วงเสวนาคลี่ปม ‘ชาติ’ ชี้ต่างยุคนิยามพลิกผัน ฟันธงองค์ประกอบหลักคือ ‘ประชาชน’

วงเสวนาคลี่ปม ‘ชาติ’ ชี้ต่างยุคนิยามพลิกผัน ฟันธงองค์ประกอบหลักคือ ‘ประชาชน’

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เวลา เวลา 10.00 มูลนิธิไชยวนา ศิลปะนานาพันธุ์ และสวนครูองุ่น มาลิก จัดงาน 90 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475 โดยมีมีกิจกรรมทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรมทางเพจเฟซบุ๊กมูลนิธิไชยวนา และเพจเฟซบุ๊กศิลปะนานาพันธุ์

เมื่อเวลา 11.50 น. เริ่มวงสนทนาในหัวข้อ “เซ็นเตอร์สยาม or สยามเซ็นเซอร์” โดย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง, สินีนาฏ เกษประไพ จากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร และน.ส.เบนจา อะปัญ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยจะพูดคุยในเรื่องของวันอภิวัฒน์สยามในหลากหลายมุมมองทั้งจากนักเขียน นักการละคร และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เราต้องพาย้อนกลับไปในอดีตก่อน คำว่า ‘ชาติ’ ในความหมายที่เราเข้าใจทั่วไปคือเป็นชุมชนที่ประชาชนสำนึกถึงการอยู่ร่วมกัน และประชาชนก็คิดว่าตนเองสามารถลิขิตอนาคตและความเป็นไปของชุมชนนั้นได้ ซึ่งเราเรียกว่าชาติ แต่ในอดีตนั้นคำว่า ชาติ ไม่ได้มีความหมายแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ชาติ คือคำว่า ชา-ติ ที่แปลว่าเกิด แต่คำนี้มีความหมายทางศาสนาต่อมาก็เริ่มมีความหมายทางการเมืองมากขึ้น เพราะว่าเมื่อเกิดมาแล้วก็จะมีฐานะไม่เท่ากันเนื่องจากบุญต่างกัน ถ้าคนที่เกิดมามีบุญเยอะก็เป็นชนชั้นสูง คนที่เกิดมาบุญน้อยก็เป็นชาวบ้านหรือผู้ถูกปกครอง จนก้าวมาสู่ช่วงยุครัชกาลที่ 5 เริ่มเกิดคติที่เรียกว่า ผู้นำเป็นที่ผู้ที่ทำให้ชาติอยู่รอดปลอดภัย เนื่องจากประเทศเราถูกคุมคามจากภายนอก

Advertisement

ต่อมาเมื่อเมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คตินี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ก็เกิดการต่อสู้กันระหว่างความคิดเกี่ยวกับชาติทั้ง 2 แบบ ชาติแบบเดิมที่หมายถึงผู้ที่จงรักภักดี กับชาติที่หมายถึงประชาชน สู้กันมายาวนานจนกระทั่งถึงการปฏิวัติ 2475 คติเรื่องชาติก็พลิกเปลี่ยนมาใหม่ เป็นชาติที่มาจากเบื้องล่างเป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้น ชาติในความหมายใหม่จึงเกิดขึ้นซึ่งหมายถึงประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของชาติ เป็นผู้ที่คิดว่าตนเองมีส่วนได้ส่วนเสีย และสามารถลิขิตความเป็นไปของชุมชนในจินตนาการนี้ได้

“ซึ่งคำว่าชาติที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็นำไปสู่การเฉลิมฉลอง เริ่มต้นตั้งแต่การมีเพลงชาติ ซึ่งในอดีตเราก็มีเพลงสำคัญในยุคระบอบเก่าคือเพลง สรรเสริญพระบารมี แต่เป็นเพลงที่พูดถึงบุคคล แต่เพลงชาติหลังการปฏิวัติเป็นการพูดถึงคนทั้งมวล เข้าสู่รูปแบบรัฐใหม่ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเพลงชาตินั้นพูดถึงประชาชนทั้งหมด ไม่มีบุคคลที่เป็นเอกพจน์ มีแต่บุคคลที่เป็นพหูพจน์ทั้งสิ้น โดยต่อมาในปี 2482 รัฐบาลได้ให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และมีการเฉลิมฉลอง ซึ่งวันชาติในปี 2482 มาพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อประเทศ จากก่อนหน้านี้มีชื่อว่า ประเทศสยาม เป็นประเทศไทย” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

