เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งใน กทม. จัดชุมนุม “แต่งตัวตามใจไม่ใช่อาชญากรรม” หลังจากทางโรงเรียนออกประกาศให้นักเรียนทุกคนเข้ารับการตรวจเครื่องแบบและทรงผม ที่หอประชุมของโรงเรียน โดยกลุ่มนักเรียนดังกล่าว นัดแต่งชุดไปรเวต เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย และเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับตรวจระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและทรงผม โดยชี้ว่า ก่อนหน้านี้ในสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนสอนได้ตามปกติโดยไม่ได้ตรวจเครื่องแบบและทรงผมของนักเรียน แต่เมื่อการแพร่ระบาดคลี่คลาย โรงเรียนกลับมาตรวจเครื่องแบบและทรงผมของนักเรียนอีกครั้ง เป็นสาเหตุของการนัดชุมนุมดังกล่าว
ระหว่างการชุมนุม นักเรียนร่วมกันตะโกนเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว นำผ้าขาวมาวางเพื่อให้นักเรียนได้เขียนแสดงความคิดเห็น พร้อมกับระบุขอให้ทางโรงเรียน พิจารณาว่า ความเข้มงวดดังกล่าว ทำไปเพื่ออะไร เพราะหวังดีกับนักเรียน หรืออยากให้นักเรียนอ่อนน้อม และเชื่องกันแน่ อยากให้นึกย้อนไปว่า โรงเรียนต้องการบ่มเพาะอะไรให้นักเรียน บ่มเพาะความกลัว หรือบ่มเพาะความกล้าหาญให้นักเรียนกันแน่ ฝากถึงคนที่บอกว่าโรงเรียนตกต่ำ โรงเรียนจะตกต่ำเพราะอะไร เพราะผมนักเรียนไม่เป็นสีดำ เพราะนักเรียนไม่ใส่ชุดนักเรียน เพราะไม่ใส่รองเท้านักเรียน เพราะไม่ใช้กระเป๋านักเรียน ที่โรงเรียนตกต่ำเพราะคนที่มีความคิดที่ล้าหลังต่างหาก
แม้ว่าสุดท้าย โรงเรียนดังกล่าว ยอมงดการตรวจทรงผมและเคตนักเรียนในระดับชั้น ม.4-6 แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ย้ำเตือนอีกครั้งว่า การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในโรงเรียน ยังมีอุปสรรคอีกมาก และเป็นอุปสรรคจากระบบโรงเรียนนั่นเอง แม้ว่าผู้บริหารกระทรวง ซึ่งมาจากนักการเมือง มีความเข้าใจว่า จะต้องทำให้เกิดประชาธิปไตยในโรงเรียน และมีการแก้ไขระเบียบทรงผม และการแต่งตัว แต่การขับเคลื่อน ติดที่ผู้บริหารและครูบาอาจารย์ ที่ยังมีแนวคิดเดิมๆ พยายามบังคับให้นักเรียนอยู่ในวินัยที่ครูอาจารย์ เป็นผู้กำหนดขึ้น และลงโทษแบบประจาน เช่นการเล็มผมให้แหว่ง หากโรงเรียน ไม่ปรับวิธีคิด จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน และจะมีผลอย่างมากต่อศักยภาพของเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังของชาติในอนาคต