ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย โชว์ทิ้งทวนถล่มรัฐบาล

ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย โชว์ทิ้งทวนถล่มรัฐบาล

นับจากพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน หลังจากนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 1 ใน 11 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหาว่า การลงชื่อรับรองมีปัญหาอาจเป็นญัตติเถื่อน แต่สุดท้ายนายชวนยืนยันว่าญัตติถูกต้อง 100% จึงบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเร่งด่วน ก่อนส่งเรื่องไปทางรัฐบาลเพื่อสอบถามว่าสะดวกให้เปิดศึกซักฟอกในวันใด

ขณะที่ความพร้อมของฝั่งรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ระหว่างการพิจารณาวาระจร นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล รายงานเรื่องญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสอบถามความพร้อมเรื่องวันของ ครม.ว่าสะดวกที่จะให้มีการอภิปรายตั้งแต่วันใด

ทางรัฐบาลระบุว่า จะเลื่อนการประชุม ครม.มาเป็นวันที่ 18 กรกฎาคม และรัฐบาลพร้อมอภิปรายตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไป อาจจะไปถึงวันที่ 22 กรกฎาคม แล้วไปลงมติวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม นอกจากนี้
พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำว่า มีความพร้อมที่จะชี้แจงและยืนยันว่าจะเป็นผู้ชี้แจงหลักให้ตัวเอง และขอย้ำกับพรรคร่วมรัฐบาลในการควบคุมเสียง โดยเฉพาะการลงมติช่วงการโหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจขอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่าให้เกิดปัญหาการลงมติเป็นไปคนละทิศละทาง

ขณะที่บทบาทการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นที่จับตาของสังคมและคาดหวังในการทำหน้าที่ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา ถือว่า ส.ส.ของพรรค ก.ก. ทำการบ้านมาอย่างดี ทั้งเนื้อหาสาระ ข้อมูล และหลักฐานชนิดที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในทางการเมืองได้

Advertisement

โดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยถึงการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ของพรรค ก.ก. ซึ่งถูกตั้งความหวังว่าข้อมูลและเนื้อหาของการอภิปรายจะมีน้ำหนักสร้างผลกระทบต่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้ว่า

ในแง่เป้าหมายทางการเมือง ที่เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องหวังผลเพื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ส่วนจะเปลี่ยนทันที เร็วที่สุดคือหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่อย่างช้าที่สุดคือการส่งผลสะเทือนทางการเมืองไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการทำให้รัฐบาล คสช. และพรรคร่วมรัฐบาล ได้รับความบอบช้ำที่สุด

เพราะขณะนี้สังคมต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล หากเปลี่ยนขั้วไม่ได้ ความหวังต่อการฟื้นฟูประเทศหลังยุคของ คสช. ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ก็เกินทนแล้ว เพราะทำให้เกิดเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ระบบกฎหมาย และนิติรัฐ
ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมอย่างมาก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามระบบนิติรัฐ จึงพยายามทำให้ดีที่สุด และทำมาตรฐานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

เลขาธิการพรรค ก.ก.อธิบายต่อว่า ในครั้งนี้จะเป็นผู้ควบคุมและนำทีมการอภิปราย ได้เตรียมขุนพลเพื่ออภิปรายไว้ 13 คน เพื่ออภิปราย 3 ป. บวกกับอีก 4 รัฐมนตรี ครอบคลุมรัฐมนตรีที่มาจาก 2 พรรคร่วมรัฐบาลหลัก คือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยพรรค ก.ก.มีระบบเพื่อปิดกั้นไม่ให้ข้อมูลการอภิปรายรั่วไหลเหมือนเดิม เพื่อรักษาความลับ ผ่านการจำกัดวงการรับรู้ข้อมูล ให้เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น

