“ชัชชาติ” บุกสภา แจง “กมธ.คมนาคม” เตรียมเพิ่มรถเมล์ ยันรถไฟฟ้าสีเขียว กทม.ตัดสินใจเองไม่ได้ เหตุหนี้เยอะ

‘ชัชชาติ’ บุกสภา แจง ‘กมธ.คมนาคม’ เตรียมเพิ่มรถเมล์เสริม ขสมก. ยันรถไฟฟ้าสีเขียว กทม.ตัดสินใจเองไม่ได้ เหตุหนี้เยอะ ด้าน ‘โสภณ’ เตรียมตั้งอนุ กมธ.แก้ปัญหา

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 มิถุนายน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธาน กมธ. ได้เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เข้าชี้แจงเกี่ยวกับระบบขนส่งและการจัดการคมนาคมทั้งระบบใน กทม. เพื่อฝ่ายนิติบัญญัติจะได้สนับสนุนให้งานของ กทม.เดินไปได้

โดย นายชัชชาติชี้แจงว่า กทม.มีหลายหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องคมนาคมและการจราจรทางถนน โดย กทม.รับผิดชอบเพียงแค่ฟุตปาธเป็นหลัก ส่วนไฟจราจรเป็หน้าที่ของตำรวจจราจร ส่วนถนนเส้นหลักเป็นหน้าที่ของกรมทางหลวงดูแล ส่วนคลองกรมเจ้าท่าดูแล ส่วนรถไฟฟ้า กทม.ดูแลแค่สายเดียว คือสายสีเขียวเพราะเป็นสายหลัก ส่วนสายอื่นๆ 7-8 สายและแอร์พอร์ตลิงก์ กทม.ไม่ได้ดูแล ซึ่งนโยบายของ กทม.คือเป็นผู้ประสานงาน เช่น การจราจรทางถนน ตนได้ไปหารือกับตำรวจ เพราะปัจจุบันตำรวจเป็นผู้ควบคุมไฟจราจร แต่ใช้ระบบแมนนวล ต่างคนต่างดู แต่ทรัพยากรเรามีจำกัดจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

โดย กทม.พร้อมที่จะตั้งงบประมาณ เพราะทางตำรวจคงไม่สามารถตั้งงบประมาณในส่วนนี้ได้ เพื่อที่จะสามารถดูระบบการจราจรที่ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการจ่ายใบสั่งเพื่อเก็บค่าปรับ ซึ่งค่าปรับตรงนี้ช่วยซัพพอร์ตระบบการเงิน ซึ่ง กทม.เริ่มดำเนินการที่จะทำระบบอัจฉริยะแล้ว และหาก กมธ.จะให้งบประมาณมาดำเนินการ กทม.ก็ไม่ขัดข้อง เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน นอกจากนั้น ยังต้องปรับปรุงถนนหาจุดตัดต่างๆ และให้เทศกิจมาช่วยจราจร ซึ่งอนาคตมีแนวคิดที่จะโอนตำรวจจราจรมาให้ กทม. ซึ่งเราต้องดูอีกครั้ง เพราะตำรวจจราจรมีภารกิจหลายอย่างที่อาจจะมีเรื่องขัดข้องอยู่ และต้องดูว่าหากโอนมาเขามีความพร้อมแค่ไหน

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เรื่องระบบขนส่งมวลชน ทาง กทม.กำลังพิจารณาเดินรถเมล์บางจุดเสริมกับ ขสมก. เพราะขณะนี้ใบอนุญาตอยู่ที่กรมขนส่ง ไม่ได้อยู่ที่ ขสมก. ดังนั้น กทม.สามารถขออนุญาตเดินรถในบางเส้นทางได้ ซึ่งเวลานี้บางเส้นทาง ขสมก.ขาดระยะ รถของ กทม.ก็จะเข้าไปเสริม ซึ่งอาจจะเลือกเส้นทางที่มีความสอดคล้องกับรถไฟฟ้า รวมทั้งเสริมรถให้กับคนพิการที่มีการร้องเรียนว่ารถไม่พอด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนักอกที่สุดคือ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะที่ กทม.อยู่ในแผนคือสายสีเทา จากเรียบด่วนรามอินทราไปพระราม 3 และสายสีเงินบางนาสุวรรณภูมิ ซึ่งแนวคิดของตนที่ยังไม่ได้นำเข้าหารือในสภา กทม.เราคิดว่าในโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้จะให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะ กทม.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ

Advertisement

ส่วนเรื่องตั๋วร่วมเป็นตั๋วเดียวแต่ราคาเดียวกัน โดยมีผู้รับผิดชอบคนเดียวซึ่งจะเป็นผู้เคาะราคา โดยจะมีการเจรจาให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ส่วนสายสีเขียวที่ยังมีปัญหาค้างอยู่คงมีปัญหาต่อเนื่องเยอะ เพราะสัญญาที่ทำผูกพันเยอะ เพราะสัมปทานจะหมดสัญญาปี 72 และหลังจากนั้นจะมีการประมูลใหม่จะใช้ระบบอย่างไร จะเอาไปรวมแล้วคิดระบบตั๋วร่วมกัน แต่บังเอิญว่าปี 72-85 เขาเซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้วในการจ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งเป็นสัญญาผูกพันกับเอกชน ซึ่งต้องดูเงื่อนไขว่าเราจะทำอะไรตามที่ควรจะเป็นไม่ได้ และเรามีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วโอนให้ กทม. รวมกับหนี้ที่ไปจ้างเดินรถแล้วยังไม่ได้จ่ายเขาอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาดูอีกครั้งว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องดูแลต่อไป

“หลายเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว เราตัดสินใจเองไม่ได้ เพราะเกิดภาระหนี้จำนวนมาก เราจึงต้องเอาเข้าสู่สภา กทม. เพื่อให้ช่วยตัดสินใจ ส่วนข้อเสนอของให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาทนั้น รถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนขยายที่ 1 เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนไข่แดงเก็บค่าโดยสาร 44 บาท แต่ส่วนขยายที่ 2 ไม่เคยเก็บเลย แต่ไม่ได้ฟรีเนื่องจาก กทม.จ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI จึงเสนอให้ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 59 บาท ในทั้ง 3 ส่วน

ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุ มีประชาชนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า หากเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์นั้น ยืนยันว่าแนวคิดการเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนขยายที่ 2 เท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนไข่แดงเก็บ 44 บาทก็ขาดทุนแล้ว นอกจากนี้ แนวคิดตั๋วร่วม อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าได้ เพราะตั๋วร่วมเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา ปัจจุบันมีการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพียงใช้บัตรเครดิตก็สามารถใช้บริการได้ทุกที่” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

จากนั้น นายโสภณให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราอยากทำงานร่วมกับผู้ว่าฯกทม. คือมาเอกซเรย์ปัญหาและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานใน กทม. โดยทาง กมธ.จะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยทางผู้ว่าฯกทม. จะส่งคนมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย

ขณะที่นายชัชชาติกล่าวว่า การทำงานของ กทม.ต้องประสานกับหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะหลายอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแก้เพื่อให้กฎหมายที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์คน กทม.ได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ กมธ.เชิญมาเพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ และการตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เลย ส่วนเรื่องปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า โดยตนจะพบนายธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคมจำกัด (เคที) ในวันที่ 2 กรกฎาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image