‘กมธ.กัญชา’ ย้ำ ปลูกบ้านละไม่เกิน 10 ต้น โต้ ส.ว. กัญชาเสพติดยากกว่า เหล้า-บุหรี่ เตือนขาย-ให้เด็กต่ำกว่า 20 มีความผิดตาม กม.
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.มีมติว่าเรื่องใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ กำหนดให้มีอายุ 3 ปีในการต่อใบอนุญาตแต่ละครั้ง ส่วนเรื่องการจดแจ้งหลังจากมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้ปลูกได้ไม่จำกัดต่อครัวเรือน ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าต้องควบคุมจำนวนต้นในการปลูกครัวเรือน และใน 1 ครัวเรือนจะอนุญาตให้ปลูกได้ ไม่เกิน 10 ต้นต่อครัวเรือน โดยการจดแจ้งและไม่ต้องขออนุญาต การยืนยันว่าการจดแจ้งจะไม่การยืดเยื้อกลั่นแกล้ง และให้แล้วเสร็จภายในวันหนึ่งวัน ตราบใดที่มีคุณสมบัติพื้นฐานของประชาชนทั่วไปคืออายุไม่เกิน 20 ปี ส่วนการขออนุญาตทั้งหมดไม่เกิน 90 วันในทุกกรณี ดังนั้นเราแยกชัดเจนระหว่างการปลูกใช้ในครัวเรือน ห้ามจำหน่าย ไม่เกิน 10 ต้น ส่วนใครอยากทำธุรกิจให้ขออนุญาตก่อน
นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากนั้นกรณีที่ ส.ว.บางคนให้ความเห็นว่ากัญชาเสพติดเร็วกว่าเหล้า และบุหรี่ โดยเปรียบเทียบว่ากัญชาเสพติดภายใน 5 ปี ของประชากรที่ติดกัญชา ขณะที่บุหรี่ใช้เวลา 27 ปี เหล้า 13 ปี ในการเสพติด และมีคนไปแปรความว่ากัญชานั้นเสพติดเร็วกว่าเหล้าและบุหรี่หลายเท่าตัว ขอชี้แจงว่า กัญชามีโอกาสเสพติดเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้น น้อยกว่าเหล้าซึ่งมีโอกาสเสพติดร้อยละ 22.7 ความหมายที่ไปตีความว่ากัญชาเสพติดเร็วกว่าเหล้าและบุหรี่หลายเท่าเป็นการนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะถ้าครบถ้วนจะรู้ว่ามันเร็วภายใต้การติดยาก หมายความว่า 5 ปีแรกกัญชายังติดไม่เกินร้อยละ 4 ในขณะที่บุหรี่มวนแรกนับไป 5 ปีแรกมีโอกาสเสพติดประมาณร้อยละ 9 ส่วนสุรามีโอกาสเสพติดร้อยละ 8 ดังนั้น ถ้าวัดจำนวนปีเท่ากันเหล้าและบุหรี่ติดง่ายกว่ากัญชา และการสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่อย่างแน่นอน
นายปานเทพกล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีที่เกรงว่าเยาวชนจะใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้องในกรณีอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงผลข้างเคียงที่มีรายงานอยู่เป็นระยะ การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะหากมีการจำหน่ายหรือให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีความในฐานะคนที่เอากัญชาให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 2542 มาตรา 46