‘นันทนา’ เชื่อ โทนี่ต้นแบบ ‘บิ๊กตู่เปลี่ยนลุค’ คาด ‘หาเสียงล่วงหน้า’ แนะทำจริง-ไม่ต้องเปลี่ยนภาพจำ

‘นันทนา’ เชื่อ โทนี่ต้นแบบ ‘บิ๊กตู่เปลี่ยนลุค’ คาด ‘หาเสียงล่วงหน้า’ แนะทำจริง-ไม่ต้องเปลี่ยนภาพจำ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม สืบเนื่องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ปรับเปลี่ยนลุคและใช้สื่อโซเชียลสื่อสารกับประชาชน โดยชู “กลยุทธ์ 3 แกนสร้างอนาคต” ให้ประชาชนมั่งคั่ง เพื่อต้องการที่จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่งหรือไม่นั้น

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่ท่านนายกรัฐมนตรีอัดคลิปและถ่ายทอดผ่านทางโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นการปรับกระบวนการสื่อสารครั้งใหญ่ทีเดียว ทั้งรูปแบบ ลีลา ท่าทาง บุคลิก การนำเสนอ ตัวเนื้อหาสาระ การเลือกใช้สื่อ คือเรียกว่ายกเครื่องใหม่ทั้งหมด

“เรากำลังดูหนังคนละเรื่องหรือเปล่า? ดาราคนเดิมแต่เล่นกันคนละบท คือเปลี่ยนไปเยอะมาก ดูตั้งแต่ ‘การเลือกใช้สื่อ’ ที่อัดเป็นคลิปใส่โซเชียลมีเดีย แทนที่จะใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ และถ่ายทอดผ่านสื่อกระแสหลัก ก็ต้องถือว่าล้ำมาก เป็นการเลือกใช้สื่อที่ฉลาด ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึง ดูซ้ำได้ และขยายกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น จากที่ผ่านมาท่านมักจะนึกถึงสื่อกระแสหลัก บังคับทีวีทุกช่องถ่ายทอดซึ่งไม่ค่อยได้ผลนัก คนปิดทีวีได้” รศ.ดร.นันทนากล่าว

 

Advertisement

รศ.ดร.นันทนากล่าวต่อว่า มาดูเรื่องรูปแบบ ลีลา ท่าทาง บุคลิกภาพ การนำเสนอ อันนี้ก็ใหม่ จะเห็นได้ว่าท่านใช้การอ่านสคริปต์จากเครื่องอ่าน (Prompt Reader) ที่ตัวหนังสือจะวิ่งไปเรื่อยๆ ถ้าดูตาท่านนายกฯ โฟกัสจะจับอยู่ที่จุดเดียวตรงกล้อง เหมือนมองผู้ชมตลอดเวลา จากปกติจะมีสคริปต์กระดาษ แล้วท่านก็อ่านบ้าง คิดเองบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะด้นสด แต่ครั้งนี้ใช้ Prompt Reader แน่ๆ แล้วมีคนเขียนสคริปต์ให้ เพราะท่านพูดได้ต่อเนื่องเป็นระบบ ร้อยเรียงกัน และไม่เปลี่ยนไปประเด็นนู้น ประเด็นนี้

“ท่วงทำนองการอ่าน” ก็จังหวะพอดี ไม่เร็ว-ไม่ช้าเกินไป การผิดพลาดมีให้เห็นน้อยมาก ซึ่งเราไม่รู้ อาจจะเทคหลายครั้งแต่ไม่เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำ เพราะเป็นการบันทึกเทป ไม่ใช่ถ่ายทอดสด เห็นแค่รอยต่อนิดเดียวที่เอาเทปมาตัดชนกัน ทำออกมาแทบไม่ผิดเลย

