กสม. ประสาน อสส.สั่งไม่ฟ้องฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินกลุ่มลูกจ้างหญิง หลังออกมาประท้วงเหตุถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แนะ ก.แรงงาน เพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจง หวังคุ้มครองสิทธิตามหลักสากล
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการ กสม. แถลงกรณีที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และเครือข่ายแรงงานเพื่อประชาชน ยื่นร้องเรียนต่อ กสม.ระบุว่า
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ลูกจ้างหญิงของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์สินค้ามีชื่อเสียงยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 300 คน ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือกรณีนายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างและเงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้างจำนวน 1,388 คน
ต่อมา สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมชุมนุม จำนวน 6 คน ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ชุมนุมในสถานที่เปิดโล่ง รวมทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด จึงขอให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ร่วมชุมนุมทั้ง 6 คน
นายวสันต์กล่าวว่า กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวทำได้ด้วยวิธีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามหน้าที่และอำนาจ และแจ้งไปยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อขอให้ยุติการดำเนินคดี
นอกจากนี้ กสม.เห็นว่า การดำเนินคดีกับผู้แทนเครือข่ายสหภาพแรงงานและประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ เป็นกรณีเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า กสม.เคยมีข้อเสนอแนะเมื่อเดือนมีนาคม 2564 กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ต่อ ศบค. และมีรายงานผลการตรวจสอบเมื่อเดือนธันวาคม 2564 มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า
การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าวควรกระทำอย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น และการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี ควรหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัด หรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ
อย่างไรก็ตาม กสม.จึงมีมติให้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้พิจารณาใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องในคดีอาญากรณีผู้แทนเครือข่ายสหภาพแรงงานและประชาชนที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ข้างต้น
หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561