กมธ.สภาตอบโจทย์ เลือกผู้ว่าฯทั่วประเทศ

กมธ.สภาตอบโจทย์ เลือกผู้ว่าฯทั่วประเทศ

หมายเหตุนายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจ ให้สัมภาษณ์ประเด็นเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ก่อนมีมติเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนกลุ่ม We’re all voters เข้าร่วม

การขยับของ กมธ.กระจายอำนาจฯ สภาผู้แทนฯ ที่มีมติให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ถือเป็นความคืบหน้าการกระจายอำนาจหรือไม่

ผมเป็นผู้เข้าไปชี้แจงพร้อมกับนายสันติสุข กาญจนประกร สื่อมวลชนอิสระ ผู้ก่อตั้งแคมเปญ We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ความจริงมติของ กมธ.ที่ปรากฏเป็นข่าวมีการมอบข้อเสนอเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยไปทำทั้งหมด เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายส่วนราชการและกฎหมายหลายฉบับ ถ้ามอบข้อเสนอทุกอย่างให้กระทรวงมหาดไทยไปทำคงไม่ทำ เพราะไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางตัวแทนกระทรวงมหาดไทยที่เข้าร่วมประชุมวันนั้นมีความเป็นวิชาการดีเพราะไม่มีการอ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง หรือบอกว่าจะได้นักเลงครองเมือง และการซื้อสิทธิขายเสียง แต่มีการอ้างโมเดลของประเทศฝรั่งเศสว่ายังมีการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ชื่นชมต่อคำพูดของตัวแทนที่เข้ามาชี้แจงที่บอกว่า หากทางรัฐสภาออกกฎหมายมาทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นฝ่ายประจำคงต้องทำตาม เพราะประชาชนเห็นแบบนั้น แต่มีคำพูดไว้ให้คิดว่าหากพลาดแล้วก็พลาดเลย ซึ่งผมคิดอยู่ในใจว่าไม่เป็นไร ประชาชนตัดสินใจแล้วประชาชนต้องรับผิดชอบ

Advertisement

การขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจในหลายจังหวัดที่ครึกครื้นเป็นผลจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หรือไม่

ความจริงแล้วครึกครื้นและคึกคักมาตั้งแต่ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และยังไม่รู้ว่าใครจะชนะเลือกตั้งด้วยซ้ำไป เมื่อประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็มีข่าวออกตลอดทั้งสื่อหลัก สื่อโซเชียล หนังสือพิมพ์ และวิทยุเหมือนประเทศไทยมีกรุงเทพฯที่เดียว คนจังหวัดอื่นเมื่อเห็นข่าวมีคำถามว่าทำไมคนกรุงเทพฯได้เลือกผู้ว่าฯหรือผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด แต่ทำไมตัวเองเลือกไม่ได้

จากการพูดคุยกับประชาชนจังหวัดต่างๆ พบว่า พวกเขาเบื่อกันเต็มทีแล้วกับการที่ต้องมีผู้ว่าฯจากการแต่งตั้ง ส่วนราชการอื่นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเบื่อเช่นกัน จึงพยายามแยกออกไปเอง เช่น ศูนย์กระทรวงเกษตร หรือศูนย์กระทรวงยุติธรรมเพื่อพาตัวเองออกจากศาลากลางจังหวัด เพราะไม่อยากขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย หรือต้องมาขึ้นกับคนที่จบรัฐศาสตร์อย่างเดียว บางคนเรียนมามีความเก่งกว่า ทำไมต้องมาเป็นลูกน้องคนจบรัฐศาสตร์ เหตุผลที่ประชาชนอยากเลือกผู้บริหารสูงสุดของตัวเองเพราะผู้ว่าฯปัจจุบันมาแล้วก็ไป บางจังหวัดเรียกว่าเป็นสุสาน ให้ผู้ว่าฯมาเพื่อรอเกษียณ แล้วคนที่รอเกษียณจะไม่ทำอะไรนอกจากกอบโกยและตักตวงผลประโยชน์ ทั้งยังมีความเฉื่อย และพยายามประคองเนื้อประคองตัวเพื่อจะก้าวหน้าไปยังตำแหน่งที่สูงกว่า หรือไปยังจังหวัดที่ใหญ่กว่า เช่น จังหวัดลำปางเมื่อปี 2550 ถึง 2552 เปลี่ยนผู้ว่าฯ 3 คน

