เสียงสะท้อน “ภาคเอกชน” แนะ รบ.รับมือค่าครองชีพพุ่ง
หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนจังหวัดต่างๆ กรณีเกิดปัญหาราคาพลังงาน ราคาสินค้า ค่าครองชีพเพิ่มสูงอย่างมาก รัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไร
หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ
เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ พาเหรดขึ้นราคาพร้อมๆ กันอยู่ในขณะนี้ ทำให้ทีมแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเป๋อย่างเห็นได้ชัด ถือว่าเรื่องนี้มีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอกประเทศ รัฐบาลไทยไม่สามารถจะไปควบคุมได้ และส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาภายในรัฐบาลเอง ไม่มีนโยบายการแก้ไขปัญหาออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันกรณีของกองทุนน้ำมันของไทยตอนนี้ติดลบอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ภาคเอกชนเองก็รอดูท่าทีว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่รัฐบาลก็ยังตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องต่างๆ อยู่เลย หากจะใช้รูปแบบระบบราชการเดิมๆ มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย หยุมหยิมเต็มไปหมด กว่าจะทำอะไรได้คงจะสายเกินไป สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงในขณะนี้คือรัฐบาลต้องมีความชัดเจน ตัดสินใจเด็ดขาด และมีการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เพราะทุกวันนี้แม้แต่นักลงทุนต่างชาติจะมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เขายังไม่กล้าตัดสินใจมาลงทุนเลย เพราะไม่รู้ว่ามาลงทุนแล้วเราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปในทิศทางใดกันแน่ จริงอยู่ตอนนี้เงินบาทของไทยจะอ่อนค่า เป็นผลดีต่อการส่งออก สินค้าเกษตรของไทยมีราคาค่อนข้างจะดี แต่น้ำมันที่เราซื้อมาก็แพงไปด้วย จากค่าเงินบาทของเราอ่อนตัวลง
ดังนั้น สิ่งที่สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยากเสนอคือ ต้องการให้รัฐบาลรีบตัดสินใจกู้เงินมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้โดยด่วน แต่ก่อนจะกู้เงินก็ขอให้มีแผนว่าจะนำเงินที่กู้มานี้ใช้จ่ายอะไรบ้าง อย่างเช่น จะนำเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยกองทุนน้ำมันที่ติดลบไปแล้วจำนวนมาก หรือเงินที่จะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการภาครัฐต่างๆ เพราะการตัดสินใจโดยไม่มีเงินจะมีทางเลือกน้อย ต่างจากการตัดสินใจโดยมีเงินอยู่ในมือจะมีทางเลือกมากกว่า แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย เพราะกลัวกระทบกับฐานเสียงทางการเมืองอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงตอนนี้ก็ถูกด่าอยู่แล้ว ก็ไม่มีอะไรจะเสีย สู้รีบตัดสินใจทำอะไรที่ชัดเจนไปเลยจะดีกว่า
การกู้เงินนั้นอยากเสนอว่าให้กู้เงินในประเทศดีกว่ากู้เงินต่างประเทศ เพราะดอกเบี้ยในประเทศถูกกว่า และภาระผูกพันต่างประเทศก็ไม่มีด้วย ขณะนี้เม็ดเงินในประเทศมีอยู่มหาศาล เนื่องจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ค่อยปล่อยเงินกู้ เงินจึงค้างอยู่ในธนาคารจำนวนมาก ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยในประเทศ RT. อยู่ประมาณ 50 สตางค์ แต่ต่างประเทศ 2 บาทกว่า ดอกเบี้ยต่างกันมาก จึงเหมาะจะกู้เงินในประเทศ แต่ก่อนจะกู้เงินมาก็ต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนรู้ก่อนว่าจะนำเงินเหล่านี้ไปใช้อะไรบ้าง การจะนำไปแจกให้ประชาชนใช้เหมือนในอดีตนั้นตนก็มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และไม่ได้เกิดโปรดักต์ใหม่ๆ จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เงินหมดก็เหมือนเดิม
ดังนั้น ควรมีนโยบายอะไรสักอย่างทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจริงๆ และต้องรีบตัดสินใจตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าช้ากว่านี้คงจะไม่ทันการณ์ เพราะเวลามันมีต้นทุนของมัน ถ้าตัดสินใจช้าวันนี้ วันหน้าจะแก้ไขปัญหาเดียวกันนี้ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวแน่
สุนทร ธัญญวัฒนกุล
ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัด 1 อีอีซี
(ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง)
