ถกร่างพ.ร.บ.ตำรวจ สะดุด “พรเพชร” สั่งปิดประชุม หลัง “ปิยะ” ตีมึนเสนอแก้ ม.169/1

ถกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ สะดุด ‘พรเพชร’ สั่งปิดประชุมหลัง ‘ปิยะ’ ตีมึนเสนอแก้ ม.169/1 ด้าน ‘โรม’ โวยเพิ่มข้อความเอื้อประโยชน์ช่วยบางคน ขณะที่ ‘ชัชวาลย์’ ถอย ขอหารือใน กมธ.ใหม่อีกรอบ 4 ก.ค.นี้

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ประชุมร่วมรัฐสภากลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง หลังจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พักรับประทานอาหารกลางวัน โดยการพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วจนกระทั่งถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 158 ว่าด้วยการโอนงานจราจรให้แก่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนคร ภายใน 5 ปีนับจากที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้บังคับใช้ ปรากฏว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ในฐานะ กมธ. ขอสงวนความเห็น และ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ส.ว. ขอแปรญัตติ ให้ตัดมาตรา 158 ออกทั้งมาตรา ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของ พล.ต.อ.ทวี และ พล.ต.ท.ศานิตย์ ด้วยคะแนน 322 ต่อ 61 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 เสียง

ต่อมา เวลา 16.35 น. เป็นการพิจารณามาตรา 169/1 โดย กมธ.ได้เพิ่มขึ้นใหม่ทั้งมาตรา เกี่ยวกับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับชั้นสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดย พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย ในฐานะ กมธ. ได้ขอเพิ่มข้อความในมาตรา 169/1 ระบุว่า “ในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง ก็จะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร.กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้

พล.ต.อ.ปิยะกล่าวต่อว่า สาเหตุที่เพิ่มข้อความในมาตราดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบจากกรณีที่มีการเอาเนื้อความบางส่วนไปใส่มาตรา 69 ส่งผลกระทบให้เมื่อพิจารณาจำนวนปีจะเชื่อมโยงไปมาตรา 80 และมาตรา 2 โดยมาตรา 80 ระบุว่า ให้เป็นไปเพื่อความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง ดังนั้น จะทำให้ระยะเวลาในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นมีผลใช้ทันที ซึ่งจะส่งผลต่อตำรวจที่มีสิทธิเลื่อนตำแหน่งตามกฎหมายเดิมจะถูกตัดสิทธิทันที แบ่งเป็น กลุ่มผู้บังคับการ 72 ราย รองผู้บัญชาการ 49 นาย รวม 121 นาย เกิดเป็นปัญหาการพรากสิทธิ และเนื่องจากระยะเวลาในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ในรายละเอียดต้องมีการจัดตำรวจเข้าในกลุ่มสายงานต่างๆ โดยมีระยะเวลากำหนด แต่การมีผลบังคับใช้ทันทีจะไม่เปิดโอกาสให้ตำรวจที่ได้รับผลกระทบได้เลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะระยะเวลาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม

พล.ต.อ.ปิยะกล่าวอีกว่า เนื่องจากในวาระเริ่มแรกนี้การย้ายข้ามหน่วย ข้ามภูมิลำเนาจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะชั้นประทวนและระดับรองสารวัตร ซึ่งมีเงื่อนไขการย้ายคือ ในทุกปีจะมีภาพรวมช่วงเวลาการแต่งตั้งที่จะมีระดับรองสารวัตรไม่น้อยกว่า 400 นาย ชั้นประทวน 3,000 กว่านาย ร้องขอกลับภูมิลำเนา แต่เงื่อนไขใหม่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่ตามกฎหมายเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตรากตรำครบ 4 ปี จะหมุนเวียนให้กลับภูมิลำเนาได้

Advertisement

จากนั้น นายพรเพชรแจ้งต่อที่ประชุมว่า คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่มีใครแปรญัตติ และเป็นร่างที่ยกขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ มีสมาชิกขอผู้สงวนความเห็น 3 ท่าน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งขอให้ตัดมาตราดังกล่าวออกทั้งหมด และอีกกลุ่มหนึ่งคือ นายวิชา มหาคุณ ซึ่งท่านไม่มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้า กมธ.ต้องการจะเพิ่มข้อความจริงๆ จะต้องถอนร่างออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภา อาทิ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.), นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. เป็นต้น ลุกขึ้นท้วงติงว่าสิ่งที่ พล.ต.อ.ปิยะเสนอไม่ถูกต้องตามกระบวนการตรากฎหมายของรัฐสภา ไม่มีที่มาที่ไป เพราะ พล.ต.อ.ปิยะไม่ได้ขอสงวนความเห็นหรือแปรญัตติไว้แต่อย่างใด จึงขอให้นายพรเพชร ในฐานะประธานการประชุม สั่งพักการประชุมเพื่อให้ทางคณะ กมธ.ได้ปรึกษาหารือว่าควรจะทำอย่างไรในการเพิ่มข้อความ

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า แว่วว่าการเพิ่มข้อความของ พล.ต.อ.ปิยะเพื่อช่วยใครบางคน เป็นเรื่องไม่เหมาะสม อย่าทำให้ภาพลักษณ์ของกฎหมายดังกล่าวแย่ไปกว่านี้ จึงขอเสนอให้เดินหน้าการประชุมต่อ

ขณะที่นายจุลพันธ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทาง กมธ.ได้ประชุมกันเองในเรื่องนี้ แต่หาข้อสรุปเองไม่ได้ สุดท้ายจึงใช้วิธีให้ พล.ต.อ.ปิยะเสนอกลางสภา ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ ทางที่ดีเดินหน้าประชุมต่อ โดยลงมติว่าจะเห็นด้วยกับที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่เพิ่มทั้งมาตรา หรือให้ตัดออกทั้งมาตรา

จากนั้น เวลา 17.05 น. ประธานในที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที ต่อมาเวลา 17.12 น. ได้เปิดประชุมอีกครั้ง ซึ่ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองประธาน กมธ. รักษาการประธาน กมธ. แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอให้ทางคณะ กมธ.ได้ไปปรึกษาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ช่วงเช้าเสียก่อน เพื่อปรับถ้อยคำ ซึ่งนายพรเพชรก็ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 17.25 น. โดยกล่าวว่า วันนี้สมาชิกรัฐสภาเหนื่อยล้ามาทั้งวัน และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ให้ทาง กมธ.ไปดำเนินการ เป็นเรื่องของทาง กมธ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image