Advertisement

“ถือว่าสื่อสารใช้ได้เลย ถ้าดูเรื่องบุคลิกจะนิ่ง มั่นคง ไม่วอกแวก ไม่เลิ่กลั่ก ไม่ฉุนเฉียว เสื้อผ้าหน้าผมเตรียมมาอย่างดี ดูมีมาดผู้นำ ไม่อ่อนโรย ไม่หงุดหงิด ซึ่งตรงนี้ดูแปลกตาไปมาก

ที่เด่นมากคือตัวคอนเทนต์ หรือเนื้อหาสาระ ที่นำเสนอในเชิง ‘ยุทธศาสตร์’ มากที่สุดตั้งแต่ฟังท่านมา มีการเปิดประเด็น, นำเข้าสู่ประเด็น โดยมี ‘3 แกน’ เป็นคอนเทนต์หลัก อธิบายทีละแกน ชัดเจนตรงประเด็น กระชับ และมีกรอบเวลาว่าจะทำอะไรอย่างไร ต้องยอมรับว่าคนที่เขียนสคริปต์ให้ท่านน่าจะเป็นคนละคนกับสคริปต์เดิมๆ เรียบเรียงเรื่องดี มีจุดมุ่งหมายชัด

ที่สำคัญ เล่นกับบุคลิกที่เป็นจุดอ่อน (Pain Point) ของท่าน เพราะท่านพูดเรื่องการนำเสนอไม่เก่ง พูดเรื่อง ‘พูดตลก’ นี่คือจุดที่ท่านพูดแล้วคนเอาไปตัดลงติ๊กต็อกจนกลายเป็นเรื่องตลก ท่านพูดจุดนี้เพื่อที่จะบอกว่า ‘ถึงแม้ท่านจะเป็นอย่างนี้ ท่านก็จริงใจนะ’ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งคาแร็กเตอร์เดิม คือยังมีการไปแซะรัฐบาลก่อนๆ เรื่องโครงการประชานิยม”

รศ.ดร.นันทนาชี้ว่า 17 นาทีที่นายกฯ อัดคลิปนี้ ถือว่าครบเครื่อง คือได้ทั้ง “โชว์วิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ตำหนิรัฐบาลก่อน เว้าวอนประชาชน” แล้วก็พูดถึงจุดอ่อนของตัวเองว่าเป็นคนจริงใจ ทั้งหมดเพื่ออะไร ? เพื่อที่จะขออยู่บริหารประเทศต่อไป เข้าใจว่า ท่านมีความกังวลเกี่ยวกับคะแนนนิยมของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. อย่างมาก พยายามจะเปรียบเทียบอยู่เสมอ ทีมงานก็เลยน่าจะเสนอแนวทางที่ทำให้ประชาชนสนใจในแบบที่เป็นท่าน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับชาติ ไม่ใช่ระดับท้องถิ่น

ถ้าฟังจากที่รัฐมนตรี สุชาติ ชมกลิ่น พูดถึง จะเหมือนกับผู้ว่าฯ ชัชชาติทำเรื่องเล็กๆ ท่านนายกฯ ก็ต้องไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ต้องเป็นยุทธศาสตร์ เป็นแกนใหญ่ ถามว่าสิ่งนี้คล้ายใคร ไม่คล้ายผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำให้แตกต่าง เพราะผู้ว่าฯ ชัชชาติจะทำเรื่องท้องถิ่น แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน แต่ไปคล้ายคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ทุกวันอังคารคุณทักษิณจะออกมาพูดแบบมี ‘ธีม’ เป็นเรื่องๆ ไป เช่น เรื่องปัญหาปากท้อง ราคาพลังงาน โควิด-19 แก้อย่างไร เสนอภาพใหญ่ (Big picture) เป็นเรื่องๆ ไม่สะเปะสะปะ