ปัญหาน้ำมันแพง แก๊สแพง ยอมรับว่าแก้ไขปัญหายาก หากรัฐบาลไม่มีมาตรการขั้นเด็ดขาด ช่วงนี้ถือว่าเงินเฟ้อมาก เงินซื้อสินค้าได้น้อยลง โดยมีผลพวงมาจากการขนส่ง ในเมื่อน้ำมันแพง ทุกสิ่งทุกอย่างก็แพงขึ้นตามมาหมด จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้ค้าน้ำมันในประเทศ หรือโรงกลั่นน้ำมัน ยอมเฉือนเนื้อตัวเองบ้าง หากกล่าวง่ายๆ ยอมขาดทุนกำไร เพราะช่วงที่ผ่านมากำไรไปมากแล้ว ทำเพื่อชาติได้ไหม เพื่อให้ทุกคนอยู่รอด ประชาชนทุกคนถือว่าเป็นลูกค้าผู้ซื่อสัตย์ ราคาน้ำมันจะขึ้นเท่าไหร่ก็ยอมควักจ่ายหมด ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบ เมื่อได้ลูกค้าดีๆ อย่างนี้แล้วทำไมผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่นไม่เห็นใจประชาชนบ้าง
ในการแก้ไขปัญหานั้น อยากให้ผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นยอมลดราคาในช่วงนี้ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม และอยู่ได้ทุกฝ่าย อาจจะใช้มาตรการเป็นช่วงๆ คือ 2-3 เดือนลดราคาน้ำมัน แล้วประเมินสถานการณ์ อาจจะใช้เวลา 3-4 ช่วง เพื่อให้สถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้น ประชาชน ธุรกิจต่างๆ ภายในประเทศอยู่ได้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นค่อยมาปรับราคาน้ำมัน
ผมไม่อยากเห็นราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจนชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ธุรกิจต่างๆ เสียหาย คนตกงานทั้งประเทศ ส่งผลให้ประเทศวิกฤต เกิดการปล้นสะดม เมื่อประเทศถึงขั้นนั้นแล้วทุกคนก็อยู่กันไม่ได้ จึงอยากให้ผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่น หันมาพิจารณาตัวเอง ยอมขาดทุนกำไรสักระยะหนึ่ง ถือว่าทำเพื่อชาติ
หากศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศจีนจะพบว่าบางครั้งรัฐบาลยังต้องกำหนดให้ประชาชนกินข้าวคนละไม่เกิน 1 ชามเมื่อยามเกิดวิกฤต เพื่อให้รักษาชีวิตให้อยู่รอด เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นอย่างเช่นในปัจจุบันก็คลายมาตรการทุกอย่าง ทุกคนลืมตาอ้าปากได้ สามารถสู้ชีวิตต่อไปได้
ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำมันแพง ก๊าซแพง ผู้ประกอบการค้าน้ำมัน โรงกลั่น ต้องหันหน้ามาช่วยเหลือประชาชน เมื่อประเทศชาติรอด ทุกคนก็รอดหมด ยอมรับสงครามระหว่างรัสเชียกับยูเครนเกิดผลกระทบด้านพลังงานไปหมด ทุกประเทศก็พยายามกักตุนพลังงาน เพราะไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไหร่ ในเมื่อไม่สามารถฝากความหวังกับประเทศต่างๆ ได้ ทุกฝ่ายต้องหันมาช่วยเหลือในฐานะคนไทยด้วยกัน
ช่วงนี้คนรวยต้องหันมาช่วยคนจน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน หรือโรงกลั่น ควรหามาตรการเกี่ยวกับการลดราคาน้ำมันให้ได้ เมื่อทุกคนอยู่รอด วิกฤตน้ำมันคลี่คลาย ค่อยมาว่ากันใหม่ว่าจะดำเนินการไปอย่างไร หากยังปล่อยให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ประชาชนตายกันหมด แล้วประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร
ธนวัฒน์ พูนศิลป์
ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา
เรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเหตุให้ราคาสินค้าหลายรายการปรับเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพราะค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ต่างก็ได้ทำใจยอมรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการบริหารงานโดยรัฐบาล ในส่วนของจังหวัดสงขลา สิ่งที่ร้องขอไปยังรัฐบาลก่อนหน้านี้คือการเปิดเมือง ปลดล็อกการควบคุมต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่มีเงื่อนไขมากมาย ขณะนี้เมื่อมีการเปิดเมืองก็ทำให้ภาคธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยว ก็สามารถขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ แม้ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น ต้นทุนเพิ่ม การค้าขายก็ปรับเพิ่มไปตามต้นทุน แต่เมื่อเศรษฐกิจ เมื่อการท่องเที่ยวยังเดินหน้าไปได้ ก็มองว่าทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามสภาวะที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการก็ได้มีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
ภาคเอกชนเราจะดำเนินการอะไรก็ยาก ต้องยอมรับไปตามสภาพอย่างเดียว ลดค่าใช้จ่าย พยายามหาแนวทางในการลดภาระต้นทุนของตัวเอง วันที่ 7 กรกฎาคม จะมีการประชุมร่วมกันของ 19 องค์กรในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนในจังหวัดสงขลา เพื่อรับทราบสถานการณ์การประกอบการของผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ โมเดิร์นเทรด การค้าปลีก และอื่นๆ เพื่อให้รับทราบผลกระทบ พร้อมแนวทางในการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการแต่ละราย เพื่อสรุปปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะ นำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
