‘จิรายุ’ ชี้ ผ่านซักฟอกปี 64 มหากาฬ รฟฟ.สายสีส้ม เริ่มเห็นไอ้โม่งทีละคน หลังศาลปกครองกลาง พิพากษาล้มประมูลครั้งแรก ระบุ ตาม ม.36 คนเอี่ยว ก.คมนาคม ผิดกฎหมายชัด
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ตนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานของการรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแค่ปัญหาของผู้ว่าการ รฟม.หรือคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ไปล้มประมูล เพราะในการประชุมของคณะกรรมการฯ ที่ไปยกเลิกและเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการประมูล ทั้งๆ ที่มีผู้แทนจากสำนักงบประมาณและคนอื่นๆ ทักท้วงหลายครั้งจนถึงกระทั่งวอล์กเอาท์ออกจากที่ประชุม แต่คณะกรรมการฯ ซึ่งตนเห็นว่า อาจมีที่มาที่ไม่เป็นกลางเพราะส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนในฐานะประธาน กมธ.กิจการศาลฯ ได้ประชุมพิจารณาสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวมาตลอด และได้ชี้ข้อสังเกตที่ผิดปกติเป็นจำนวนมาก อันเป็นสำนวนพยานประกอบในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม) ทำให้เชื่อได้ว่าการประมูลครั้งแรกมีปัญหา ตนจึงขอแนะนำไปยังผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และ รฟม.ว่า อย่าดื้อ ควรจะกลับไปใช้การประมูลในครั้งแรกทันที และควรรอฟังคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตฯ ว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการตามมาตรา 36 และผู้บริหาร รฟม. จะมีความผิดอาจต้องติดคุกกี่คน แต่ตนเชื่อว่าหาก รฟม.จะอุทธรณ์ ก็จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้นไปอีก เพราะหากอุทธรณ์แล้วพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง หรือระหว่างพิจารณาก็ต้องรอคำพิพากษา การเปิดประมูลครั้งใหม่ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ก็จะไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนในฐานะประธาน กมธ.กิจการศาลฯ ได้เรียกข้อมูล เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงจากพยานแวดล้อมจำนวนมาก และจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในกรณีล้มการประมูลครั้งแรก ซึ่งระบุชัดเจนว่า ทำให้ล่าช้าไปอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งรายงานพบว่า ทำให้ประเทศสูญเสียไปกว่า 40,000 ล้านบาทแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ และหากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้อีก ก็จะยิ่งทำให้การประมูลต้องทอดยาวออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะสูญเสียนับ 100,000 ล้านบาท ที่จะทำให้ประชาชนตั้งแต่มีนบุรี คลองสามวา ไปจนถึงศูนย์วัฒนธรรม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่บางขุนนนท์ สูญเสียประโยชน์มหาศาลจากการเดินทางและเศรษฐกิจของประเทศ
“ผมจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และแก้ไขปัญหาให้รวดเร็ว เพราะผู้ประมูลรายใหม่จะต้องเดินรถตั้งแต่มีนบุรี คลองสามวา ยาวไปจนถึงบางขุนนนท์ แต่วันนี้ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ ทั้งๆ ที่ ส่วนที่ 1 จะเสร็จแล้ว ผมเกรงว่าจะกลายเป็นประติมากรรมบนถนนรามคำแหง แบบโครงการโฮปเวลล์และความเสียหายจะตกอยู่กับประชาชนคนไทยทั้งสิ้น” นายจิรายุ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สมเกียรติ ตั้งเป้า 2 ปีแรกปรับตัวลุยโมโตจีพี หวังสลัดเดี้ยงสู้ศึกโฮมเรซปีนี้
- นายกฯอันวาร์ เชิญ แพทองธาร เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด
- การไฟฟ้านครหลวง แจ้งดับไฟ 11-13 ต.ค.นี้ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เช็กเลยที่ไหนบ้าง
- บิ๊กแมว ตั้ง ‘โฆษก ทร.’ แล้ว ดัน ‘บิ๊กเบิร์ด’ พล.ร.อ.พาสุกรี วิลัยรักษ์ รับหน้าที่