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส

ทั้งนี้ การพยายามแซะว่ารัฐบาลเก่าทำไม่ดี “ประชานิยม” ลด แลก แจก แถม พยายามจะโยนว่ารัฐบาลเก่าๆ ทำแบบนี้ แต่คนเขียนสคริปต์คงลืมไปว่า รัฐบาลลุงตู่แจกเยอะกว่ารัฐบาลไหนๆ ไปดูงบประมาณได้ สงสัยลืม ไปแซะรัฐบาลเก่าแล้วมาโดนตัวเองตรงนี้

“ความจริงแล้วรัฐบาลลุงเองก็แจกเยอะจนตอนนี้ถอนตัวไม่ได้แล้ว พอบอกว่าจะไม่มี ‘คนละครึ่ง’ ซีซั่นต่อไป คนก็เริ่มคิด เพราะแจกจนคุ้นเคยไปแล้ว”

“จะสังเกตว่า คลิปนี้จู่ๆ ก็ออกมาแบบไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย แต่ความจริงมี คือออกมาหลังจากวันที่สภาฯ โหวตรับ ‘สูตรหาร 500’ แปลว่าท่านมั่นใจแล้วว่า เมื่อผ่านสภาจะส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมได้ไปต่อ ซึ่งความจริงน่าสนใจว่า 3 แกนนี้มาจากไหน ? เพราะตอนท่านแถลงนโยบาย อยู่มา 8 ปี ไม่มีอะไรสักแกนเดียว ตอนนี้มา 3 แกนพร้อมกัน คนที่เป็นนายกฯ ควรจะพูดเรื่องโครงสร้าง-ยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ มาตั้งนานแล้ว พอเหลือเวลาอีกไม่นานท่านก็มาพูดในแง่ว่า เป็นโครงสร้างใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องผลักดัน จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการ ‘หาเสียงล่วงหน้า’ ค่อนข้างชัดเจน” รศ.ดร.นันทนาระบุ

รศ.ดร.นันทนากล่าวอีกว่า การที่ท่านนายกฯ ปรับลุคใหม่เป็นเรื่องที่ดี จากทุกทีท่านพูดไปก็ฉุนตัวเองไป แต่ครั้งนี้ไม่มี การสื่อสารก็เป็นประเด็น มีความเป็นผู้นำ ดูมีมาดขึ้นมาทันที แต่ก็ต้องบอกว่าท่านมีภาพจำไปแล้ว ท่านพยายามที่จะสร้างบุคลิกนี้ขึ้นมาใหม่ให้เป็นบุคลิกต้นแบบหรือ ? เพราะที่ผ่านมาท่านอ่านสคริปต์ แล้วครั้งหน้าเบื่อ ท่านก็มาพูดสดอีก แล้วก็ลืมบุคลิกที่เคยทำ กลับมาบุลคลิกเดิมอีก ซึ่งสิ่งนี้จะกลายเป็นปัญหาของท่าน

“ท่านอยู่มา 8 ปี คนมีภาพจำไปแล้ว ถ้าจะมาเปลี่ยนลุคในปีที่ 8 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อที่จะไปแข่งกับผู้ว่าท้องถิ่น หรืออะไรก็ตาม คนเขาจะรู้สึกว่าเฟค ควรเป็นแบบนี้มาสม่ำเสมอตั้งแต่ต้น การที่ท่านพยายามเปลี่ยนภาพจำ มันไม่ใช่ของจริง

แต่ถ้าเผื่อว่าท่านอยากให้ประชาชนพอใจในนาทีนี้ ที่มีปัญหารุมเร้า ก็อยากจะบอกว่าท่านไม่ต้องไปสนใจเรื่องปรับลุคแล้ว มันสายไป แต่หันมาโฟกัสเรื่องปากท้อง ปัญหาพลังงาน แล้วแก้ให้คนหลุดพ้นภาวะวิกฤตความยากจนตรงนี้จะดีที่สุด และทำให้ประชาชนพึงพอใจได้”

“อย่าไปทำอะไรอย่างนั้น เพราะท่านต้องรักษาให้สม่ำเสมอ” รศ.ดร.นันทนากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image