ชัชชาติ เผย นั่งจด จน ‘ไม่กล้าไปกินข้าว’ฟัง ส.ก.อภิปรายทุกเม็ด ไล่ตอบปม ปลูกกล้วย-ภาษี-รฟฟ.สายสีเขียว

ชัชชาติ เผย นั่งจด จน ‘ไม่กล้าไปกินข้าว’ ฟัง ส.ก.อภิปรายทุกเม็ด ไล่ตอบปม ปลูกกล้วย-ภาษี-ขยะ-รฟฟ.สายสีเขียว

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยวันนี้มีการพิจารณาญัตติ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566
นายชัชชาติกล่าวในตอนหนึ่ง หลังจบการอภิปรายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ว่า เป็นการอภิปรายที่ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเหมือนกับเรามีทีมงานอีก 50 คนที่มาช่วยดูปัญหาต่างๆ ตนนั่งตลอด ยังไม่กล้ารับประทานข้าวกลางวัน เพราะอยากจะฟังอยากจะจดปัญหาทุกอย่าง เพราะเหมือนช่วยให้เห็นปัญหาที่แท้จริง แต่เผอิญเมื่อวานมีธุระจึงพยายามไล่ดู

“ต้องขอบพระคุณคำอภิปรายของทุกท่าน ผมว่าเป็นคำอภิปรายที่มีคุณค่า ผมนั่งพิมพ์ที่ท่านพูดทุกข้อแล้วจะเอาไปสั่งการปฏิบัติ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ผมว่าเป็นบรรยากาศความร่วมมือกัน ในภาพรวม ก่อนอื่นต้องอธิบายประชาชนว่างบประมาณบางส่วนที่ดูว่าน้อย เช่น งบการศึกษา งบความปลอดภัย แต่จริงๆ แล้ว ยังมีงบอีกส่วนหนึ่งประมาณ 20,000 ล้านที่เราจะได้จากรัฐบาล เช่น เงินเดือนครู และจริงๆ แล้วงบการศึกษาอาจจะไม่น้อยอย่างที่เห็น อาจจะถึงหลักหมื่นล้าน แต่เป็นงบที่ไม่ได้อยู่ในก้อนนี้ จ่ายตรงมาจากรัฐบาล ซึ่งต้องชี้แจงอีกครั้ง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า จากที่ท่านสมาชิกอภิปรายจะพบปัญหาที่ตรงกันของ กทม. ทั้งระบบเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย

Advertisement

“ระบบเส้นเลือดใหญ่จะอยู่ที่สำนักเสียเยอะ เช่น สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจร เป็นโครงการใหญ่ซึ่งจะใช้เงินจำนวนมาก แต่เส้นเลือดฝอยจะอยู่ที่เขตเยอะ อย่างการระบายน้ำฝน ซอกซอย สาธารณสุข ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน คุณภาพต่างๆ ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเส้นเลือดใหญ่เยอะ ทำให้งบบางทีไปอยู่ที่สำนักต่างๆ เยอะ

จากที่ฟังสมาชิกอภิปราย ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่เส้นเลือดฝอย ปัญหาชีวิตชาวบ้าน ไฟไม่ติดตามทางเดิน น้ำท่วม เนื่องจากไม่ได้รับการลอกท่อ ศูนย์เด็กเล็กที่ได้ค่าอาหาร 20 บาทต่อวัน โรงเรียนที่ครูไม่เพียงพอ ผมว่าปัญหาต่างๆ อยู่ที่เส้นเลือดฝอย ที่เขต ผมคิดว่างบประมาณต้องสะท้อนปัญหาตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งฝ่ายบริหารเองมีข้อจำกัดเรื่องเวลานิดหน่อย แต่สุดท้ายคงต้องปรับตรงนี้เพื่อให้งบสามารถสะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชนในระดับเส้นเลือดฝอยได้มากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องรายได้ของ กทม. ปัญหาหลักๆ ตอนนี้ คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ปรับจากภาษีโรงเรือน ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งคิดคนละรูปแบบ คนละฐานภาษี หลายท่านกังวลเรื่องประสิทธิภาพของการจัดเก็บ ซึ่งตนก็เห็นด้วย ฐานข้อมูลการจัดเก็บยังไม่สมบูรณ์ ถ้าพัฒนาฐานข้อมูลให้ละเอียดขึ้น เชื่อว่าจะมีการเก็บภาษีที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