กลยุทธ์สำคัญที่จะใช้การอภิปรายครั้งนี้ คือการมีกระบวนการย้ำและขยี้ ทำให้นายกฯและรัฐมนตรีชี้แจงตรงประเด็น และตอบคำถามหลักที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้
พรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำงานร่วมกันในการจัดเรียงคิวการอภิปรายว่า ส.ส.คนใดจะเป็นดาบหนึ่ง ดาบสอง หรือดาบสาม เพื่อให้รัฐมนตรีดิ้นไม่หลุด

ด้านรัฐบาลที่ต้องสู้เพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไป พรรคร่วมฝ่ายค้านจะรับมือตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ส่วนการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ การเตรียมกล้วยไว้ แต่เรื่องนี้ก็คงเป็นความขัดแย้งและความไม่มีเสถียรภาพในพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคเล็กต่างๆ

ส่วนแนวทางการโหวตของพรรคเล็ก รวมถึงส.ส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ซึ่งหลายคนก็จับตาดูว่า เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลและความไม่ลงรอยภายใน จะส่งผลต่อการโหวตรัฐมนตรีแต่ละคนอย่างไร และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบางคน

“แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นสำหรับพรรค ก.ก. คือความรู้สึก หรือมุมมองทางการเมืองของสังคมต่อรัฐบาลทั้งหมด เพราะเรามุ่งทำงานกับความคิดของสังคมนอกสภาเป็นหลัก หลายเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องของการทุจริตอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อให้เข้าใจปัญหาสังคมการเมืองไทย ในมิติที่กว้างและลึกกว่านั้น ให้เห็นว่าเราไม่สามารถที่จะยอมให้มีการเมืองแบบนี้อีกต่อไป” นายชัยธวัชระบุ

ส่วนความพร้อมของพรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ฉายภาพว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะขอใช้เวลาอภิปราย 5 วัน และอีก 1 วันสำหรับการลงมติ แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับบอกให้ 3-4 วัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเจรจากันอีก และไม่ต้องให้ประธานสภานัดคุยกันให้เสียเวลา ขอให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาจะดีกว่า

ที่กำหนดไว้ว่าต้องอภิปรายให้ครบตามจำนวนรัฐมนตรีที่ได้ยื่นไป ซึ่งครั้งนี้คือ 11 คน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขณะเดียวกันข้อบังคับก็ยังเขียนป้องกันไว้อย่างครอบคลุมว่าห้ามอภิปรายพร่ำเพรื่อ กินเวลาและซ้ำซ้อน

“สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการฝากไปบอกรัฐบาลคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการตรวจสอบตามหน้าที่ของฝ่ายค้านและตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนึ่งปีกำหนดไว้เพียงแค่หนึ่งครั้ง ถ้ารัฐบาลขี้เหนียวเวลาในการอภิปรายก็มองได้ว่า 1.ฝ่ายรัฐบาลพยายามด้อยค่าการตรวจสอบให้ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการลดเวลาให้การอภิปรายสั้นที่สุด และ 2.ฝ่ายรัฐบาลหวาดกลัวการอภิปราย โดยเห็นได้จากการบีบเวลาให้เหลือน้อยที่สุดและการตั้งองครักษ์ถึง 2 ชุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลวิตกกังวลเป็นอย่างมาก” นายสุทินกล่าว

รอบนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเอกภาพในเป้าหมายของศึกซักฟอกที่ยึดโยงกับ ‘ความเป็นจริง’ ที่ว่า เสียงไม่พอคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีแกนนำรัฐบาลได้ แต่ใช้วิธี ‘นับมือประชาชน’ ที่อยู่ภายนอกสภา มาจัดการรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า

การอภิปรายไม่ไว้วางใจทิ้งทวนในครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะรัฐบาลใกล้ครบเทอม การเลือกตั้งใหญ่รอคอยอยู่ ไม่มีใครอยากเพลี่ยงพล้ำในเวทีนี้ ทำให้ห้วงเวลา 19-22 ก.ค.นี้ มีความหมายน่าจับตาอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image