองไว้ หรืออาจกล่าวได้ว่าการปรับตัวของระบอบเผด็จการแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน คือ การกำเนิดของ “ระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขัน” ซึ่งในกรณีของไทย เป็นการแข่งขันที่อยู่ภายใต้ “กติกาการเมือง” ที่รัฐบาลทหารออกแบบไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ

นอกจากนี้ ระบอบอำนาจนิยมมีเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบริหารประเทศไม่ต่างจากในอดีต คือ การสร้าง “รัฐราชการ” และด้วยการใช้อำนาจรัฐที่เกิดขึ้นของระบอบทหาร จึงทำให้เกิด “รัฐราชการรวมศูนย์” แต่ก็มีปัญหาอย่างมากในเรื่องของประสิทธิภาพ เพราะรัฐราชการรวมศูนย์ของไทยอาจไม่สามารถรับมือกับปัญหาชุดใหม่ของศตวรรษที่ 21 และปัญหาประสิทธิภาพเช่นนี้กำลังถูกท้าทายอย่างมากจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และวิกฤตสงครามยูเครน จนก่อให้เกิดวิกฤตชุดใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตความยากจน และวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์ ดังจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ถูกสร้างขึ้นจากการรัฐประหาร 2557 กลายเป็นเพียง “ขยะของกาลเวลา” ที่ไม่มีความหมายในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและของสังคมไทยเลย นอกจากเป็นเครื่องยืนยันถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐทหาร

เราอาจกล่าวได้ว่า “วิกฤตโควิด-19” และสำทับด้วย “วิกฤตยูเครน” กำลังทำหน้าที่ทดสอบประสิทธิภาพของ “รัฐราชการรวมศูนย์” ของผู้นำทหารและกลุ่มปีกขวาอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน… ยิ่งนานวัน ยิ่งเห็นถึง “วิกฤตรัฐราชการ” มากขึ้น จนทำให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” ต่อตัวผู้นำคู่ขนานกันไป หรืออีกนัยหนึ่ง เรากำลังเห็นถึง “วิกฤตรัฐราชการไทย” ทั้งในระดับรัฐและผู้นำ และเป็นความท้าทายอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนต่อ “อำนาจรัฐเก่า” ในวาระ “90 ปี 2475

ดังนั้น โจทย์สำคัญสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยในปีที่ 90 คือ จะต้องขบคิดคือ ปัญหาการสร้างประสิทธิภาพของรัฐประชาธิปไตย กล่าวคือ ทำอย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพมากกว่าระบอบอำนาจนิยม ซึ่งเราจะต้องคิดให้ได้มากกว่าคำตอบของ “ความเหนือกว่าในระดับพื้นฐาน” ที่กล่าวเสมอว่า ประชาธิปไตยดีกว่าเพราะมี “เสรีภาพ” มี “ความชอบธรรม” มีความเป็น “นิติรัฐ” มากกว่า

ในการต่อสู้กับฝ่ายอำนาจนิยม นักประชาธิปไตยต้องตระหนักเสมอว่า การสร้างขีดความสามารถของรัฐในการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ที่เป็น “วิกฤตชาติ” เป็นประเด็นสำคัญ เพราะรัฐประชาธิปไตยที่ไร้ประสิทธิภาพจะเป็นช่องทางโดยตรงของการฟื้นระบอบเผด็จการ อีกทั้งระบอบประชาธิปไตยยังจะต้องสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้ได้ เพราะระบอบการปกครองใดก็ตามที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่แล้ว ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้

ฉะนั้น “ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย” ที่สำคัญ จึงไม่เพียงจะต้องเอาชนะ “ระบอบกึ่งเผด็จการ” ให้ได้ หากยังจะต้องคิดในเรื่องของการสร้างประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตยในการรับมือกับโจทย์ชุดใหม่ๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญ และทั้งยังต้องคิดสร้างระบอบที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ เพื่อใช้คานกับการโฆษณาชวนเชื่อ ที่มาพร้อมกับนโยบายประชานิยมของ “ระบอบพันทางไทย” ตลอดรวมถึงการสร้างความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

โจทย์ในวาระ “90 ปี 2475” จึงท้าทาย และท้าให้นักประชาธิปไตยไทยต้องคิดต่อให้ได้ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image