Advertisement

ทั้งที่ประเด็นการแก้ปัญหาในพื้นที่แต่ละจังหวัดไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนในท้องถิ่นหรือในพื้นที่นั้น บางคนมาเป็นผู้ว่าฯก็ดื้อไม่ยอมฟังเสียงและข้อเสนอของคนในท้องถิ่น แตกต่างจากผู้บริหารฝ่ายการเมือง เช่น นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เข้าถึงได้ง่าย

คนจังหวัดอื่นตั้งคำถามว่าทำไมกรุงเทพฯถึงมีอภิสิทธิ์มากกว่าจังหวัดตัวเองทั้งที่เสียภาษีเหมือนกัน จ่ายค่าน้ำมันแพงกว่าด้วย จึงทำให้อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯเองบ้าง ที่ผ่านมาส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแย่งงานท้องถิ่นทำ รวมถึงงบประมาณถูกดึงไปที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 72% ลงในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนที่เหลืออีก 28% ให้อีก 76 จังหวัดไปแย่งกันเอง ทำไมกรุงเทพฯ ต้องได้งบประมาณมากกว่าคนอื่น จะบอกว่ากรุงเทพฯเก็บภาษีได้เยอะก็ไม่มีทางถึง 72% พูดง่ายๆ คือมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

กระทรวงมหาดไทยจะปล่อยอำนาจให้ท้องถิ่นหรือไม่

ถ้ากระทรวงมหาดไทยไม่ยอมปรับ คนอื่นจะเข้าไปปรับให้แทน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยขยายอำนาจขึ้น เพราะรัฐบาล คสช.ที่มาจากการรัฐประหาร และมีรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยที่มาจาก คสช.ด้วย จึงพยายามดึงอำนาจกลับมาที่ตัวเอง เช่น การสอบบุคลากรท้องถิ่น

กระบวนการขั้นตอนสู่การกระจายอำนาจและให้จังหวัดปกครองตัวเองเป็นอย่างไร

เริ่มแรกจากการร่างพระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร ก่อนจะเผยแพร่ไปอีก 58 จังหวัด ทำให้ทุกจังหวัดอยากมีกฎหมายเป็นของตัวเอง ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมองว่า ถ้าให้แต่ละจังหวัดทำ จะต้องมีการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารจังหวัดปกครองถึง 76 ฉบับ ในสมัยที่ผมเป็นประธานอนุกรรมาธิการและเป็น ส.ส. ผมได้นำร่างพระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร และพระราชบัญญัติปกครองตนเองมารวมกัน และยกร่างขึ้นเป็นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง ในเนื้อหาสาระเรามองว่าหากจังหวัดใดมีความพร้อมให้คนในจังหวัดนั้นทำประชามติ จากการขับเคลื่อนตั้งแต่ช่วงนั้นจนมาเป็นคณะก้าวหน้า ไปจังหวัดใดคนก็บอกว่ามีความพร้อมที่จะปกครองตนเอง จังหวัดเล็กหรือจังหวัดใหญ่ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การบอกว่าให้จังหวัดที่มีความพร้อมทดลองปกครองตนเองก่อน แล้วก็ทดลองกับกรุงเทพฯมากี่ปีแล้วตั้งแต่ปี 2518 แล้วจนตอนนี้ยังไม่ได้มีจังหวัดไหนได้เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของตัวเองเลย ถ้าจะทำก็ต้องทำเหมือนกันหมดในครั้งนี้เราจึงปรับแก้ในรัฐธรรมนูญ

หากมีพระราชบัญญัติจัดการตนเองก็มีศักดิ์เหมือนพระราชบัญญัติเหมือนกับหน่วยงานอื่น จึงต้องมีกฎหมายที่สูงกว่ามาบังคับใช้ โดยยังให้ส่วนกลางบริหารจัดการเรื่องสำคัญ เช่น การทหาร การต่างประเทศ และการเงินการคลังระดับชาติ หรือเมกะโปรเจ็กต์ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ส่วนที่เหลือก็ให้ท้องถิ่นทำเองได้ เช่น การบริการสาธารณะ

ตอนนี้เราจึงมีเป้าหมายที่จะให้ทำพร้อมกันไปทั้งหมดเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือภายในวันถึงสองวัน โดยอาจจะให้เวลาประมาณ 5 ปีเพื่อให้เกิดความพร้อมถ่ายโอนงานและอำนาจ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นจึงต้องจบที่การทำประชามติว่า ประชาชนยังจะเอาการบริหารงานส่วนภูมิภาคอีกหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ถามว่าหากให้เลือกตั้งผู้ว่าฯแล้ว นายก อบจ.จะไปอยู่ที่ไหน อธิบายง่ายๆ คือหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะไม่มีนายก อบจ. เพราะหากยังมีโครงสร้างเดิมที่เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงมหาดไทย ทุกอย่างก็จะเละ และหากผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งยังอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยก็จะไม่ต่างจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ประชาชนเลือกมาแต่ยังต้องรับนโยบายจากเจ้านายหรือหัวหน้ากระทรวงมหาดไทย คนที่มาจากการเลือกตั้งต้องรับนโยบายจากประชาชน

โครงสร้างของจังหวัดปกครองตนเอง

อย่างแรกคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนกับสภากรุงเทพฯและสภา อบจ. แต่จังหวัดปกครองตนเองเป็นท้องถิ่น 2 ชั้นคือ ข้างบนเป็นจังหวัดจัดการตัวเอง ส่วนข้างล่างจะเป็นเทศบาลหรือ อบต. ที่มีสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ โครงสร้างของจังหวัดจัดการตัวเองจะมีสภาพลเมืองที่แบ่งตามกลุ่ม เช่น เชียงใหม่อาจจะมีสภาพลเมืองชนเผ่า ที่ไม่มีวาระและไม่มีค่าตอบแทนประจำ หน้าที่เหมือนสภาที่ปรึกษาคอยกำหนดวิสัยทัศน์ของเมืองว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเมืองจะไปอย่างไร แต่ไม่มีอำนาจในการปลดผู้ว่าฯ หรือสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

หากให้ทุกจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าฯจะมีผลอย่างไรต่อการเมืองระดับชาติ

คอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer) อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีที่ว่า “No state without city” คือ ไม่มีรัฐหรือประเทศใดที่เข้มแข็งโดยปราศจากเมืองหรือการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อไปดูประเทศที่เจริญแล้วจะพบว่ามีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังนั้น หากประเทศมีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง จะทำให้ประเทศเจริญและจะมีประชาธิปไตยที่กินได้จริงๆ หลักการสำคัญที่ผมพูดอยู่เสมอคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการมีจังหวัดจัดการตัวเอง ตอบสนองหลักปรัชญาของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ว่าไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น คือต้องให้คนท้องถิ่นแก้ปัญหาในท้องถิ่น ไม่ใช่ให้ส่วนกลางเข้ามาจัดการ ทั้งที่ความจริงท้องถิ่นมีงบประมาณและนักลงทุนก็พร้อมแต่กลับไม่ให้จัดการตัวเอง

ประชาชนตามจังหวัดต่างๆ มีความอึดอัดกับนโยบายที่ถูกคิดโดยส่วนกลางมากเพียงใด

มีความอึดอัดเยอะมากเพราะมีการสั่งในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องสั่งบางเรื่องทำไม่ได้จริง หรือบางครั้งก็ไปแย่งงานของท้องถิ่นทำ หรืองานบางงานไปเกี่ยงท้องถิ่นทำ สุดท้ายประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หลายครั้งสั่งงานนอกเหนืออำนาจหน้าที่และสั่งในสิ่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ

ผมเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีคนทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับหนังสือสั่งการไปยังท้องถิ่นทั้งหลาย เกินกว่าครึ่งไม่ได้อาศัยฐานอำนาจอะไรเลยเป็นการออกคำสั่งดื้อๆ หลายอย่างมีการฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกคำสั่ง

ผู้ว่าฯบางส่วนวางตัวและสร้างระยะห่างกับประชาชนมาก

เป็นการวางตัวแบบเจ้าขุนมูลนาย มีลูกน้องล้อมหน้าล้อมหลังคอยเปิดประตูรถ แต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กลับทำอีกแบบหนึ่ง ทั้งแต่งตัวง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องผูกไท และไม่เยอะ ทำให้ประชาชนเริ่มเปรียบเทียบว่าทำไมถึงไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯของตัวเอง ส่วนบางคนมีคำถามกับผมว่า แล้วคิดว่าจะมีคนแบบชัชชาติใน 76 จังหวัดหรือ แต่ยืนยันว่าหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯและการปรับโครงสร้างแบบที่คณะก้าวหน้าต้องการให้เกิดจังหวัดจัดการตัวเอง จะมีคนยิ่งกว่าชัชชาติอีก ตอนนี้คนไม่ลงมาเพราะรู้ว่าจะต้องมาอยู่ใต้อำนาจผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งการทำงบประมาณหรือข้อบัญญัติต่างๆ ที่ต้องให้ผู้ว่าฯและนายอำเภอเซ็นรับรอง

การทำงานของแต่ละคนมีหลายสไตล์ นายชัชชาติอาจจะตื่นตีสี่ตีห้า ขี่มอเตอร์ไซค์ลงถึงที่ แต่บางคนอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งตามความแตกต่างของแต่ละท้องถิ่นและจังหวัด ใครเรียนบริหารต้องรู้ว่าการบริหารที่ดีคือการใช้คนอื่นให้ทำงานและออกมาประสบความสำเร็จ ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีการคนละวิธีและอาจจะดีกว่านายชัชชาติก็ได้ใครจะรู้ เพราะกรุงเทพฯเป็นสังคมเมืองจะไปทำแบบเดียวกันไม่ได้ แต่กระทรวงมหาดไทยส่งคนไปเป็นผู้ว่าฯเหมือนกันหมดทุกคน คือ ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบาย
ครับผม เหมาะสมครับท่าน

ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่จังหวัดจัดการตัวเองหรือไม่

พร้อมตั้งนานแล้ว และถ้าไม่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เชียงใหม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯไปแล้วเพราะกฎหมายเข้าสภาไปแล้ว

ความคืบหน้าการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจของคณะก้าวหน้า

การรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯได้รับการตอบรับดีมาก ส่วนการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ขณะนี้ผ่านทางระบบออนไลน์ได้รายชื่อมา 60,000 รายชื่อ รวมกับรายชื่อที่เป็นเอกสารประมาณ 100,000 รายชื่อ จากนั้นจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นเข้าสู่สภา หากเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ จะต้องพบกับเทคนิคที่มีการนำกฎหมายอื่นเข้ามาแทรก และยังเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่หากนายกรัฐมนตรีไม่เซ็นเหมือนเป็นการปัดตก การเสนอเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่าพระราชบัญญัติ
นายกฯไม่มีสิทธิปัดตก เมื่อเข้าสภาและมีการอภิปราย และชี้แจง ประชาชนจะได้ฟังการตอบข้อซักถามต่างๆ อย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ ส.ส.ไม่มีเหตุผลที่จะมาค้านเพราะทุกคนไปหาเสียงเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจและเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อ ส.ว. จึงไม่มีการคัดค้าน ฉะนั้น โอกาสผ่านจึงมีมากกว่าการเสนอพระราชบัญญัติธรรมดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image