ผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ บุกสถานีขยะสายไหมพบใช้เครื่องอัดไม่เต็มประสิทธิภาพ เล็งใช้ระบบเตาเผาสะอาด

ผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ บุกสถานีขยะสายไหมพบใช้เครื่องอัดไม่เต็มประสิทธิภาพ เล็งใช้ระบบเตาเผาสะอาด

 

 

เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 28 มิถุนายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตสายไหม เยี่ยมชม สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยสายไหม เขตสายไหม เพื่อติดตามระบบกำจัดขยะของ กทม. และปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นขยะและเสียงดัง

นายชัชชาติกล่าวว่า สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยสายไหม มีการกำจัดขยะอยู่ที่ 2,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็น 1,000 ตัน ไปฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม หมดสัญญาในปี 2568 และอีก 1,000 ตัน ไปกำจัดขยะที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เริ่มสัญญาปี 2565 หมดสัญญาในปี 2585 ปัญหาคือ กทม.ลงทุนทำระบบเครื่องบีบอัดขยะ (Compact) มูลค่า 700 ล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากตู้ใส่มีน้ำหนักหลายตัน ทำให้ขยะขนไปมีน้อยลง ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น ต้องดูถึงอนาคตว่า จะใช้งานระบบนี้ต่อหรือไม่ เป็นไปตามหลักความคุ้มค่า

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนสัญญาฝังกลบที่จะหมดในปี 2568 ชาวบ้านร้องเรียนปัญหาเรื่องกลิ่นกับเรื่องเสียงในตอนกลางคืน จึงมอบหมายให้นายจักกพันธุ์ ดูแลความเดือดร้อนของชาวบ้าน หลังจากหมดสัญญาแล้วจะทำเป็นเตาเผาขยะ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ในทางปฏิบัติความเข้มข้นต้องไม่น้อยกว่าการทำอีไอเอ ต้องไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชน เชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เตาเผาสะอาดทำได้ แต่ต้องมั่นใจในคุณภาพ ราคาต้องสมเหตุสมผล

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางเข้าออกของสถานีฯเป็นของเอกชน ทำให้ปรับปรุงทางไม่ได้ ในอนาคตถ้าจะลงทุนทำโครงการระดับร้อยล้าน พันล้านบาท ควรจะมีทางเข้าออกที่ถูกต้องด้วย

“ปัญหาขยะของ กทม.คือ มีการทำสัญญาระยะยาว 20 ปี เช่น เตาเผาขยะที่หนองแขม อ่อนนุช ขยะเกินกว่าครึ่งของ กทม.มีสัญญาผูกพันกำหนดค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไว้แล้ว มองไปอนาคตพยายามทำให้ดีที่สุดมีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาขยะของเขตสายไหม เนื่องจากมีประชากรออกมาอยู่เยอะกว่า 2 แสนคน ขยะจึงเพิ่มขึ้น ศักยภาพการเก็บมีไม่เพียงพอ การกระจายตัวของประชากรอยู่เป็นหมู่บ้าน ทำให้ใช้เวลานาน ทั้งนี้ อยากให้มีการเก็บขยะได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งต้องมีการนำอุปกรณ์การเก็บขยะในเมืองมาไว้ตรงนี้ด้วย” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ตอนนี้ระบบกำจัดขยะของ กทม. แบ่งเป็น 1.ฝังกลบ 2.เข้าเตาเผา 3.RDF (เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย) 4.MBT (การหมักเป็นก๊าซมีเทน ไปปั่นกระแสไฟฟ้า) ทั้งนี้ ตั้งใจไว้ให้ฝั่งกลบลดลงเหลือร้อยละ 30 แต่ค่าใช้จ่ายไม่ฝังกลบต้องสมเหตุสมผลด้วย ถ้าแบบไม่ฝังกลบมีราคาแพงกว่า ซึ่งต้องพิจารณาต้นทุนอย่างเหมาะสม ส่วนการแยกขยะต้องทำเป็นระบบ แยกขยะเปียก ขยะแห้ง อาจจะมีการให้ปุ๋ยหมักกับประชาชนเป็นการตอบแทนด้วย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image