กมธ.คู่ชีวิต ถกนิยาม ‘ไม่ระบุเพศ’ เผยมีกม. 47ฉบับต้องแก้ กรณีจดทะเบียนสมรส

‘กมธ.คู่ชีวิต’ ถกความไม่มีเพศ ภายใต้หลักไม่กระทบสิทธิชาย-หญิง เผยมี กม. 47 ฉบับเกี่ยวข้องสามี-ภรรยา ที่ต้องแก้ รวมถึงการจดทะเบียนสมรส-คู่ชีวิตกับอีกคนได้หรือไม่

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. … ทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา ร่วมกันแถลงผลการประชุม

โดย น.ส.ธณิกานต์กล่าวว่า แนวทางการพิจารณาจะพิจารณาทั้งหมด 4 ร่าง โดยแบ่งเป็น 2 คู่คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 2 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายเพ่ง และพาณิชย์ 2 ฉบับควบคู่กันไป ภายใต้หลักการว่าต้องไม่กระทบสิทธิของชายหญิงที่มีอยู่เดิม แต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น และเพิ่มความครอบคลุมสำหรับทุกเพศ หรือสำหรับเพศเดียวกัน

ขณะที่นายแทนคุณกล่าวว่า ในส่วนของเนื้อหาที่มีการลงรายละเอียด เป็นการเตรียมรับความเปลี่ยนผ่านของสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศไปจนถึงความไม่มีเพศ เช่น การจะไม่มีคำเรียกนำหน้า นาย, นาง, นางสาว หรือจะไม่มีคำเรียกภรรยา สามี ซึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหรือสูญเสีย จำเป็นต้องมองให้ครบทุกด้าน ทั้งนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพที่จะได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ เพราะบางประเทศยังไม่ยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่ง กมธ.บางส่วนที่มาจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้มาร่วมหารือเพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจ

Advertisement

นายแทนคุณกล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือกฎหมายฉบับนี้มีความก้าวหน้าแต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนผ่านบริบทใหญ่ของสังคมคือ คู่สมรส และคนอื่นที่เป็นประชากรหลักอีก 70 ล้านกว่าคนจะสามารถยอมรับ หรือเข้าใจความหลากหลายในมิตินี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกปัดตก หรือถูกฟ้องร้องต่อศาล

ซึ่ง กมธ.ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยในที่ประชุมว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความว่าไม่ขัด นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของสามี ภรรยา อีก 47 ฉบับที่ต้องแก้ไขเช่นกัน รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่าในอนาคตผู้ชาย 1 คน อาจจะเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับบุตรได้ ซึ่งต้องดูว่าบริบทของสังคมในเวลานั้นจะสามารถยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงความทับซ้อนของกฎหมายว่าหากบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายสมรสแล้วจะไปจดทะเบียนคู่ชีวิตกับอีกคนหนึ่งได้หรือไม่ และจะมีเงื่อนไขใดบ้างที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น ยังมีการหารือเรื่องนิยามของความเป็นเพศ เพราะปัจจุบันนี้ในกลุ่ม LGBTQ+ ก็มีกลุ่มที่ไม่เป็นเพศอยู่เช่นกัน เช่น กลุ่มเอเซ็กชวล (Asexsual) คือกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ระบุเพศใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ กมธ.ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image