“ก็มีคนพูดเรื่องปลูกกล้วย ปลูกอ้อย ความจริงแล้วจะเป็นปัญหาหนึ่ง เพราะหลักเกณฑ์ที่จะคิดว่า เป็น (พื้นที่) เกษตรกรรมหรือไม่ ออกโดยกระทรวงการคลัง ความจริงแล้ว กทม.ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กระทรวงออกมา เราคงใช้ดุลพินิจไม่ได้ ต้องทำตามกฎ แต่ขณะเดียวกันเราสามารถกำหนดเพดานภาษีให้สูงกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ คือกำหนดสูงสุดไว้ ประกาศใช้อาจจะครึ่งหนึ่ง ปรับให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจไม่ให้คนทำที่ว่างไว้ อีกส่วนหนึ่งเปลี่ยนที่ว่างเป็นที่สาธารณะจะช่วยลดภาษีได้ ผมว่าเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นอีกเรื่องที่เรากังวลกัน ก็จะพยายามเก็บให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนอีกตัว คือภาษีเรื่องป้าย มีข้อกำหนดชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทย ว่า เราอาศัยฐานอำนาจที่กระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงมาให้ เราต้องเก็บตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว แต่มีเรื่องป้าย LED อยู่ ซึ่งมีรายละเอียด คงต้องเก็บให้ครบถ้วนเพื่อเพิ่มรายได้ ผมได้ออกคำสั่งบริหาร กทม.แล้วว่า ข้อมูลการเก็บรายได้ต่างๆ ให้เปิดเผยต่อสาธารณชนทราบ พอเรามีฐานข้อมูลที่เปิดเผย จะมีความโปร่งใส และทำให้ฐานการเก็บภาษีได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นคำสั่งที่ออกไปแล้วว่า หน่วยงานเก็บภาษี และหน่วยงานข้อมูลต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะช่วยทำให้เราเห็นประสิทธิภาพมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับปัญหาขยะ นายชัชชาติกล่าวว่า หลายท่านมีความกังวลเรื่องค่าเก็บขยะ โดยเก็บจากห้างน้อยกว่าประชาชน ประเด็นนี้ต้องเรียนว่า มีการเก็บตามปริมาณอยู่แล้ว เมื่อลงไปดูปัญหา ความจริงแล้วภาคเอกชนเอง บริษัท ห้างร้าน มีการบริหารจัดการที่ดี ขยะแทบไม่เหลือให้เก็บ ขายเป็นทรัพย์สินหมด เราอาจจะต้องเรียนรู้จากเอกชนให้มากขึ้นด้วยซ้ำ ว่าการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ ทำได้อย่างไร

“ปัญหาอีกเรื่อง คือเรื่องใหญ่ที่ต้องมาหารือกับสภาในอนาคต คือ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องหนี้ระหว่าง กทม.กับบริษัทเอกชน เรื่องหนี้มีตัวเลขที่ชัดเจนอยู่ แต่ปัจจุบันเป็นหนี้ระหว่างกรุงเทพธนาคมกับเอกชน แต่เราต้องดูให้ดีว่า หนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และได้ผ่านการดูจากทางสภาเรียบร้อย ครบถ้วนหรือยัง เรื่องภาระหนี้คงต้องดูให้รอบคอบว่า สุดท้ายแล้วการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ตัวเลขทั้งหลาย การดำเนินการคงชัดเจน และจะหารือกับทางสภาเพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมกันให้เกิดความโปร่งใส และมั่นใจว่ากระบวนการต่างๆ เป็นไปตามข้อบังคับที่ควรจะเป็น คือภาพรวม” นายชัชชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image