ชี้บิ๊กตู่ หมดสภาพการนำ ต้องรวมศูนย์ให้สมช. แก้น้ำมันแพง ทั้งๆที่ตัวเองเป็นหน.ทีมศก.

‘อดีตเลขาฯสมช.’ ชี้ ‘บิ๊กตู่’ หมดสภาพการนำ ต้องรวมศูนย์ให้สภาความมั่นคงฯ แก้น้ำมันแพง ทั้งๆที่ตัวเองเป็นหน.ทีมเศรษฐกิจ 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่ชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้สมช. ดูแลความมั่นคงอาหาร และพลังงาน ว่า แม้สมช.จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การป้องกันประเทศ และอื่นๆ แต่ก็เป็นเพียงเจ้าภาพเพื่ออำนวยการเท่านั้น อย่างในเรื่องพลังงาน และอาหารถือเป็นมิติด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นัยยะอันเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสมช. จะดูเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก โดยเฝ้ามองจากตัวเลขที่มาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาป้อนให้เห็นว่า จนรวยอย่าให้มันถ่างเกิน เพราะถ้าถ่างเกินไป จะนำไปสู่สถานการณ์ของความไม่สงบเรียบร้อยได้ มีการลุกฮือประท้วง และถ้าแตกแยก มีความรุนแรง จนกลายพันธ์ุเป็นภัยคุกคาม จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้ เป็นต้น ส่วนอื่นๆในมิตินี้ก็เป็นการทำแผนเตรียมพร้อมเพื่อการสำรองทรัพยากรต่างๆ แม้เรื่องพลังงานจะเกี่ยวข้องจริง แต่เป็นเรื่องส่งผลล่อแหลมเป็นวิกฤตการณ์ เช่น การขาดแคลน ก็อาจนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยได้ แต่สถานการณ์วันนี้ไม่ถึงขนาดนั้น

“สถานการณ์วันนี้ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลน แต่เป็นเรื่องราคาแพง ส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน จึงต้องแก้ที่ราคา เจ้าภาพมีอยู่แล้ว หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย โดยเฉพาะหมวก 2 ใบที่พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบอยู่ นั่นคือ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องช่วยกันสุ่มหัวโดยเชิญภาครัฐภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับบริบทนี้มาหามาตรการที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสั่งการระดับรัฐบาล ซึ่งก็มีนายกฯเป็นหัวหน้าอีก ดังนั้นเรื่องนี้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้คือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถใช้หน้าที่ในกำกับจัดการได้ ไม่ใช้ให้สมช.มารับผิดชอบ เรื่องนี้มันจึงผิดฝาผิดตัวไปหมด ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการนำของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่สามารถบูรณาการรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกันได้ จึงมีภาพคนที่เกี่ยวข้องเกียงหน้าที่รับผิดชอบ จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องส่งเรื่องนี้มาให้สมช.หน่วยงานที่อยู่ภายใต้ตัวเอง มันจึงกลายเป็นการรวมศูนย์เพื่อความมั่นคงของตัวเองไป ไม่ใช่ความมั่งคงของประเทศชาติ” พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เมื่อนำสมช.มาใช้เป็นเครื่องมือเมื่อไหร่ ในความรู้สึกของพี่น้องประชาชน รวมไปถึงต่างประเทศเขาจะมองทันทีว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่อาจจะไปสู่ความไม่สงบหรือไม่ จะมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิมาใช้หรือเปล่า แล้วที่สำคัญจะมีโอกาสส่งผลกระทบไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ ฉะนั้นความเข้มข้นโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบสมช.ของเรา เมื่อไหร่ที่สมช.กระโจนเข้ามาคือเรื่องใหญ่ เพราะถือเป็นการอำนวยการด้านความมั่นคง แต่นี่เราใช้สมช.มาอำนวยการด้านนโยบาย จนลงมาสู่อำนวยการในการปฏิบัติทุกเรื่องไปแล้ว ดังนั้น ถ้าใช้ถูกที่ถูกเวลาจะดี แต่ถ้าใช้ผิดเวลาจะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดปัญหาหนักไปอีก อย่างสถานการณ์โควิดตอนนี้ จะมีการถอดหน้ากาก รณรงค์ให้คนมาท่องเที่ยว แต่ยังมีการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้อยู่ มันเลยลักลั่น ทำให้คนจะตัดสินใจเข้ามามองว่า ยังมีการใช้กฏหมายจำกัดสิทธิอยู่ก็อาจจะเลือกไม่มาก็ได้ อย่างเรื่องพลังงาน เมื่อนำสมช.มาใช้ จากเรื่องราคามันจึงถูกมองจนกลายเป็นความกังวลเรื่องวิกฤตน้ำมันขาดแคลนหรือไม่แทน

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image