Advertisement

ต่อมา สินีนาฏ ผู้เป็นเจ้าของผลงานบทละครเวทีเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ ซึ่งเป็นละครที่เล่าเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม กล่าวว่า เนื่องจากบทละครเวทีเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ เล่าถึงนายปรีดี พนมยงค์ และได้ถูกนำกลับมาแสดงใหม่หลายครั้ง ตนเคยได้รับชมเองครั้งแรกในปี 2538 ซึ่งเป็นละครที่มีความแปลกประหลาด ไม่เหมือนการรับรู้จากการดูละครโดยทั่วไป ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องชีวประวัติของนายปรีดี โดยเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนปี 2475 จนถึงสิ้นอายุของนายปรีดี ภายในเวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ตอนได้รับชมคือนอกจากความแปลกในวิธีการนำเสนอแล้ว มันเหมือนมีข้อมูลต่างๆยุ่งอยู่ในหัวเราตลอดเวลาที่ดู และทำให้เราตื่นเต้น อยากรู้และติดตามต่อไป ดังนั้น มันมีแรงพลังบางอย่างที่ส่งสารมาถึงเรา ละครเรื่องนี้เหมือนเปิดโลกทำให้เราได้รู้จักประวัติของนายปรีดี ซึ่งการทำบทละครเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นมันต้องมีข้อมูลที่มากและอ้างอิงได้ ตนเองได้มีโอกาสมาเล่นละครเวทีเรื่องนี้ในวาระที่ 4 ที่ถูกนำกลับมาเล่นในปี 2542-2543 เล่นทั้งหมด 100 รอบ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องค้นคว้า อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ 2475 สงครามโลก และประวัติของนายปรีดี

“สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทละครเรื่องนี้คือนำเสนอโดยวิธีการนำเสนอในเชิงละครแบบ Epic theatre ซึ่ง epic แปลว่า มหากาพย์ โดยในเชิงวรรณกรรมจะเล่าเรื่องของฮีโร่ ชนชั้นสูง แต่ Epic theatre ในแนวของละครเป็นการนำเสนอโดยการเล่าเรื่องของคนธรรมดาสามัญชน เพราะฉะนั้น บทละครเรื่องนี้จึงมีอีกชื่อที่เรียกว่า ละครเวทีสร้างสรรค์ของสามัญชน คือเลือกที่จะเล่าเรื่องของนายปรีดี ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในละครเรื่องนี้มีฉากหนึ่งที่เป็นตอนเช้าของวันที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งนักแสดงมีการนำเอกสารหลัก 6 ประการของคณะราษฎรแจกให้ผู้ชม ซึ่งตอนที่เราเป็นผู้ชมเรารู้สึกว้าวมาก ละครทำให้เรารู้สึกเข้าใกล้สถานการณ์เหมือนว่าเราได้รับเอกสารนั้นจริงในวันนั้น” สินีนาฏ กล่าว

ด้านของ น.ส.เบนจา กล่าวว่า ตนมองว่าวันชาติเหมือนเป็นวันที่เราได้อะไรร่วมกัน มีความเป็นมนุษย์ เป็นผู้คน สิ่งที่เราสัมพันธ์กันและรู้สึกยึดเหนี่ยวร่วมกัน ถ้าเป็นในปี 2563 จะมีคำพูดหนึ่งติดปากมากว่า ชาติคือประชาชน ซึ่งการที่จะก่อร่างมาได้ก็ต้องมีผู้คนที่หลากหลายอยู่ร่วมกันและรู้สึกยึดโยงร่วมกัน ก่อตัวขึ้นเป็นสังคมวัฒนธรรม และจะมีคำว่า คนไทย ซี่งเราก็ยังสงสัยเหมือนกันว่าสรุปแล้วปลายทางของการเกิดเป็นมนุษย์เรายังต้องมองกรอบแค่ประเทศไทยอยู่หรือไม่ หรือจริงๆแล้วมันคือ ประชาชนโลก แล้วจริงๆขอบเขตของคำว่า ชาติ อยู่ตรงไหน

“เรารู้สึกว่าตอนนี้ประชาชนเริ่มออกมาฉลองกันเองแล้วในวันชาติ สำหรับคนที่มองว่าวันนี้เป็นวันชาติของเรา จะใช้คำว่าเฉลิมฉลองก็ยังไม่เต็มปาก เพราะมันยังไม่ถูกอนุมัติอย่างเป็นทางการ แต่ในแง่ของการที่เราต้องการให้วันนี้เป็นวันชาติ เราในฐานะประชาชน เราสามารถออกมาทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับวันนี้ได้ ซึ่งเราก็อยากให้มีการฌลิมฉลองอย่างเป็นทางการในภาคประชาชนมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อพูดถึง ชาติ ต้องยึดโยงกับรัฐ แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าเรานี่แหละคือส่วนประกอบสำคัญที่สุดในวันชาติ ต่อให้รัฐยังไม่อนุมัติให้เรา เราก็สถาปนามันขึ้นเอง” น.ส.เบนจา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image