‘ชูศักดิ์’ ชี้สูตรหาปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ขัด รธน. สร้างปัญหา ทำ กม.ลูกสะดุด

แฟ้มภาพ

‘ชูศักดิ์’ ชี้สูตรหาปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ขัด รธน. สร้างปัญหา ทำ กม.ลูกสะดุด

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามผลักดันการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้สูตรหารด้วย 500 ว่า กมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึง ส.ว.บางส่วนได้เสนอคำแปรญัตติและสงวนความเห็นไว้ประมาณ 5-6 ญัตติด้วยกัน ซึ่งคงต้องไปพิจารณากันในรัฐสภา เหตุผลที่ กมธ.เสียงข้างมากเห็นว่าต้องหารด้วย 100 นั้น มีหลายเหตุผลคือร่าง พ.ร.บ.ทั้งสี่ร่าง โดยเฉพาะร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณา และร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอก็ใช้ 100 หารด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีร่างใดเลยที่ใช้ 500 หาร เป็นหลักการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบคู่ขนานบัตรสองใบ แบบแยกกันนับ ซึ่งรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการกลับไปใช้วิธีคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวได้

นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า สูตรคำนวณโดยใช้ 100 หาร เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 มาตรา 91 ที่กำหนดวิธีการคำนวณโดยเอาคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับมารวมกันทั้งประเทศแล้ว แบ่งจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกของแต่ละพรรคเป็นสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรง กับจำนวนคะแนนรวมของพรรคการเมืองทั้งประเทศนั้น ถ้อยคำเช่นนี้เคยใช้มาแล้วในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 โดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 ซึ่งเป็นบัตรสองใบ คือแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เพียงแต่มีการนำเอา 10 ไปหาร เนื่องจากครั้งแรกแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด มี ส.ส.บัญชีรายชื่อกลุ่มละ 10 คน ต่อมาเอา 125 ไปหาร เพราะแบ่ง ส.ส.เป็นเขต 375 บัญชีรายชื่อ 125 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มี ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน จึงต้องเอา 100 ไปหาร หากเอา 500 ไปหารจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 อย่างแน่นอน

นายชูศักดิ์กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญยังคงมี ส.ส.พึงมีไว้ในมาตรา 93 และ 94 นั้น เป็นบทบัญญัติที่คิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เนื่องจากมีการเลือกตั้ง ส.ส.เขตใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้บัตรใบเดียวโดยเอาคะแนน ส.ส.เขตมาคำนวณ แต่เมื่อเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ ต้องแยกกันนับ ไม่มีกรณีที่เอาคะแนน ส.ส.เขตมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงไม่มีกรณี ส.ส.พึงมีตามมาตรา 93 และ 94 แล้ว ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการไปนั้น ยืนอยู่บนฐานของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 ในหลักการของร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 4 ร่าง เรื่องการคิดคำนวณคะแนนในระบบคู่ขนานที่เคยใช้มาแล้ว ทั้งการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2554 โดยลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image