จุลนิตย์ วังวิวัฒน์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
ปัญหาน้ำมันแพง ก๊าซแพง สินค้าปรับขึ้นราคา ค่าครองชีพสูง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะปัจจัยที่มากระทบทั้งหมดค่อนข้างเยอะ และเราไม่รู้ว่าปัจจัยอันไหนคุมได้และอันไหนคุมไม่ได้ เพราะเกิดผลกระทบไปทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย ยกตัวอย่างสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะอย่างที่เราทราบกันคือ รัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีส่งออก เมื่อถูกแบนจากยุโรปก็ทำให้ต้นทุนจากปุ๋ยที่ใช้เป็นส่วนผสมขึ้นราคาไปด้วย
สิ่งที่ต้องทำคือการวางแผนระยะยาวว่าต่อไปเราจะทำอย่างไร เพราะเชื่อว่าราคาที่อาจจะลดลงแต่คงไม่ถูกไปกว่านี้ จำเป็นต้องหาพลังงานทดแทนไว้ เช่น โซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นทางเลือก คือไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและประชาชนต้องรีบมองหาพลังงานทดแทนและปรับตัวให้เร็ว สิ่งที่รัฐน่าจะทำได้ คือการลดราคาอุปกรณ์ให้ประหยัดกว่านี้ หรือลดการจัดเก็บภาษีให้เป็นศูนย์ไปเลย และสนับสนุนให้คนใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
ส่วนเรื่องค่าครองชีพสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อปากท้องประชาชนไม่ใช่เพียงประชาชนระดับกลางและล่างเท่านั้น แต่ระดับสูงก็กระทบเช่นกัน แต่อาจจะน้อยกว่าเท่านั้น เรื่องนี้น่าเห็นใจ และที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการมาคุมปัจจัยหลายอย่าง แต่เรื่องปากท้องคุมได้ไม่นาน และสินค้าทยอยขึ้นแม้รัฐจะออกมาห้ามผู้ประกอบการแล้วแต่ก็ยังแอบขึ้นกันอยู่ดี ส่วนค่าโดยสารหากไม่ให้ปรับผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ ยกตัวอย่างบริษัทกรีนบัสผู้ประกอบการอยู่ที่เชียงใหม่เราเองก็เกือบจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะต้นทุนทุกอย่างสูงหมด
สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องปรับตัว รัฐออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมให้ใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น และลดภาษีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทดแทน เพราะทั้งหลอดไฟ หรืออุปกรณ์ประหยัดไฟยังแพงอยู่มาก เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
ชาญณรงค์ บุริสตระกูล
ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
ภาวะของแพงเป็นปัจจัยภายนอก ทั้งราคาต้นทุนและค่าเงิน ต้องเห็นใจรัฐบาลเพราะเรื่องนี้จัดการยาก แต่รัฐบาลต้องช่วยผู้มีรายได้น้อย กลับไปอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน เช่น ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน การเดินทางอย่าให้ค่าครองชีพสูงจนเกินไป หันกลับมาสนับสนุนสินค้าไทยเป็นรายได้ของเกษตรกร จะทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศ ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก หากนำเรื่องนี้มาเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสสำหรับเศรษฐกิจไทย เรื่องค่าเงินและค่าครองชีพก็ดี ยังถือว่าถูกกว่าต่างประเทศเยอะ ต้องกลับมารณรงค์การท่องเที่ยว ส่งเสริมสนับสนุนให้คนเข้ามาอยู่อาศัย มาศึกษา มาพักรักษาตัว
การลดค่าครองชีพ เช่น ค่าเดินทาง รถไฟฟรี รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน อยากให้คนต่างจังหวัดได้ด้วย รูปแบบของรถ บขส.หรือรถตู้โดยสาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ให้ผ่านแอพพ์เป๋าตัง ไม่ต้องให้ประชาชนมาลงทะเบียนอีก ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาลต้องหาวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ หารายได้มาชดเชยต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ต้องหาเงินให้เก่งขึ้น เช่น ส่งเสริมและเพิ่มการสร้างอาชีพ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ใช้เมืองไทยจากศูนย์กลางการศึกษาของต่างชาติ มาเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ต่างชาติพักรักษาตัว ขณะเดียวกันประชาชนเองก็ต้องปรับตัวช่วยเหลือตนเอง ไม่ต้องรอรัฐบาลช่วยอย่างเดียว เริ่มจากทบทวนรายจ่ายในครัวเรือน สิ่งใดจำเป็น หากไม่จำเป็นตัดออกไปก่อน เพื่อประหยัด ส่วนการเพาะปลูกต้องทบทวนว่า พืชชนิดไหนสร้างรายได้ พืชชนิดไหนยิ่งปลูกยิ่งขาดทุน อาจหยุดปลูก รวมทั้งการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัว พยายามเพิ่มศักยภาพและความสามารถให้ตนเอง ใครปรับตัวได้ก่อนจะเห็นโอกาสก่อน คาดว่าหลังโควิด-19
คลี่คลาย เศรษฐกิจน่าจะกลับมาดีขึ้น