ครป.ออกแถลงการณ์ 90 ปี ประชาธิปไตยไทย ชี้ ‘เดินทางมาไกล แต่ติดหล่ม’

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เผยแพร่แถลงการณ์ 90 ปีประชาธิปไตยไทย

ความดังนี้

ในโอกาสครบรอบ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และวันประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรกของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ครบรอบ 90 ปีที่ผ่านมานั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคพลเมืองไทยซึ่งได้รณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจ และมุ่งเน้นการกระจายอำนาจเพื่อกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน ประเทศไทยผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างเข้มข้น ภายใต้ความขัดแย้งภายในของคนไทยด้วยกัน และกอรปกับอุดมการณ์รัฐที่ผูกขาดผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เราผ่านสงครามกลางเมืองมาหลายครั้ง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อันนำมาซึ่งความสูญเสียของพี่น้องร่วมชาติและบาดแผลของแผ่นดินมาอย่างยาวนาน

Advertisement

90 ปีประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา ถือว่าเราได้เดินทางมาไกลมากแล้ว เหลือเพียงแต่หล่มอำนาจที่ประเทศไทยติดอยู่ไม่กี่ประการ ท่ามกลางผู้นำที่หลงระเริงในอำนาจแบบสามทรราชย์ในอดีตช่วงปี 2514 -2516 ระบอบ รสช. ช่วง 2534-2535 จนมาถึงยุคสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ที่พยายามจะปกครองประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยม โดยอาศัยกลุ่มพรรคพวกตนเองสร้างระบอบคณาธิปไตยในยุคใหม่ขึ้น โดยไม่ใส่ใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและความเป็นมาที่ประชาชนไทยต่อสู้เพื่อความเป็นไท มาอย่างยาวนาน

ดังนั้น เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยของไทยพัฒนาต่อเนื่องต่อไปสู่สังคมแห่งภราดรภาพและสมานฉันท์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเป็นธรรมในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องปรับเปลี่ยนระบอบอำนาจนิยมในปัจจุบันไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนโดยการกระจายอำนาจทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การเงินการคลัง โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีการแบ่งปันเพื่อสังคมและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขความขัดแย้งโดยรวมที่เกิดขึ้นจากผู้นำจำนวนหนึ่งในกองทัพที่ยังคงหลงผิดที่ผ่านมา ดังนี้

1. ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย และนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชนพลเมืองไทย เพื่อสร้างกติกาประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างแท้จริง

Advertisement

ครป. หวังว่าสมาชิกวุฒิสภาและพรรคการเมืองจะตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้ และผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวาระเฉพาะหน้าโดยเร็ว ภายหลังที่มีประชาชนหลายหมื่นคนลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ เร็วๆ นี้ เพื่อปรับเปลี่ยนจาก “ระบอบประชาธิปไตยแบบผูกขาด” ไปสู่ “ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและสมบูรณ์” มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริงดังเช่น รัฐธรรมนูญ 2540

2. ต้องมีการกระจายอำนาจทางการเมือง การปกครองออกไปสู่ท้องที่ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดตั้งประชาธิปไตยทางตรงและสภาพลเมืองในแต่ละท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด หรือยุบเลิก โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่และมีอำนาจทั้งหมดแทนผู้ว่าราชการจังหวัด

3. ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หยุดการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำมหาศาลที่ประเทศไทยดำรงอยู่ภายใต้รัฐบาลทุนนิยมประชารัฐ ถึงเวลาต้องประยุกต์และทบทวนองค์ความรู้การจัดการระบบเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นแบบสังคมรัฐสวัสดิการ แบบสังคมนิยม ฯลฯ ขึ้นมาปรับใช้ในสังคมไทยได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของ ปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง

ทั้งนี้หมายรวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องใส่ใจในด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อำนวยให้เกิดความยุติธรรมในทุกมิติ ตลอดจนหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การขนส่งสาธารณะ การติดต่อสื่อสาร การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

กล่าวสำหรับระบอบทุนนิยมเผด็จการพรรคการเมือง หรือทุนนิยมประชาธิปไตยที่กลุ่มทุนครอบงำพรรคการเมือง ก็ต้องทยอยแก้ไขไปเป็นพัฒนาการการปฏิรูปการเมือง พร้อมกับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งที่ผ่านมามีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจากระบอบอุปถัมภ์ค้ำชู ระบบพรรคพวก เครือญาติ ความเอื้อประโยชน์ทางการเมืองจนนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนทางนโยบาย และการเอื้อกฎหมาย ในการผูกขาดสัมปทาน ต่ออายุสัมปทานหรืออาชญาบัตร หรือยกให้ ทำให้กลุ่มทุนใหญ่มีอำนาจเหนือการเมือง และควบคุม ครอบงำระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีภายในประเทศ จนคนกลุ่มน้อยเพียง 10% มีโภคทรัพย์รวมกันมากกว่า 67% ของประเทศที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ยังผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล่ำที่สูงสุดในประวัติการณ์ สะท้อนถึงความไร้สมรรถภาพ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงขององค์กรรัฐ.

ร่วมกันผลักดันประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์

26 มิถุนายน 2565
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image